‘ไฮเทค - นวนคร - โรจนะ’ สกัดน้ำท่วมนิคมฯ เร่งเฝ้าระวัง 24 ชั่วโมง

‘ไฮเทค - นวนคร - โรจนะ’ สกัดน้ำท่วมนิคมฯ เร่งเฝ้าระวัง 24 ชั่วโมง

นิคมฯ พื้นที่ภาคกลางตอนล่าง มั่นใจรับมือน้ำท่วมไหว “ไฮเทค” ชี้นักลงทุนยังมีความกังวล เร่งติดตามสถานการณ์ใกล้ชิดเพื่อคลาย ข้อกังวล “นวนคร” ป้องกันเข้ม ห่วงแต่พื้นที่นอกนิคมฯ “โรจนะ” มั่นใจเขื่อนรอบนิคมฯ รับมือได้ กนอ. เฝ้าระวังน้ำ 68 แห่งทั่วประเทศเต็มที่

สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่รุนแรงในรอบหลายปี ได้สร้างความกังวลถึงสถานการณ์น้ำในลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างไปด้วย ซึ่งขณะนี้กำลังเข้าสู่ฤดูน้ำหลากที่เคยส่งผลกระทบอย่างเลวร้ายเมื่อปี 2554 โดยเฉพาะน้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรมใน จ.พระนครศรีอยุธยา และ จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นที่ตั้งโรงงานของผู้ประกอบการไทย และต่างชาติ

นายทวิช เตชะนาวากุล ประธานกรรมการบริหาร นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค กล่าวว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมภาคเหนือที่ไล่ลงมาภาคกลาง และมาถึงพระนครศรีอยุธยา ทำให้หลายฝ่ายมีความกังวลว่านิคมอุตสาหกรรมอาจได้รับผลกระทบด้วย

ทั้งนี้ นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค มั่นใจว่าปัญหาน้ำท่วมใหญ่จากภาคเหนือปี 2567 ไม่เหมือนน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ซึ่งนิคมอุตสาหกรรม ไฮเทคได้ติดตามสถานการณ์เพื่อรับมือตลอดเวลา เพราะอุทกภัยเป็นภัยที่น่าเป็นห่วงต่อประชาชน และนักลงทุนใน จ.พระนครศรีอยุธยา โดยนิคมอุตสาหกรรมกังวลว่าจะกระทบต่อบุคลากรในการเดินทางมาทำงานเช่นกัน

“สถานการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ต่างกับปี 2554 มาก เพราะเหตุเกิดจากฝนตกหนักในพื้นที่ภาคเหนือ ในขณะที่อ่างเก็บน้ำยังไม่เต็มความจุ ซึ่งนิคมฯ ได้ติดตามการปล่อยน้ำจากเขื่อนที่ปกติการปล่อยน้ำระดับ 1,400-1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ปัจจุบันปล่อยเพิ่มขึ้นที่ระดับ 1,700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที” นายทวิช กล่าว

แจ้งข้อมูลนักลงทุนลดกังวล

ดังนั้น หากปล่อยระดับ 2,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะท่วมพื้นที่ราบลุ่ม และพื้นที่ ที่เคยท่วม โดย จ.พระนครศรีอยุธยา ถือเป็นอู่ข้าวอู่น้ำในการรับน้ำท่วม ระดับ 1 เมตร ถือเป็นเรื่องปกติแต่ถ้าระดับ 1.50 เมตร ถือว่ามากนิดหน่อย

นอกจากนี้ หลังจากน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จัดงบประมาณสร้างเขื่อนกั้นน้ำที่สูงจากระดับพื้นดิน 4 เมตร ดังนั้น ขณะนี้สถานการณ์น้ำท่วมจึงไม่น่าเป็นห่วงมากกรณีปล่อยน้ำที่ปล่อยระดับ 2,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่หากปล่อยน้ำระดับ 2,600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ขึ้นไป หรือถ้าเกิน 3,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะต้องติดตามและป้องกันอย่างใกล้ชิด

“ตอนนี้ต้องเฝ้าติดตาม และเตรียมความพร้อมรับมือ เพราะทุกนิคมฯ เป็นห่วงระดับน้ำเช่นกัน แต่สถานการณ์จะต่างกับปี 2554 มาก และต้องส่งข้อมูลให้นักลงทุนเพื่อคลายความกังวล และติดตามรายงานสถานการณ์ทุกวัน พร้อมติดประกาศแจ้งสถานการณ์น้ำใกล้ชิด โดยเฉพาระดับน้ำของเขื่อนเจ้าพระยา” นายทวิช กล่าว

แหล่งข่าวจาก สวนอุตสาหกรรมโรจนะ กล่าวว่า ปัญหาน้ำท่วมภาคเหนือปีนี้ ยังเชื่อว่าจะไม่ท่วมนิคมอุตสาหกรรมเหมือนปี 2554 เพราะสร้างเขื่อนเตรียมพร้อมรับน้ำตั้งแต่ตอนเกิดน้ำท่วมใหญ่ ซึ่งเชื่อมั่นว่าน้ำไม่ท่วม

“นวนคร” เฝ้าระวังน้ำ 24 ชั่วโมง

นางพีรยลักษณ์ ตั้งสุรนาวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นวนคร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สวนอุตสาหกรรมนวนครติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด โดยเฉพาะบริหารจัดการภายในนวนคร โดยจะมีกลุ่มไลน์เพื่อรายงานระบบป้องกันน้ำท่วม พร้อมทีมงานด้านสิ่งแวดล้อมคอยแจ้งระดับน้ำทั้งภายใน และภายนอก

“ในโครงการจะวัดระดับการควบคุม ส่วนภายนอกโซนประตูระบายน้ำบางบาล เลยขึ้นไปถึงอยุธยา จะมีเว็บไซต์รายงานระดับน้ำ แต่น้ำท่วมปีนี้เชื่อว่าจะไม่เหมือนปี 2554 แน่นอน”

สำหรับน้ำท่วมปี 2554 เป็นการกั้นน้ำไม่ให้เข้ามาที่ จ.สุพรรณ และไม่ให้ไหลเข้าที่รามอินทรา จึงบีบลงมาในแนววิภาวดี แต่ปี 2567 น้ำกระจายไปทั่ว เพราะรัฐบาลบริหารจัดการที่ดี ซึ่งนวนครมีการป้องกัน และ Monitor ตลอด โดยมีสถานีสูบน้ำขนาดใหญ่พร้อมรับมือ แต่จะไม่สูบน้ำออกไปเยอะเพราะจะกระทบพื้นที่นอกโครงการ จึงต้องบริหารจัดการให้สมดุล

ทั้งนี้ สวนอุตสาหกรรมนวนครต่างจากนิคมอุตสาหกรรมอื่น โดยมีชุมชนร่วมกับโรงงานเป็นชุมชนระดับคนงานไม่ใช่ชุมชนระดับผู้บริหาร โดยนวนครเข้าใจดีว่าเมื่อน้ำท่วมประมาณข้อเท้าจะกระทบชุมชน เพราะกลัวจะเกิดเหมือนปี 2554 ดังนั้น จึงต้องสร้างความมั่นใจให้ชุมชน โดยในระบบป้องกันน้ำท่วมทางกายภาพจะมีกำแพงกั้นน้ำที่ทำมาภายหลังเกิดน้ำท่วมใหญ่ปี 2554

“ได้ซ่อมแซมบำรุงรักษามาตลอดแม้บางจุดเสื่อมโทรมตามอายุงาน แต่ก็ดูความคงทน และปลอดภัยตลอด 26 กิโลเมตร”

นอกจากนี้ สวนอุตสาหกรรมนวนคร อยู่แถวคลองเชียงรากน้อย ซึ่งภาครัฐทำแนวเขื่อนตลอดแนวคลอง ขณะที่ถนนกาญจนาภิเษก ได้ยกระดับขึ้น 3 เมตร อีกฝั่งที่สูงมากอยู่ระหว่างการก่อสร้างถือเป็นอีกจุดของแนวกั้นน้ำ ไม่ให้เข้ามาที่ประตูน้ำพระอินทร์ และนวนคร อีกทั้ง มีกำแพงกั้นน้ำของนวนครอีกชั้น

ดังนั้น นวนครจึงมั่นใจว่าป้องกันไม่ให้น้ำท่วมได้ ส่วนข้างนอกโครงการเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาฝนตกหนักเกิดน้ำท่วมขัง เพราะติดขัดการระบายน้ำ ดังนั้น สิ่งสำคัญที่ระบบระบายน้ำต้องดีพอ และยอมรับว่าริมแม่น้ำเจ้าพระยาท่วมทุกปี

ติดตามสถานการณ์น้ำ 3 เขื่อนหลัก

นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการ กนอ.รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ กนอ.กล่าวว่า กนอ.กำชับนิคมอุตสาหกรรม 68 แห่งทั่วประเทศ ให้ติดตาม และเฝ้าระวังการเกิดน้ำท่วมฉับพลัน โดยเฉพาะนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เสี่ยงต้องดำเนินการตามมาตรการเฝ้าระวังเคร่งครัด รวมทั้งเตรียมการให้พร้อมสำหรับกรณีเกิดเหตุน้ำท่วมฉับพลัน 

สำหรับนิคมอุตสาหกรรมพื้นที่เสี่ยง เช่น นิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดอยุธยา ประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรมบางปะอินนิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (ไฮเทค) และนิคมอุตสาหกรรมนครหลวง มีการสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมแล้ว 100%

นอกจากนี้ กนอ.ต้องเฝ้าระวัง และติดตามข้อมูลการระบายน้ำจาก 3 เขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนพระรามหก ใกล้ชิด พร้อมตรวจสอบระดับน้ำในแม่น้ำและปริมาณน้ำฝนตลอด 24 ชั่วโมง เพราะหากเกิดน้ำท่วมพื้นที่โดยรอบ รวมถึงถนน จะทำให้การสัญจรเข้า-ออก นิคมอุตสาหกรรมมีปัญหา อาจกระทบการขนส่งแรงงาน วัตถุดิบ และผลิตภัณฑ์ในนิคมอุตสาหกรรม

ขณะที่นิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่อื่นสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมเกือบครบทุกแห่ง ยกเว้นนิคมอุตสาหกรรมบางปูที่กำลังสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วม ซึ่งต้องเฝ้าระวังตามมาตรการป้องกัน และมาตรการตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉิน ดังนี้ 

1. สำรวจและติดตามข้อมูลอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด

2. ประเมินคาดการณ์ปริมาณฝนในพื้นที่

3. ตรวจสอบ และซ่อมแซมบำรุงรักษาเครื่องสูบน้ำที่มีอยู่ให้ใช้งานได้ 100%

4. สูบระบายพร่องน้ำภายในนิคมอุตสาหกรรมให้อยู่ระดับต่ำสุด ให้มีแก้มลิงรองรับน้ำฝนมากที่สุด

5. เตรียมเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่สำรองจากภายนอกเข้าสนับสนุนหากมีการร้องขอ

6. ประเมินสถานการณ์ พร้อมสื่อสารให้ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม และผู้เกี่ยวข้องทราบต่อเนื่อง 

7. กำหนดให้ทุกนิคมอุตสาหกรรมซ้อมแผนฉุกเฉินรองรับอุทกภัยเป็นประจำ

8. กรณีมีความเสี่ยงเกิดอุทกภัย เช่น ปริมาณน้ำฝนในนิคมอุตสาหกรรมมากกว่า 120 มิลลิเมตร ให้รีบรายงานมาที่ผู้บริหาร กนอ.ทราบต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์