ภารกิจเทอม 2 'ดนุชา พิชยนันท์' เคลื่อนสภาพัฒน์ ทำแผนฯ 14 เดินหน้าไทยสู่ ‘OECD’

ภารกิจเทอม 2 'ดนุชา พิชยนันท์' เคลื่อนสภาพัฒน์ ทำแผนฯ 14 เดินหน้าไทยสู่ ‘OECD’

เปิดภารกิจดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์หลัง ครม.ไฟเขียวต่ออายุในตำแหน่งเดิม 1 ปี ภารกิจประสานงาน OECD หลังไทยสมัครเป็นสมาชิกต้องมีเวทีที่เข้าร่วมจำนวนมากถึง 26 การประชุม เริ่มทำแผนพัฒนาฉบับที่ 14 และขับเคลื่อนแผนฯ 13 ให้ไปสู่เป้าหมายที่วางไว้

KEY

POINTS

  • เปิดภารกิจดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์หลัง ครม.ไฟเขียวต่ออายุการทำงานในตำแหน่งเดิม 1 ปี
  • เดินหน้าภารกิจระหว่างประเทศในการประสานงาน OECD หลังไทยสมัครเป็นสมาชิกที่ต้องมีเวทีที่ไทยเข้าร่วมจำนวนมาก
  • เริ่มขั้นตอนการทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 14 โดยจะกำหนดกรอบให้เสร็จในปีนี้ก่อนเริ่มรับฟังความคิดเห็นในปีหน้า

ช่วงปลายปีงบประมาณ 2567 ในเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา มีการแต่ตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูงหลายตำแหน่ง ขณะเดียวกันก็มีการต่ออายุให้ข้าราชการระดับสูงทำหน้าที่ในตำแหน่งเดิมเพื่อสานต่อภารกิจที่สำคัญของหน่วยงาน ซึ่งบางภารกิจและแผนงานที่ต้องเดินหน้ามีความสำคัญอย่างมากในการกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศในระยะยาว

ตำแหน่งหนึ่งที่มีความสำคัญซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติต่อเวลาการดำรงตำแหน่งออกไป 1 ปีคือตำแหน่งเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ “สภาพัฒน์” ครม.เมื่อวันที่ 24 ก.ย.มีมติเห็นชอบให้ "ดนุชา พิชยนันท์" ดำรงตำแหน่งเดิมต่อไปจนถึงวันที่ 30 ก.ย.2568 ตามที่สำนักนายกรัฐมนตรีเสนอ

หลังจากที่นายดนุชาดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาพัฒน์ครบ 4 ปีเต็มเมื่อวันที่ 30 ก.ย.2567

การต่ออายุให้ดนุชาดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาพัฒน์ถือเป็นการทำหน้าที่ในเทอมที่ 2 ของเลขาธิการสภาพัฒน์คนปัจจุบัน โดยตามข้อกำหนด ครม.สามารถต่ออายุได้ครั้งละ 1 ปี ไม่เกิน 2 ครั้ง

โดยภารกิจของดนุชาในช่วง 1 ปีต่อจากนี้มีหลายเรื่องที่สำคัญที่ต้องขับเคลื่อนต่อเนื่อง ได้แก่ 

ภารกิจแรก คือ การผลักดันให้ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือการเข้าเป็นสมาชิกของ “OECD” โดยเรื่องนี้ ครม.ได้มอบหมายให้สภาพัฒน์เป็นหน่วยงานหลักในการทำงานร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ โดยขั้นตอนการเข้าเป็นสมาชิกของ OECD นั้นได้เริ่มอย่างเป็นทางการเมื่อไทยได้ยื่นยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงเข้าเป็นสมาชิกต่อ OECD เมื่อวันที่ 12 ก.พ.2567 และเมื่อวันที่ 17 มิ.ย.2567 ที่ผ่านมาคณะมนตรีของ OECD  ซึ่งประกอบด้วยเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรประเทศสมาชิก OECD ได้มีมติเห็นชอบให้เชิญประเทศไทยเข้าสู่กระบวนการการหารือเพื่อเข้าเป็นสมาชิก OECD (accession discussions) เป็นที่เรียบร้อย

ดนุชาเล่าให้ฟังว่าขั้นตอนต่อจากนี้ไทยและ OECD จะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด OECD จัดทำแผนการเข้าเป็นสมาชิก (Accession Roadmap) ที่จะกำหนดเป้าหมาย เงื่อนไข และกรอบเวลาในการดำเนินการให้สอดคล้องกับตราสารของ OECD ซึ่งมีคณะกรรมการและการประชุมของ OECD  ที่ไทยจะต้องเข้าร่วมถึงกว่า 26 ชุด และเมื่อไทยดำเนินการตามแผนครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว คณะมนตรี OECD ก็จะพิจารณาเชิญไทยเข้าเป็นสมาชิก OECD ต่อไป

ทั้งนี้การเข้าเป็นสมาชิกของ OECD จะทำให้สถานะของประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศได้รับการยอมรับมากขึ้นในเรื่องของมาตรฐาน กฎระเบียบที่เป็นสากลซึ่งจะเอื้อให้เกิดการลงทุนจากบริษัทชั้นนำจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น

ภารกิจที่ 2 เป็นเรื่องการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 14 ที่จะเริ่มใช้ในปี 2571 ซึ่งแม้ว่าจะเหลือเวลาอีกหลายปีกว่าที่แผนพัฒนาฯฉบับที่ 14 จะมีผลบังคับใช้ แต่เนื่องจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติถือว่าเป็น “แผนระดับชาติ” ที่ครอบคลุมหลายด้านและมีความเกี่ยวข้องกับหน่วยงานหลายภาคส่วน ขั้นตอนการจัดทำแผนตั้งแต่การยกร่างแผน การรับฟังความคิดเห็นจะต้องใช้ระยะเวลาค่อนข้างมาก สภาพัฒน์ในฐานะหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบการทำแผนพัฒนาฯฉบับนี้จะต้องเริ่มขั้นตอนการดำเนินงานภายในช่วงที่เหลือของปีนี้

เพื่อที่ให้ในช่วงต้นปีข้างหน้าจะได้กรอบแนวความคิดเบื้องต้นเพื่อที่จะนำกรอบแนวความคิดของร่างแผนฯไประดมความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆแล้วนำกลับมาปรับปรุงและพัฒนาต่อไปเพื่อให้เป็นแผนพัฒนาฯที่มีความสมบูรณ์และครอบคลุมรอบด้านมากที่สุด

และภารกิจที่ 3 คือการขับเคลื่อนแผนพัฒนาฯฉบับที่ 13 (2566 - 2570) ซึ่งกำลังจะเข้าสู่ช่วงกลางของแผนพัฒนาฯฉบับนี้ ซึ่งมีอีกหลายประเด็นที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้แต่ยังมีความท้าทายที่จะไปถึงเป้าหมายได้ ทั้งนี้ในแผนพัฒนาฯฉบับที่ 13 ได้กำหนดเป้าหมายหลักของแผนฯ 5 ประการ ได้แก่

1.การปรับโครงสร้างการผลิตสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม

2.การพัฒนาคนสู่โลกยุคใหม่

3.การมุ่งสู่สังคมแห่งโอกาสและความเป็นธรรม

4.การเปลี่ยนผ่านการผลิตและการบริโภคไปสู่ความยั่งยืน

และ 5.การเสริมสร้างความสามารถของไทยในการรับมือกับความเสี่ยงและการเปลี่ยนแปลงภายใต้โรคอุบัติใหม่             

รวมทั้งเป้าหมายในการเพิ่มรายได้ต่อหัวเฉลี่ยของประชากรไทยให้อยู่ที่ประมาณ 3 แสนบาทต่อคนต่อปี  ซึ่งเป้าหมายในการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ สภาพัฒน์จะหน้าที่ในการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ นำเสนอการขับเคลื่อนนโยบายต่อรัฐบาลเพื่อให้ประเทศไทยสามารถขยับเข้าใกล้เป้าหมายได้วางไว้ได้มากขึ้น