รายได้ภาษีลด – หนี้สาธารณะพุ่ง ! ‘TDRI’ ห่วงการคลังไทยไม่พร้อมรับมือวิกฤติ

รายได้ภาษีลด – หนี้สาธารณะพุ่ง !  ‘TDRI’ ห่วงการคลังไทยไม่พร้อมรับมือวิกฤติ

ทีดีอาร์ไอชี้ การคลังไทยระยะยาวเผชิญความเสี่ยง หลังสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีพุ่งต่อเนื่อง สัดส่วนการขาดดุลต่อจีดีพีขึ้นมาสูงกว่า 3% สูงกว่าตัวเลขในอดีต ชี้กระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น มีนัยต่อการเมืองพรรคการเมืองอาจใช้นโยบายนี้จนทำให้การคลังไทยอ่อนแอมากขึ้น

KEY

POINTS

  • ทีดีอาร์ไอชี้การคลังไทยระยะยาวเผชิญความเสี่ยง หลังสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีพุ่งต่อเนื่อง สัดส่วนการขาดดุลต่อจีดีพีขึ้นมาสูงกว่า 3%  
  • ห่วงกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น มีนัยต่อการเมืองพรรคการเมืองอาจใช้นโยบายนี้ต่อเนื่องจนทำให้การคลังไทยอ่อนแอมากขึ้นและหนี้สาธารณะในอนาคตอาจสูงเกิน 70%
  • ชี้หนี้สาธารณะที่สูงทำให้พื้นที่ทางการคลังไทยเหลือน้อยลง หากเกิดวิกฤติขนาดใหญ่จะมีความเสี่ยงวิกฤติการคลังมากขึ้น 

ประเทศไทยใช้งบประมาณแบบขาดดุลงบประมาณมาเป็นระยะเวลากว่า 20 ปี จนหลายคนอาจมองเป็นเรื่องปกติแต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือการขาดดุลงบประมาณของไทยเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ข้อเท็จจริงก็คือในอดีตประเทศไทยเราขาดดุลงบประมาณอยู่ในระดับไม่เกิน 1% ต่อจีดีพี แต่ในปัจจุบันเราขาดดุลงบประมาณเกิน 3% ขณะที่ในแผนการคลังระยะปานกลาง (2567 -2571) สัดส่วนการขาดดุลงบประมาณของไทยอยู่ที่สัดส่วน 3 – 4.4% ต่อจีดีพี ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่สูงจนกระทรวงการคลัง และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ก็ได้มีข้อเสนอแนะถึงรัฐบาลว่าควรลดสัดส่วนการขาดดุลงบประมาณลงให้ไม่เกิน 3% เพื่อรักษาเสถียรภาพการคลังในระยะยาว

ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึงสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในหัวข้อ “สัญญาณเตือนวิกฤติการคลังของไทย ถึงเวลาปฏิรูปได้หรือยัง” จัดโดยศูนย์การศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ NIDA เกี่ยวกับปัญหาการขาดดุลงบประมาณและหนี้สาธารณะของไทยที่สูงขึ้นมากว่าการขาดดุลงบประมาณที่สูงขึ้น และนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นส่งผลให้หนี้สาธารณะต่อจีดีพีของไทยเพิ่มขึ้น  

ทั้งนี้การขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นก็มาจากรายจ่ายของภาครัฐที่เพิ่มขึ้น ขณะที่การจัดเก็บรายได้ของภาครัฐจากภาษีลดลงเมื่อเทียบกับสัดส่วนจีดีพี โดยในช่วง 10 – 20 ปีที่ผ่านมาการจัดเก็บรายได้ของรัฐในส่วนนี้ลดลง โดยการลดลงไม่ใช่ลดลงในเรื่องของเม็ดเงินแต่เมื่อลดลงเมื่อเทียบกับสัดส่วนของจีดีพี จากเดิมเราเคยเก็บได้ 17-18% ของจีดีพี มาอยู่ที่ 13 – 14% ของจีดีพี

ซึ่งเมื่อรายรับของรัฐบาลลดลงมากก็ทำให้รายจ่ายของภาครัฐควรจะลดลงไปด้วยโดยสัดส่วน แต่ภาครัฐที่ผ่านมามีการใช้จ่ายที่มากขึ้นทำให้การขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีมากขึ้นด้วยซึ่งเห็นได้ชัดในช่วง 10 ปีผ่านมา

“ในอนาคตมองว่าการคลังของภาครัฐนจะมีปัญหามากขึ้น ปัจจุบันหนี้สาธารณะของรัฐบาลอยู่ที่ 64% ต่อจีดีพี และจะขึ้นไปในระดับ 70% แม้ว่าจะมีคนบอกว่า 70% ไม่น่ากลัว เพราะหลายประเทศหนี้สาธารณะต่อจีดีพีขึ้นไปที่ 100 – 200% ต่อจีดีพี ซึ่งสิ่งที่ต้องดูคือการเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น หากระดับการเพิ่มขึ้นปีละ 3- 4% แบบนี้มองว่าน่ากลัว แล้วคำถามก็คือว่าทำไมหนี้สาธารณะถึงขึ้นได้เร็วขนาดนั้น คำตอบก็คือเราไม่ได้มีการปฏิรูปภาษีเมื่อรัฐมีรายจ่ายมากขึ้นแต่รายรับลดลงก็ทำให้ภาครัฐต้องขาดดุลมากขึ้น หนี้สาธารณะจึงเพิ่มขึ้นทุกปี”  

ดร.สมชัยระบุด้วยว่าที่สำคัญก็คือลักษณะของรายจ่ายภาครัฐในช่วงหลังเป็นการใช้จ่ายเพื่อผลประโยชน์ในระยะสั้น ยกตัวอย่างเช่น เรื่องของการแจกเงินและดิจิทัลวอลเล็ตต้องเอาการแจกเงินแบบนี้มาใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่

ทั้งที่การแก้ปัญหาเศรษฐกิจของไทยในช่วงนี้ไม่ใช่แก้ได้ด้วยการแจกเงินแบบนี้ซึ่งน่าเป็นห่วงว่าเป็นการโยงในมิติทางการเมืองเพราะพรรคการเมืองจะมองว่านโยบายแบบนี้จะทำให้ชนะการเลือกตั้งได้ในอนาคต ซึ่งคาดเดาได้ว่าพรรคต่างๆก็จะทำแบบนี้ และหากแนวทางยังเป็นแบบนี้พรรคการเมืองจะเข้ามาแจกเงินไปเรื่อยๆ หนี้สาธารณะของไทยจะไม่ได้อยู่ที่ 70% ต่อจีดีพีจะสูงขึ้นไปกว่านั้น

สิ่งที่เห็นก็คือการทำนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นมีการไปปรับเปลี่ยนนโยบายการคลังในระยปานกลางเนื่องจากมีการขยายวงเงินงบประมาณออกไปจนเกือบจะชนเพดานตามกฎหมาย ซึ่งมีช่องว่างทางงบประมาณเกือบจะชนเพดานที่กำหนดไว้ คำถามก็คือหากพื้นที่ทางการคลังเหลือน้อยแล้วเกิดวิกฤติที่หนักๆขึ้นเช่น หากเกิดน้ำท่วมใหญ่มากกว่าที่เป็นอยู่และต้องใช้เงินในการเยียวยามากขึ้น ก็คือต้องมีการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ในการกู้เงินเพิ่มเติมเหมือนที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ เคยทำตอนเจอกับโควิด-19 ทำให้หนี้สาธารณะพุ่งสูงมากขึ้นไปด้วย

“การขาดดุลงบประมาณที่เพิ่มขึ้นไปเยอะๆนั้นก็จะทำให้ความสามารถทางการคลังในการรับมือกับเหตุฉุกเฉินในอนาคตนั้นก็จะมีปัญหาตามไปด้วยในระยะยาว เนื่องจากเราต้องใช้งบประมาณมากขึ้นในการฟื้นฟูและเยียวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อนาคตหนี้มีโอกาสสูงกว่า 70% ของจีดีพีได้” ดร.สมชัย กล่าว