กรมชลประทาน ชี้น้ำเหนือไหลบ่า เจ้าพระยายังรับได้ กทม.ยังไม่ท่วม
กรมชลประทาน เฝ้าระวังพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ พระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี ชัยนาท ระวังระดับน้ำเพิ่มสูงหลังน้ำเหนือไหลบ่าสมทบสะแกกรัง ทำเขื่อนเจ้าพระยาต้องระบายน้ำเพิ่ม 2400 ลบ.ม./วินาที ยืนยัน กทม. ยังไม่ท่วม
ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน เปิดเผยว่า ฝนที่ตกหนักในพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำน่าน ส่งผลให้มีน้ำบ่าไหลหลากลงสู่พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างเพิ่มมากขึ้น กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำทางตอนบนด้วยการเก็บกักน้ำไว้ในอ่างเก็บน้ำให้ได้มากที่สุด ส่วนในพื้นที่ตอนกลางได้มีการหน่วงน้ำไว้ในพื้นที่ลุ่มต่ำและแก้มลิงธรรมชาติต่างๆ
โดยปริมาณที่เหลือจะไหลลงสู่ลุ่มเจ้าพระยา ทำให้ปัจจุบัน (6 ต.ค. 67) เมื่อเวลา 06.00 น. ที่สถานี C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตรา 2,383 ลบ.ม./วินาที แนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ก่อนจะไหลงไปสมทบกับน้ำจากแม่น้ำสะแกกรัง และไหลลงสู่บริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ส่งผลให้ระดับน้ำยกตัวสูงขึ้นตามลำดับ
กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำเข้าระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งของ แม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ในอัตรา ไม่เกิน 2,400 ลบ.ม./วินาที ทำให้บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ มีระดับเพิ่มสูงขึ้น ดังนี้
- จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
- คลองบางบาล
- แม่น้ำน้อย
- ตำบลหัวเวียง
- อำเภอเสนา
- ตำบลลาดชิด
- ตำบลท่าดินแดง
- อำเภอผักไห่
- จังหวัดสิงห์บุรี
- คลองโผงเผง
- วัดไชโย
- อำเภอไชโย
- อำเภอป่าโมก
- จังหวัดอ่างทอง
- วัดสิงห์
- วัดเสือข้าม
- อำเภออินทร์บุรี
- อำเภอเมือง
- อำเภอพรหมบุรี
- จังหวัดชัยนาท
- ตำบลโพนางดำ
- อำเภอสรรพยา
จึงขอให้ประชาชนเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำในระยะนี้อย่างใกล้ชิด
ในส่วนของพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างที่สถานีวัดน้ำ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา มีปริมาณน้ำไหลผ่านเฉลี่ยอยู่ที่ 1,865 ลบ.ม/วินาที
ซึ่งปริมาณน้ำดังกล่าว ยังไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลโดยภาพรวม แต่อาจจะมีผลกระทบกับประชาชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำ หรือในพื้นที่ที่มีระดับตลิ่งต่ำ ในช่วงที่มีน้ำทะเลหนุนสูง
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑลที่อยู่ในแนวคันกั้นน้ำ กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันติดตามสถานการณ์ฝนจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด พร้อมวางแผนรับมือสถานการณ์น้ำไว้ก่อนหน้านี้ ด้วยการพร่องน้ำในคลองสาขาต่างๆ ตลอดจนบูรณาการร่วมกับกรุงเทพมหานคร ในการบริหารจัดการน้ำในจุดที่เชื่อมต่อกัน ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ฝนและปริมาณน้ำในพื้นที่ เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนและพื้นที่เศรษฐกิจให้ได้มากที่สุด
ทั้งนี้ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่กำลังประสบกับปัญหาอุทกภัย ได้สั่งการให้กรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้บริหารจัดการน้ำเพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนให้มากที่สุด พร้อมเร่งเข้าไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชนหลังน้ำลด เพื่อให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะในเร็ววัน หากประชาชนหรือหน่วยงานต้องการความช่วยเหลือ สามารถติดตามสอบถามได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร.สายด่วนกรมชลประทาน 1460 ชลประทาน บริการประชาชน