'นาคาวิถี' ถนนท่องเที่ยวสายใหม่ 750 กิโลเมตร เลียบแม่น้ำโขง

'นาคาวิถี' ถนนท่องเที่ยวสายใหม่ 750 กิโลเมตร เลียบแม่น้ำโขง

เปิดแผนพัฒนาถนนท่องเที่ยวสายใหม่ "นาคาวิถี" ขับรถชมวิวเลียบแม่น้ำโขง 750 กิโลเมตร เชื่อมสะพานมิตรภาพไทย – ลาว (แห่งที่ 2) "กรมทางหลวงชนบท" เตรียมตอกเสาเข็มปี 2568 คาดทยอยแล้วเสร็จเปิดบริการปี 2570

กรมทางหลวงชนบท เปิดแผนเพิ่มศักยภาพโครงข่ายสายทางพัฒนาให้เป็นถนนเพื่อการท่องเที่ยว และเส้นทางชมทิวทัศน์ (Scenic Route) รวมทั้งยกระดับถนนให้มีความสะดวกและปลอดภัยในการเดินทาง ต่อเติมโครงข่ายการคมนาคมขนส่งให้มีความสมบูรณ์ พร้อมสนับสนุนให้เกิดการขยายตัวด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่ อันจะนำไปสู่การสร้างงานและสร้างรายได้ให้กับประชาชน

โดยในช่วงที่ผ่านมาได้พัฒนาโครงการพัฒนาถนนท่องเที่ยวเลียบชายฝั่งทะเลภาคใต้ (ไทยแลนด์ริเวียร่า) ระยะทางประมาณ 950 กิโลเมตร ครอบคลุม 12 จังหวัดชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ซึ่งทยอยแล้วเสร็จเปิดให้บริการแล้วประมาณ 515 กิโลเมตร ในระยะที่ 1 ช่วงสมุทรสาคร - เพชรบุรี - ประจวบคีรีขันธ์ - ระนอง - ชุมพร

ทั้งนี้ จากความสำเร็จของการพัฒนาโครงข่ายสายทางถนนไทยแลนด์ริเวียร่า ซึ่งทยอยแล้วเสร็จและเปิดให้บริการแล้วในปัจจุบัน ระยะที่ 1 ช่วงสมุทรสงคราม - ชุมพร ได้เก็บสถิติข้อมูลปริมาณจราจร (PCU) ในเส้นทางดังกล่าว พบว่ามีอัตราการเพิ่มขึ้นของปริมาณจราจรตั้งแต่ปี 2560 ถึงปี 2567 คิดเป็น 111% หรือเพิ่มขึ้นหนึ่งเท่าตัว อีกทั้งยังช่วยสนับสนุนให้เกิดการเดินทางเพื่อการท่องเที่ยวในพื้นที่ดังกล่าวด้วย

\'นาคาวิถี\' ถนนท่องเที่ยวสายใหม่ 750 กิโลเมตร เลียบแม่น้ำโขง

อย่างไรก็ดี เพื่อสานต่อความสำเร็จ กรมทางหลวงชนบทได้ศึกษาเตรียมพัฒนาเส้นทางถนนท่องเที่ยวสายใหม่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) โดยจะพัฒนาเส้นทางเลียบแม่น้ำโขง “นาคาวิถี” เพื่อสนับสนุนเขตพัฒนาการท่องเที่ยววิถีชีวิตลุ่มแม่น้ำโขง จากจังหวัดเลยถึงจังหวัดอุบลราชธานี ระยะทางรวมประมาณ 750 กิโลเมตร

โดยล่าสุดกรมทางหลวงชนบทได้ลงนามสัญญาก่อสร้างโครงการถนนเลียบแม่น้ำโขง นาคาวิถี ระยะที่ 1 จากจังหวัดมุกดาหารถึงจังหวัดนครพนม เส้นทางเริ่มต้นที่จวนผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร – สะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 2 (มุกดาหาร – สะหวันนะเขต) – หาดมโนภิรมย์ – วัดสองคอน – แก่งกะเบา และสิ้นสุดพระธาตุพนม ระยะทางทั้งสิ้น 43.485 กิโลเมตร วงเงิน 615 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี โดยคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2568 และแล้วเสร็จเปิดบริการในปี 2570

 

โดยจะก่อสร้างถนนขนาด 2 ช่องจราจร กว้างช่องละ 3.00 เมตร ไหล่ทางกว้างข้างละ 2.00 – 4.00 เมตร พร้อมระบบระบายน้ำ ไฟฟ้าแสงสว่าง และสิ่งอำนวยความปลอดภัย ซึ่งเป็นการพัฒนาเส้นทางเลียบแม่น้ำโขงให้เป็นถนนเพื่อการท่องเที่ยวและเส้นทางชมทิวทัศน์ พร้อมปรับปรุงพื้นที่และทัศนียภาพบริเวณถนนเดิมให้มีความสะดวกยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกันตลอดแนวเส้นทาง จะได้พบกับความงดงามของทัศนียภาพของแม่น้ำโขง หาดทรายน้ำจืด และเกาะแก่งต่างๆ รวมทั้งความสวยงามของ ศาสนสถานของศาสนาพุทธและศาสนาคริสต์ ตลอดจนวิถีชีวิตของคนในชุมชน และภูมิปัญญาท้องถิ่น ถือเป็นอีกเส้นทางท่องเที่ยวที่จะสร้างประสบการณ์ตลอดการเดินทาง