โครงข่ายขนส่งทางรางไทย-ลาว สู่เป้าหมายการเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ
การค้าชายแดนกำลังเป็นเครือข่ายทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่สามารถกระจายรายได้จากการค้าระหว่างประเทศลงสู่ท้องถิ่น กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์
ระบุถึง ตัวเลขการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน เดือน ส.ค.2567 มีมูลค่าการค้ารวม 154,987 ล้านบาท เพิ่ม 16.2% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน
ระบุถึง ตัวเลขการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน เดือน ส.ค.2567 มีมูลค่าการค้ารวม 154,987 ล้านบาท เพิ่ม 16.2% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน
แบ่งเป็นการส่งออก 88,053 ล้านบาท เพิ่ม 18.4% และการนำเข้า 66,934 ล้านบาท เพิ่ม 13.4% โดยไทยได้ดุลการค้า 21,119 ล้านบาท ส่วนยอดรวมช่วง 8 เดือนปี 2567 (ม.ค.-ส.ค.) มีมูลค่าการค้ารวม 1,225,371 ล้านบาท เพิ่ม 7.1% เป็นการส่งออก 709,459 ล้านบาท เพิ่ม 6.2% และการนำเข้า 515,913 ล้านบาท เพิ่ม 8.4% โดยไทยได้ดุลการค้า 193,546 ล้านบาท
หากแยกการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน 4 ประเทศ พบว่า มาเลเซีย มีมูลค่าสูงสุด 28,589 ล้านบาท เพิ่ม 20.7% รองลงมา คือ สปป.ลาว 23,143 ล้านบาท เพิ่ม 12.8% เมียนมา 17,530 ล้านบาท เพิ่ม 16.5% และกัมพูชา 14,436 ล้านบาท เพิ่ม 7.3%
ส่วนการค้าผ่านแดนไปประเทศที่สาม พบว่า จีน มีมูลค่าสูงที่สุด 41,786 ล้านบาท เพิ่ม 18.1% รองลงมาคือ สิงคโปร์ และเวียดนาม มีมูลค่า 9,154 ล้านบาท เพิ่ม 26.2% โดยสินค้าส่งออกผ่านแดนสำคัญ อาทิ ทุเรียนสด 7,941 ล้านบาท ฮาร์ด ดิสก์ ไดรฟ์ 6,459 ล้านบาท และยางแท่ง TSNR 4,091 ล้านบาท และยอดรวม 8 เดือน การค้าผ่านแดนมีมูลค่า 565,454 ล้านบาท เพิ่ม 9.1% เป็นการส่งออก 304,741 ล้านบาท เพิ่ม 10.1% การนำเข้า 260,713 ล้านบาท เพิ่ม 8.0% ไทยได้ดุลการค้า 44,028 ล้านบาท
เมื่อไม่กี่ปีมานี่ โครงสร้างการค้าชายแดนได้ถูกท้าทายจากการเปิดให้บริการรถไฟจีน-สปป.ลาวที่ทำให้การค้าภายในภูมิภาคที่มีพรมแดนติดกันและมีขนส่งระบบรางเป็นเครื่องมือสำคัญในการเชื่อมโยงการค้าร่วมกัน
รัฐบาลไทยให้ความสำคัญในการพัฒนาระบบราง ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งหลักของประเทศ จึงมอบหมายให้ รฟท. เร่งดำเนินการผลักดัน และพัฒนาการขนส่งทางราง โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าระหว่างไทย – ลาว – จีน ซึ่งเป็นเส้นทางที่สามารถเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมทางรางให้เกิดการเจริญเติบโตสู่ภูมิภาค ส่งเสริม และกระตุ้นเศรษฐกิจ สอดรับกับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศ
แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และสอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เป็นประธานในพิธีลงนาม “บันทึกการดำเนินการด้านเทคนิคสำหรับการขนส่งสินค้าทางรถไฟ”
ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กระทรวงคมนาคม และรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งชาติลาว สปป.ลาว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบขนส่งร่วมกันระหว่างสองประเทศเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมทางรางให้ไทยก้าวสู่ศูนย์กลางการขนส่งทางรางในภูมิภาคอาเซียน เมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2567 ณ สำนักงานนายกรัฐมนตรี เวียงจันทน์ สปป.ลาว
วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า รฟท. เเละรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งชาติลาว ได้บังคับใช้ความตกลงว่าด้วยการเดินรถไฟร่วมกันระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ตั้งแต่วันที่ 30 ม.ค. 2551 ซึ่งการลงนามในครั้งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าทางรถไฟ และการให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างไทย - สปป.ลาว อาทิ เส้นทางขนส่ง จุดเข้า - ออกประเทศ การจัดขบวนรถ และตารางเดินรถ กฎข้อบังคับ เเละเอกสารการขนส่งสินค้า กฎข้อบังคับการเดินรถ การให้ความช่วยเหลือในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ การชำระบัญชี ซึ่งจะสามารถขนส่งสินค้าร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ ปัจจุบันการขนส่งสินค้าจากประเทศไทย ไปยัง สปป.ลาว และ จีน มีหลากหลายชนิด อาทิ ข้าวมอลต์ ปุ๋ย อะไหล่รถยนต์ สินค้าอีคอมเมิร์ซสินค้าอุปโภคบริโภค และผลไม้ เฉลี่ยวันละ 4 – 6 ขบวน ไป/กลับ โดยเฉพาะสินค้าเกษตร (ทุเรียน) และสินค้าที่มาจากแหลมฉบัง ผ่านสถานีนาทาฝั่งประเทศไทย ไปยังสถานีขนถ่ายสินค้าท่านาแล้ง สปป.ลาว เพื่อกระจายสินค้าไปยัง สปป. ลาว และสาธารณรัฐประชาชนจีน
ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้น โดยในช่วงปี 2566 มีรายได้จากการขนส่งสินค้าระหว่างไทย - สปป.ลาว จำนวน 11,361,000 บาท และช่วงเดือนต.ค. 2566 - ส.ค.2667 มีรายได้เพิ่มขึ้น จำนวน 26,749,500 บาท คาดว่าในปี 2568 จะมีรายได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 30 ล้านบาท
“เชื่อมั่นว่าการลงนามในบันทึกความร่วมมือครั้งนี้ จะเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่จะช่วยขยายโครงข่ายคมนาคมทางราง ยกระดับการขนส่งสินค้าทางรางทั้งสองประเทศ ก่อให้เกิดการเจริญเติบโตทางการค้าระหว่างประเทศที่สำคัญ ทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางรางในภูมิภาคอาเซียนได้ตามนโยบายของรัฐบาล”
รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อเร็วๆนี้ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ได้เร่งขับเคลื่อนโครงการศึกษาการใช้ประโยชน์รางและข้อจำกัด เพื่อรองรับเชื่อมโยงการขนส่งทางราง เส้นทางรถไฟสายสิงคโปร์ – คุนหมิง (Singapore – Kunming Rail Link – SKRL) โดยที่ประชุมรับทราบข้อมูลและความคืบหน้าของโครงการศึกษาการใช้ประโยชน์รางและข้อจำกัด เพื่อรองรับเชื่อมโยงการขนส่งทางราง เส้นทางรถไฟสายสิงคโปร์ – คุนหมิง ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการพัฒนาความเชื่อมโยงทางรางระหว่างประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค
การขนส่งระบบรางกำลังเป็นเครือข่ายสำคัญของการเชื่อมโยงระหว่างประเทศ โดยมีเป้าหมายการทำให้การติดต่อค้าขายและการพัฒนาไปให้ถึงขั้น“ไร้รอยต่อ” ซึ่งไทยก็กำลังขับเคลื่อนการพัฒนาระบบรางไปอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกับเพื่อนบ้านและประเทศอื่นๆ