‘คลัง’ นัดคุย ‘แบงก์ชาติ’ แก้เศรษฐกิจต้องลด ‘ทิฐิ’ ลงก่อน
น่าจับตาเป็นอย่างยิ่งสำหรับการ “พูดคุยกัน” ระหว่าง “พิชัย ชุณหวชิร” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กับ “เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ “แบงก์ชาติ”
ซึ่งมีโอกาสพบปะกันในวันนี้ (3ต.ค.) เพราะ “พิชัย” จะไปกล่าวเปิดงานโครงการ Your Data ของแบงก์ชาติ หลายคนเชื่อกันว่าทั้งคู่น่าจะหาโอกาสพูดคุยกันในประเด็นการดำเนินงานที่มีความเห็นแตกต่างกันอยู่ ซึ่งประเด็นหารือหลักก็น่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่หลายประเทศเริ่มเห็นการปรับลดลง เรื่องค่าเงินบาทที่แข็งค่ารวดเร็วรุนแรง เรื่องเงินเฟ้อที่ค่อนข้างต่ำจนเสี่ยงจะเกิดเป็นเงินฝืด ทั้งหมดนี้บอกได้คำเดียวว่าเกี่ยวข้องกับพวกเราทุกคน
ถ้าทั้ง 2 หน่วยงานได้มีโอกาสพูดคุยกันในวันนี้ เราก็คาดหวังว่าแต่ละหน่วยงานจะให้เกียรติซึ่งกันและกัน พูดคุยในหลักการและเหตุผล ปราศจากอคติใดๆ ยึดผลประโยชน์ประเทศและปากท้องของประชาชนเป็นที่ตั้ง โดยกระทรวงการคลังต้องเข้าใจการทำหน้าที่ของแบงก์ชาติ ซึ่งมีพันธกิจหลักคือการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงินในระยะยาว ด้วยเหตุนี้แบงก์ชาติจึงจำเป็นต้องมีความเป็นอิสระในการทำนโยบาย ขณะที่แบงก์ชาติเองก็ไม่ควรมองแต่ภาพระยะยาวอย่างเดียว ต้องโฟกัสปัญหาระยะสั้นที่กระทรวงการคลังเป็นห่วงด้วย ที่สำคัญต้องไม่ลืมว่ากฎหมาย พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย เขียนไว้ชัดเจนว่า การทำงานของแบงก์ชาติต้องคำนึงถึงการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลด้วย
ปัญหาสำคัญที่ทำให้ทั้ง “แบงก์ชาติ” และ “กระทรวงการคลัง” ดูจะมีความขัดแย้งกัน คือ มุมมองต่อภาพเศรษฐกิจ เพราะกระทรวงการคลังเห็นชัดเจนว่าเศรษฐกิจไทยกำลังย่ำแย่ จำเป็นต้องมีมาตรการช่วยเหลือ ในขณะที่เครื่องมือการคลังก็มีข้อจำกัดจากปัญหาหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นจนใกล้ชนเพดาน จึงมองว่า “แบงก์ชาติ” ควรใช้นโยบายการเงินที่พอจะมีรูมเหลืออยู่บ้างเข้ามาดูแลเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเวลานี้สภาพคล่องในระบบการเงินดูแห้งเหือด
ส่วนฝั่งของ “แบงก์ชาติ” เองมองว่า เศรษฐกิจไทยแม้จะฟื้นตัวช้าแต่ก็กำลังเข้าสู่ระดับศักยภาพ เงินเฟ้อก็กำลังกลับสู่กรอบเป้าหมาย ที่สำคัญปัญหาใหญ่ของประเทศในเวลานี้ คือ หนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับสูงจนเสี่ยงเผชิญวิกฤติ มุมมองของคนแบงก์ชาติกังวลว่า สถานการณ์แบบนี้ถ้าไปลดดอกเบี้ยลง จะยิ่งทำให้คนก่อหนี้เพิ่มขึ้น ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่บวมอยู่แล้วอาจระเบิดได้ในท้ายที่สุด
เราเชื่อว่าหากทั้ง 2 หน่วยงานได้พูดคุยกัน รับฟังข้อกังวลของแต่ละฝ่ายและปรับจูนการทำงานเข้าหากันมากขึ้นก็จะเห็นทางออกการแก้ไขปัญหาของประเทศในเวลานี้ ที่สำคัญทั้ง 2 ฝ่ายต้องลด “ทิฐิ” ของตัวเองลง มองผลประโยชน์ของประเทศและปัญหาปากท้องของชาวบ้านเป็นที่ตั้ง เรามั่นใจว่าทุกฝ่ายหวังดีกับประเทศ แต่การทำงานที่ไม่สอดประสานกัน จะยิ่งทำร้ายเศรษฐกิจไทยและเราคงไม่อาจหลุดพ้นตำแหน่ง “บ๊วย” ของอาเซียนไปได้ หวังว่าการหารือร่วมกันของทั้ง “กระทรวงการคลัง” และ “แบงก์ชาติ” ในครั้งนี้จะมีทางออกที่ดีร่วมกัน!