เช็คสุขภาพ 'การคลังไทย' ยังแข็งแรงหรือไม่? หลังรัฐกู้เพิ่ม 1.2 แสนล้านบาท

เช็คสุขภาพ 'การคลังไทย' ยังแข็งแรงหรือไม่? หลังรัฐกู้เพิ่ม 1.2 แสนล้านบาท

ส่องฐานะการคลังไทยยังแข็งแรงแค่ไหน หลังรัฐเดินหน้าทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ออกพ.ร.บ.งบกลางปีฯ 67 กู้เงินเพิ่มอีก 1.12 แสนล้านบาท รัฐบาลยกตัวเลขเงินทุนสำรองระหว่างประเทศสูงถึง 8 ล้านล้านบาท เงินเฟ้อต่ำ

KEY

POINTS

  • เช็คสุขภาพการคลังไทยหลังรัฐบาลออก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมกู้เพิ่ม 1.12 แสนล้านบาท ทำดิจิทัลวอลเล็ต 
  • รัฐบาลยกตัวเลขเงินทุนสำรองระหว่างประเทศสูงถึง 8 ล้านล้านบาท เงินเฟ้อต่ำ หนี้ต่างประเทศไม่มาก ขณะที่หนี้สาธารณะมองใกล้ก
  • กระทรวงการคลังชงรัฐบาลเพิ่มการตั้งงบประมาณใช้หนี้ เพื่อเพิ่มพื้นที่การคลังมากขึ้นรองรับวิกฤติในอนาคต 

รัฐบาลได้เสนอกฎหมายการเงินเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร 1 ฉบับ ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พ.ศ. ….หรืองบฯกลางปี 2567 โดยมีสาระสำคัญคือการจัดทำงบประมาณเพิ่มเติมวงเงิน  1.22 แสนล้านบาท เพื่อมาใช้ในโครงการเติมเงิน 1 หมื่นบาทในกระเป๋าเงินดิจิทัลวอลเล็ต โดยมีโครงสร้างงบประมาณคือ

  1. ภาษีและรายได้อื่น โดยเป็นแหล่งเงินจากการจัดเก็บรายได้ที่เดิมไม่ได้กำหนดไว้ในประมาณการ จำนวน 1 หมื่นล้านบาท
  2. เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 1.12 แสนล้านบาท  

เช็คสุขภาพ \'การคลังไทย\' ยังแข็งแรงหรือไม่? หลังรัฐกู้เพิ่ม 1.2 แสนล้านบาท

นายกฯแจงความจำเป็นทำงบฯกลางปี 67 

เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อสภาผู้แทนราษฎรในการชี้แจงการออก พ.ร.บ.งบกลางปี 2567 ว่าเป็นการดำเนินการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่ต่าง ๆ และช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพยกระดับคุณภาพชีวิตและการดำรงชีพ สร้างโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชนและภาคธุรกิจ ควบคู่กับการรักษาระดับการบริโภคและการลงทุนในประเทศ รวมถึงความสามารถในการแข่งขันของประเทศผ่านโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet

เช็คสุขภาพ \'การคลังไทย\' ยังแข็งแรงหรือไม่? หลังรัฐกู้เพิ่ม 1.2 แสนล้านบาท

โดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 ยุทธศาสตร์ชาติแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และแผนการปฏิบัติราชการของกระทรวงเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ และประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้คำถามจากสังคมที่เกิดขึ้นหลังจากที่รัฐบาลมีการออกพ.ร.บ.กู้เงินเพิ่มเติมอีก 1.12 แสนล้านบาท ฐานะการเงินการคลังของประเทศไทยเป็นอย่างไรบ้าง หลังจากที่ก่อนหน้านี้ระดับหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของไทยปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ61% มาอยู่ที่ 65% เมื่อสิ้นปีงบประมาณ

แจงการคลังไทยยังแข็งแกร่ง

นายกรัฐมนตรีระบุว่าฐานะการคลังของประเทศไทย โดยมีตัวชี้วัดดังนี้

  • หนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 30 เมษายน 2567 มีจำนวน 11,523,700.9 ล้านบาท คิดเป็น 63.78% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ ที่กำหนดไว้ต้องไม่เกิน 70% ของ GDP

 

  • ฐานะเงินคงคลัง ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2567 มีจำนวน 394,259.7 ล้านบาท โดยรัฐบาลจะบริหารเงินคงคลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และบริหารรายรับและรายจ่ายของรัฐให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด ฐานะและนโยบายการเงิน

 

  • คณะกรรมการนโยบายการเงินมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่2.5% ต่อปี ในการประชุมเมื่อเดือนมิถุนายน 2567 โดยมีเหตุผลว่าเป็นอัตราที่สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่ปรับตัวดีขึ้น รวมทั้งเอื้อต่อการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว

เช็คสุขภาพ \'การคลังไทย\' ยังแข็งแรงหรือไม่? หลังรัฐกู้เพิ่ม 1.2 แสนล้านบาท

  • ฐานะการเงินด้านต่างประเทศของไทยในปัจจุบัน มีมูลค่าเงินสำรองระหว่างประเทศ ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2567 จำนวน 221,069.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 2.5 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น ซึ่งจัดว่าอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งมาก

ส่วนปัจจัยสนับสนุนจากการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่องและการเบิกจ่ายภาครัฐที่กลับมาเร่งขึ้นในไตรมาส 2 ของปี 2567 รวมถึงแรงกระตุ้นจากนโยบายภาครัฐในช่วงครึ่งหลังของปี อย่างไรก็ตามยังต้องติดตามความท้าทายต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในภาคการส่งออกที่ยังขยายตัวในระดับต่ำ

มีปัญหาเชิงโครงสร้างที่อาจทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง และภาค SMEs จำนวนมากที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน ทั้งนี้ การดำเนินนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ต้องอาศัยการดำเนินการที่สอดประสานกันระหว่างภาคการเงินและการคลัง


แม้ว่าในภาพรวมฐานะการเงินการคลังของไทยยังแข็งแรง แต่การทำนโยบายที่เพิ่มหนี้สาธารณะมากขึ้นซึ่งหมายความว่าต้นทุนทางการเงินและภาระทางการคลังของภาครัฐจะเพิ่มขึ้นในอนาคต

โดยข้อมูลหนี้สาธารณะและระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีในแผนการคลังระยะปานกลางฉบับนี้จะเห็นได้ว่าเพิ่มขึ้นจนอยู่ในระดับที่น่ากังวลเพราะใกล้กับระดับเพดานที่กำหนดไว้ว่าต้องไม่เกิน 70% ของจีดีพี โดยระดับหนี้สาธารณะในแต่ละปี ดังนี้

  • ปี 2567 หนี้สาธารณะคงค้าง อยู่ที่ 18,513,465 ล้านบาท คิดเป็น 65.7% ต่อจีดีพี
  • ปี 2568 หนี้สาธารณะคงค้าง อยู่ที่ 19,289,179 ล้านบาท คิดเป็น 67.9% ต่อจีดีพี
  • ปี 2569 หนี้สาธารณะคงค้าง อยู่ที่ 20,178,411 ล้านบาท คิดเป็น 68.8% ต่อจีดีพี
  • ปี 2570 หนี้สาธารณะคงค้าง อยู่ที่ 21,154,239 ล้านบาท คิดเป็น 68.9% ต่อจีดีพี
  • ปี 2571  หนี้สาธารณะคงค้าง อยู่ที่ 22,175,989 ล้านบาท คิดเป็น 68.6% ต่อจีดีพี

ทั้งนี้ระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีที่เพิ่มขึ้นทุกปี ถือว่าเป็นความท้าทายสำคัญต่อกรอบความยั่งยืนทางการคลัง เนื่องจากระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีใกล้กับระดับ 70% อย่างมาก ต่างจากก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 ที่ประเทศไทยในขณะนั้นมีหนี้สาธารณะต่ำมากแค่เพียง 40% ต่อจีดีพีเท่านั้น

หน่วยงานเศรษฐกิจแนะรัฐบาลตั้งงบฯจ่ายหนี้เพิ่ม

ก่อนหน้านี้หน่วยงานเศรษฐกิจอย่างกระทรวงการคลังได้ให้คำแนะนำกับรัฐบาลว่ารัฐบาลควรจัดสรรงบชำระต้นเงินกู้เฉพาะของหนี้ รัฐบาลไม่ต่ำกว่า 3% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี มิเช่นนั้นความสามารถในการชำระหนี้ในระยะปานกลางอาจปรับลดลง

ซึ่งอาจกระทบกับอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศได้ นอกจากนี้ เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ จะต้องจัดสรรงบประมาณรายจ่ายเพื่อการชำระดอกเบี้ยอย่างพอเพียงเนื่องจากภาระดอกเบี้ยเป็นภาระต่องบประมาณที่จะต้องจ่ายทั้งจำนวนโดยไม่สามารถปรับโครงสร้างหนี้ได้ จึงควรจัดสรร งบประมาณสำหรับงบชำระดอกเบี้ยให้มีความยืดหยุ่นรองรับความผันผวนสูงของอัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงิน ซึ่งกระทบกับภาระดอกเบี้ยจ่ายโดยตรงในอนาคต เพื่อให้ประเทศยังคงมีเสถียรภาพทางการคลังอย่างยั่งยืน

รวมทั้งต้องลดการขาดดุลงบประมาณต่อจีดีพีให้ต่ำกว่า 3% เนื่องจากในแผนการคลังระยะปานกลาง (2568 - 2571) การขาดดุลงบประมาณยังสูงกว่า 3% ทุกปีงบประมาณ

จะเห็นได้ว่าแม้ว่าในปัจจุบันสุขภาพการเงินการคลังของไทยยังแข็งแกร่งแต่ว่าก็ต้องพยายามลดระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีของประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและมีพื้นที่ทางการคลัง (fiscal space) เพียงพอเพื่อรองรับวิกฤติและความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต