ส.อ.ท.ชี้ภูมิรัฐศาสตร์ เปลี่ยนระบบการค้าโลกใหม่ แนะรัฐเร่งมาตรการป้องกัน
“ส.อ.ท.” ชี้ความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์เป็นทั้งวิกฤติและโอกาส ระบุเอสเอ็มอีไทยต้องการกลไกช่วยปรับตัว เพื่อเปลี่ยนผ่าน แนะรัฐเตรียมมาตรการป้องกัน ลดผลกระทบเชิงลบ
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวในหัวข้อเสวนา “Geopoitics in the Modern World: Powers, Resources and Global Trade Wars ในงาน “ASEAN ECONOMIC OUTLOOK 2025” จัดโดย “กรุงเทพธุรกิจ” วันนี้ (7 ต.ค.67) ว่า ความขัดแย้งระหว่างภูมิรัฐศาสตร์มีทั้งผลบวกและลบต่อไทยในเวลาเดียวกัน เริ่มแรกเมื่อเกิดสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน ทำให้ไทยที่กำลังปรับตัวสู่โลกาภิวัตน์ (Globalization) กลายเป็นต้องเข้าใจเรื่องโลกแบ่งขั้ว (Decoupling) แทน ขณะที่สิ่งที่ตามมาคือซัพพลายเชนที่ได้รับผลกระทบว่าจะต้องเลือกผลิตด้วยเทคโนโลยีของฝั่งใคร ซึ่งไทยจะยืนอยู่ตรงไหน เป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังมากที่สุด
การตั้งกำแพงกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน ทำให้สินค้าวัตถุดิบส่วนใหญ่ที่ไทยส่งออกไปจีนเพื่อผลิตและส่งออกไปสหรัฐได้รับผลกระทบ ในทางกลับกันสินค้าแบรนด์ไทย อาทิ เครื่องปรับอากาศที่ส่งออกไปสหรัฐกลับขยายตัวเพิ่มขึ้น
“ในทุกวิกฤติก็ยังมีโอกาส สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการปรับตัวของผู้ประกอบการ ที่จะต้องมีกลยุทธ์ในการหาตลาดใหม่ๆ ซึ่งหากปรับไม่ทันอุตสาหกรรมนั้นก็จะอ่อนแอลง”
ในช่วงที่ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ปะทุขึ้นนำไปสู่ปัญหาราคาพลังงาน รวมไปถึงต้นทุนการขนส่งที่เพิ่มขึ้น ส่งผลทำให้สินค้าต่างๆ มีราคาเพิ่มขึ้น จากนั้นสงครามระหว่างอิสราเอล-ฮามามที่ยังต้องจับตาว่าจะขยายวงกว้างขึ้นหรือไม่
นายเกรียงไกร กล่าวต่อว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งระหว่างภูมิรัฐศาสตร์ ได้เปลี่ยนระบบการค้าโลกใหม่หมด โดยสหรัฐและยุโรปเริ่มมีการตั้งกำแพงภาษีสินค้าจีน ซึ่งทำให้จีนที่เป็นฐานการผลิตของโลก ส่งออกสินค้าไปยังประเทศเหล่านี้ไม่ได้ เกิดเป็นภาวะผลิตสินค้าส่วนเกิน (Over Supply) และสินค้าเหล่านั้นจึงล้นเข้ามาในอาเซียน กลายเป็นคู่ค้าอันกับ 1 ของจีนแทนสหรัฐ
“สินค้าที่ล้นทะลักเข้ามาทำให้เอสเอ็มอีไทยได้รับผลกระทบอย่างหนัก ในปี 2566 มี 22 กลุ่มอุตสาหกรรมที่พบว่ามีการนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และในปีนี้หากยังไม่มีมาตรการรับมือที่ดีพอ จะทำให้สินค้าราคาถูกที่ไม่มีคุณภาพ ไม่ได้มาตรฐานอาจได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้นเป็น 30 กลุ่มอุตสาหกรรม และจะกลายเป็นปัญหาใหญ่”
อย่างไรก็ตาม ไทยอาจยังไม่จำเป็นต้องกำหนดมาตรการกำแพงภาษี แต่จะต้องมีมาตรการที่จริงจังในการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐาน ตรวจจับการลักลอบนำเข้า รวมทั้งการสำแดงเท็จ เพื่อชะลอการหลั่งไหลของสินค้าที่ทะลักเข้ามาได้บ้าง ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน
ทางรอดอุตฯ ไทย
นายเกรียงไกร กล่าวว่า หลายครั้งที่มีการเน้นย้ำว่าอุตสาหกรรมไทยในปัจจุบันเริ่มล้าสมัย ซึ่งสมาชิก ส.อ.ท.ครึ่งหนึ่งซึ่งส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอียังต้องการกลไกช่วยเหลือในการปรับตัว เพื่อไม่เกิดการ Hard Landing โดยการสร้างมูลค่าเพิ่มในการผลิต จากการเป็นเพียงแค่การรับช่วงผลิต การพัฒนาทักษะแรงงานใหม่ รวมทั้งกระบวนการผลิตที่ไม่ใช่ทุ่งแต่กำไรสูงสุด แต่ต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาลด้วย (ESG)