‘เผ่าภูมิ’ โชว์ ‘ฟิทช์ เรทติ้งส์’ เศรษฐกิจไทยโตเกินเป้า เร่งลดขาดดุลการคลัง

‘เผ่าภูมิ’ โชว์ ‘ฟิทช์ เรทติ้งส์’ เศรษฐกิจไทยโตเกินเป้า เร่งลดขาดดุลการคลัง

“เผ่าภูมิ” ชูจุดแข็งไทย บนเวที Fitch ชี้ GDP ปีนี้โตเกินเป้า 2.7% รวมผลมาตรการเงิน 10,000 กระตุ้นเศรษฐกิจ ระบุหนี้สาธารณะไทยไม่สูง อยู่ในระดับกลาง-ต่ำ ตลาดทุนแข็งแกร่ง เร่งหาจุดสมดุลการเงินการคลัง

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษในงาน “Fitch on Thailand 2024: Global Risks and Regional Economic, Investment & Bank Outlook” วันที่ 3 ต.ค.2567 ว่า เป็นโอกาสที่ดีในการแสดงให้ฟิทช์ เรทติ้งส์ สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ได้เห็นว่าประเทศไทยมีความพร้อมในหลายๆ เรื่อง และมีความเข้มแข็งทางด้านการเงินและการคลัง 

ทั้งนี้ ได้นำเสนอจุดแข็งของประเทศไทยซึ่งจะเป็นปัจจัยหลักในการพิจารณาจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ ประกอบด้วย ความสามารถในการเติบโตของเศรษฐกิจ (GDP Growth) ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในช่วงที่มีแนวโน้มการเติบโตที่ดีขึ้น และน่าจะเห็นตัวเลขการขยายตัวของ GDP ที่ดีขึ้นในไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปีนี้ และยังมีโมเมนตัมที่ต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า 

”ช่วงที่ผ่านมารัฐบาลพยายามอย่างเต็มที่ในการเร่งจัดทำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แม้จะมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณปี 2567 ที่มีผลบังคับใช้ล่าช้า โดยการเร่งทำนโยบายต่างๆ เท่าที่จะทำได้เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งได้ผลิดอกออกผลแล้วในช่วงครึ่งหลังของปี“

โดยปีนี้มีแนวโน้มที่เศรษฐกิจจะโตสูงกว่าเป้าหมายที่คาดไว้เดิมที่ 2.7% เป็นผลจากการดำเนินมาตรการทางคลังและการเงินอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง รวมถึงผลจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งจะมีแรงส่งทางเศรษฐกิจต่อเนื่องไปถึงไตรมาส 2 ของปี 2568 และรัฐบาลได้เตรียมเครื่องมือทางการคลังและการเงินเข้ารักษาแรงส่งทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในปี 2568 

นอกจากนี้ ประเด็นเรื่องหนี้สาธารณะของประเทศที่ปัจจุบันมีสัดส่วน 64% ต่อ GDP อยู่ในเกณฑ์ที่รัฐบาลสามารถบริหารจัดการได้ ทั้งนี้เมื่อมองตามนิยามหนี้สาธารณะของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ซึ่งเป็นเกณฑ์มาตรฐานสากล หนี้สาธารณะไทยจะอยู่ที่ 58.28% เท่านั้น ถือว่าอยู่ในระดับที่กลาง-ต่ำเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนคู่ค้า และรัฐบาลมีแผนที่จะรักษาดุลการคลังจะเข้าสู่ 3% ในช่วงปี 2570  

ขณะเดียวกันเรื่องความสามารถในการระดมทุนของประเทศไทย มีตลาดทุนที่มีความแข็งแกร่ง มีเสถียรภาพและสภาพคล่องสูง และเป็นตลาดที่ได้รับการยอมรับและเป็นชั้นนำของภูมิภาค รวมถึงตลาดพันธบัตรไทยที่มีศักยภาพในการระดมทุนที่ล้นเหลือ

“ศักยภาพและการเติบโตของตลาดทุนอยู่ในเกณฑ์สูง กระโดดขึ้นจาก 12% ของ GDP ในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง สู่ระดับ 94% ของ GDP นอกจากนี้ไทยยังมีความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน สภาพคล่องสูง ฐานนักลงทุน เป็นปัจจัยพื้นฐานที่ดีต่อการเติบโตของภาคเอกชนไทย” 

นอกจากนี้ ในด้านการบริโภคของประเทศมีสัญญาณบวกต่อเนื่อง สะท้อนจากตัวเลขภาษีมูลค่าเพิ่มที่แท้จริง (Real VAT) เติบโตอย่างต่อเนื่อง 7 เดือนแรกโตถึง 7.4% โดยรัฐบาลอยู่ระหว่างการรักษาแรงส่งทางเศรษฐกิจ ส่งผ่านการบริโภคไปสู่การลงทุนของภาคเอกชนในระยะต่อไป 

นายเผ่าภูมิ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ทำงานร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด เพื่อหาจุดสมดุลระหว่างการรักษาเสถียรภาพและศักยภาพของระบบเศรษฐกิจ โดยเร่งรักษาเสถียรภาพของค่าเงินที่ต้องไม่ผันผวนเกินไป ระดับของค่าเงินที่สอดคล้องกับประเทศคู่ค้า ระดับเงินเฟ้อที่อยู่ในกรอบเป้าหมาย ช่วงว่างเงินฝาก-เงินกู้ที่เอื้อต่อภาคเอกชน ปริมาณและความเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อที่ส่งเสริมการเจริญเติบโตของประเทศ