ไทย MOU สปป.ลาว ยกระดับความร่วมมือด้านน้ำแบบบูรณาการ
“นายกรัฐมนตรีไทย-สปป.ลาว” ร่วมเป็นสักขีพยานการยกระดับความร่วมมือด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการ ผ่านการลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สปป.ลาว และ สทนช.
นางสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทย และนายสอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการ ระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติแห่งราชอาณาจักรไทย (สทนช.)
โดยได้รับเกียรติจาก นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และนางบุนคำ วอละจิด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็นผู้ลงนามในบันทึกความเข้าใจฯ พร้อมด้วย ผู้แทนจาก สทนช. และคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติลาว เข้าร่วมพิธี
สำหรับบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการ จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนความร่วมมือด้านน้ำระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ให้มีประสิทธิภาพที่ครอบคลุมประเด็นด้านน้ำในเรื่องต่างๆ อาทิ
การจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการและน้ำบาดาลเพื่อความยั่งยืน นโยบายด้านทรัพยากรน้ำ การป้องกันภัยพิบัติและระบบเตือนภัยล่วงหน้า การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การจัดการทรัพยากรน้ำข้ามพรมแดนภายใต้ผลประโยชน์ร่วมกัน การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติของทั้งสองประเทศผ่านกรอบความร่วมมือที่มีอยู่เดิมในอนุภูมิภาค รวมทั้งระบบสารสนเทศ การสร้างแบบจำลอง การจัดการและการใช้ข้อมูล และเครื่องมือสนับสนุนการตัดสินใจและการเสริมสร้างศักยภาพในการจัดการทรัพยากรน้ำ เป็นต้น
“บันทึกความเข้าใจดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมบทบาทของประเทศไทย โดยเป็นการต่อยอดจากความร่วมมือที่มีอยู่ในระดับอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ผ่านความร่วมมือที่สอดคล้องกันระหว่างประเทศไทยและ สปป.ลาว ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ อีกทั้งยังเป็นการเสริมสร้างความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาค เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลในการรับมือภัยพิบัติด้านน้ำและแนวทางการบริหารจัดการน้ำที่ครอบคลุมในทุกมิติอย่างยั่งยืนและสมดุลร่วมกัน”