ศักยภาพ‘อาเซียน’ ขับเคลื่อน ศก.โลก
ภูมิภาคอาเซียนเป็นที่จับตามองในฐานะภูมิภาคดาวรุ่ง ดึงดูดการลงทุนจากทั่วโลก จุดแข็งสำคัญ คือ ประชากรรวมเกือบ 660-680 ล้านคน ส่วนใหญ่อยู่ในวัยแรงงาน มีกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
มีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์เป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อระหว่างเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้ ทำให้อาเซียนได้เปรียบด้านการค้าและโลจิสติกส์ ความหลากหลายทางทรัพยากรธรรมชาติและแรงงานที่มีทักษะในราคาที่แข่งขันได้ เป็นอีกปัจจัยที่ดึงดูดนักลงทุน
งานสัมมนา “ASEAN Economic Outlook 2025: The Rise of ASEAN, A Renewing Opportunity” จัดโดย “กรุงเทพธุรกิจ” วานนี้ เต็มไปด้วยสตอรี่มากมายที่บอกเล่าถึงศักยภาพภูมิภาคอาเซียน แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีกล่าวปาฐกถา “Thailand Economic Big Move” ภายในงาน บอกว่า โอกาสเติบโตของอาเซียนสูงมาก ด้วยขนาดเศรษฐกิจ 36 ล้านล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 119 ล้านล้านบาท เติบโตสูงถึง 4-5% ต่อปี เป็นตลาดที่น่าลงทุนที่สุดในโลก ที่สำคัญอาเซียนเป็นตลาดที่สามารถรองรับการลงทุนได้ต่อเนื่องไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์หรือสถานการณ์ใดๆในโลกเพราะเป็นภูมิภาคที่มีความสงบมากที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น
ขณะที่ “เจฟฟ์ จอห์นสัน” กรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคอาเซียน อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส หรือ เอดับบลิวเอส บอกว่า อาเซียน คือ ภูมิภาคที่มีศักยภาพมีความหลากหลาย ที่น่าสนใจ คือ สัดส่วนประชากรกว่า 61% อายุต่ำกว่า 35 ปีเชี่ยวชาญใช้เทคโนโลยี เป็นตลาดที่ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตเติบโตสูงสุด เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 1.25 แสนคนต่อวัน แน่นอนว่าอาเซียนจะเป็นตัวจักรสำคัญขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ภายในปี 2573
ดังนั้นแต่ละประเทศในอาเซียนต้องปรับตัว ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะด้านดิจิทัลและการขนส่งรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจและการเชื่อมโยงในภูมิภาค การปรับปรุงกฎระเบียบและนโยบายให้เอื้อต่อการลงทุน ลดขั้นตอนที่ซับซ้อน สร้างความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจ เพิ่มความน่าสนใจให้นักลงทุนต่างชาติ ที่สำคัญ คือ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เน้นการศึกษาและการฝึกอบรมทักษะที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานในยุคดิจิทัล จะช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภูมิภาค
จริงๆ แล้วประเทศไทยสามารถเป็นฮับเทคโนโลยี หรือ ฮับเอไอได้ หากไม่มองในแง่ลบเกินไปการลงทุนด้านดิจิทัลของไทยกำลังเป็นที่จับตามอง โครงสร้างพื้นฐานของไทยไม่เป็นรองใคร เพียงแต่ภาครัฐ เอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกันเปลี่ยนโฉม ปรับภาพลักษณ์ประเทศที่เต็มไปด้วยกฎเกณฑ์ล้าสมัย ให้มีความยืดหยุ่นสอดคล้องการเปลี่ยนแปลงของโลกท่ามกลางการแข่งขันในภูมิภาคที่ยังสูง โดยเฉพาะจากประเทศเพื่อนบ้านอย่าง สิงคโปร์ และมาเลเซียที่เขากำลังก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว