‘กัลฟ์-เอ็กโก-ราช-บาฟส์’แห่ชิง ขายไฟ ‘ลม-โซลาร์เซลล์’ 2.1พันเมก
“เอกชน” ชิงขายไฟฟ้สะอาดรอบ 2 หลัง กกพ.รับซื้อ 2.1 พันเมกะวัตต์ “กัลฟ์” มั่นใจชิงส่วนแบ่ง 20% “เอ็กโก” ยื่นขายไฟโซลาร์ 10 โครงการ “บาฟส์” ผนึกพันธมิตรเสนอขายไฟ “ราชกรุ๊ป” ไม่ตกขบวนร่วมประมูลรอบ 2 กกพ.เผยส่วนที่เหลืออีก 1.5 พันเมกะวัตต์ รอบอร์ดชุดใหม่อนุมัติรับซื้อ
การประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนภายใต้ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 ได้รับความสนใจจากผู้ผลิตไฟฟ้าอย่างมาก เพื่อรองรับความต้องการใช้พลังงานหมุนเวียนตามเทรนด์การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อมุ่งเป้าหมายสู่ Net Zero
สำหรับการประกาศรับซื้อรอบแรก 5,000 เมกะวัตต์ มีผู้สนใจยื่นขายไฟฟ้าถึง 15,000 เมกะวัตต์ ส่งผลให้ภาครัฐประกาศรับซื้อเพิ่มอีก 3,000 เมกะวัตต์ โดยการประการรับซื้อรอบล่าสุดประกาศไป 2,100 เมกะวัตต์ ยังเหลืออีกบางส่วนที่รอประกาศเพิ่ม
นายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ.เปิดเผยว่า สำนักงาน กกพ.กำหนดรายละเอียดการเพื่อประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนภายใต้ประกาศ กกพ.เรื่องรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ.2565 (เพิ่มเติม)
ทั้งนี้ ได้กำหนดให้เงื่อนไขและระยะเวลาการรับซื้อไฟฟ้าวันที่ 8 ต.ค.2567 โดยการไฟฟ้าประกาศรายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติมที่ประสงค์ขอเข้าร่วมโครงการ กรอบเวลา 7 วัน จากนั้นสำนักงาน กกพ.ประกาศรายชื่อภายใน 30 วัน และจะมีการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายใน 180 วัน
นายพูลพัฒน์ กล่าวว่า กกพ.กำหนดเงื่อนไขให้สิทธิ์กลุ่มที่เคยยื่นข้อเสนอผลิตไฟฟ้าประเภทพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินภายใต้โครงการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรูปแบบ FiT ปี 2565-2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิงจำนวน 198 ราย รวมปริมาณรับซื้อไฟฟ้า 5,203 เมกะวัตต์
ทั้งนี้ ได้ผ่านเกณฑ์พร้อมทางด้านเทคนิคขั้นต่ำ (Pass/Fail Basis) และได้รับประเมินความพร้อมตามเกณฑ์คะแนนคุณภาพ (Scoring) ภายใต้โครงการแต่ไม่ได้รับการคัดเลือกในโครงการดังกล่าว เนื่องจากการจัดหาไฟฟ้าได้ครบตามเป้าหมายแล้ว
สำหรับการพิจารณารับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมดังกล่าวรวม 2,180 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นพลังงานลมไม่เกิน 600 เมกะวัตต์ เป็นลำดับแรก และพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน ไม่เกิน 1,580 เมกะวัตต์
“กัลฟ์” ลุยยื่นขายไฟฟ้าสะอาดรอบใหม่
นายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯ พร้อมยื่นเสนอขายไฟสะอาดรอบ 2 ของสำนักงาน กกพ.โดยคาดว่าจะได้รับโครงการไม่ต่ำกว่า 20% ของจำนวนที่เปิดรับซื้อ โดยเบื้องต้นอาจร่วมมือกับพันธมิตร
นายรัฐพล ชื่นสมจิตต์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การเปิดรับซื้อไฟสะอาดเฟส 2 กัลฟ์พร้อมเข้าร่วมยื่นเสนอเข้าร่วมอย่างเต็มที่เช่นกัน
ส่วนการเปิดรับรอบแรก 5,000 เมกะวัตต์ กัลฟ์เป็นผู้ชนะราว 3,000 เมกะวัตต์ โดยภาพรวมรายได้จะเริ่มเห็นในช่วงปีหน้าเป็นต้นไป ส่วนแผนลงทุน 5 ปีวางไว้อยู่ที่ 9 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นพลังงานหมุนเวียน 80% หรือที่ระดับ 7.5 หมื่นล้านบาท
“ปัจจุบันกำลังการผลิตรวมกลุ่มกัลฟ์ที่ COD ไปแล้วอยู่ที่ 1.4 หมื่นเมกะวัตต์ โดยหากรวมกำลังการผลิตในต่างประเทศด้วยจะมีอยู่ที่รวม 2.3 หมื่นเมกะวัตต์ แบ่งเป็นพลังงานหมุนเวียน 8% และตั้งเป้าหมายปี 2033 จะเพิ่มเป็น36%” นายรัฐพล กล่าว
“บาฟส์” ผนึกพันธมิตรเสนอขายไฟ
หม่อมหลวงณัฐสิทธิ์ ดิศกุล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS กล่าวว่า กลุ่มบาฟส์มีธุรกิจโรงไฟฟ้าาว 40 เมกะวัตต์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่ม โดยพร้อมยื่นขอรับสิทธิขายไฟสะอาดเฟส 2 จากสำนักงาน กกพ.แน่นอน โดยจะร่วมมือกับพันธมิตร
“หากชนะการนำเสนอครั้งนี้ จะเพิ่มโอกาสขยายสัดส่วนพลังงานสะอาดในไทย อีกทั้งจะเพิ่มโรงไฟฟ้าพลังงานขยะชุมชน จากการร่วมลงทุนกับ บริษัท เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ลัคกี้ คลีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด จัดตั้งบริษัทร่วมทุน ไบเซล เวสท์ เอ็นเนอร์ยี่ ที่ชนะรอบแรกมา ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างที่ จ.สุราษฎร์ธานี จำนวน 9.9 เมกะวัตต์” หม่อมหลวงณัฐสิทธิ์ กล่าว
นอกจากนี้ กำลังศึกษาโครงการ Direct PPA ขนาด 2,000 เมกะวัตต์ และมองว่าตลาดขยายตัวสูงจากนโยบายรัฐบาลพยายามส่งเสริมให้เอกชนได้ซื้อ-ขาย ไฟได้โดยตรง โดยอาจยื่นเองโดยตรงและร่วมกับพันธมิตร เพราะบางโครงการมีความเสี่ยงและบริษัทยังไม่มีเทคโนโลยีและประสบการณ์มากพอ
“เราจะทำโซลาร์เพราะมองว่าความเสี่ยงต่ำ ตอนขึ้นโครงการที่มองโกเลีย เป็นโครงการแรกของกลุ่มบริษัททำโซลาร์และระบบแบตเตอรี่สำรองไฟ จึงมองว่าไทยมีโอกาสจะได้นำมาใช้ ส่วนจำนวนเมกะวัตต์ต้องรอดูก่อน” หม่อมหลวงณัฐสิทธิ์ กล่าว
“เอ็กโก” ยื่นโซลาร์กว่า10โครงการ
น.ส.จิราพร ศิริคำ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO Group เปิดเผยว่า บริษัทมีเป้าหมายระยะสั้นเป็นการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็น 30% ภายในปี 2573 ผ่านการลงทุนในโครงการพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีพลังงานสะอาดทั้งในและต่างประเทศ
สำหรับการลงทุนในประเทศ EGCO Group พร้อมนำโครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินกว่า 10 โครงการ ที่ผ่านเกณฑ์คะแนนความพร้อมด้านเทคนิคขั้นต่ำ (Pass/Fail Basis) จากโครงการ RE Big Lot รอบที่ 1 แต่ยังไม่ได้คัดเลือกเพื่อเข้าร่วมโครงการ RE Big Lot ในรอบที่ 2
นอกจากนี้ หาก EGCO Group ได้รับคัดเลือกในรอบ 2 จะช่วยให้บริษัทมีกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในพอร์ตโฟลิโอเพิ่ม และสอดคล้องเป้าหมายการเพิ่มสัดส่วนกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็น 30% ภายในปี 2573
“หากการยื่นสิทธิรอบ 2 ครั้งนี้รวม 2,180 เมกะวัตต์ เรียบร้อยแล้ว สำนักงาน กกพ.ยังมีโควตาพลังงานหมุนเวียนเหลือ 1,488 เมกะวัตต์ ที่จะเปิดรับซื้อเป็นการทั่วไปในรอบที่ 3” น.ส.จิราพร กล่าว
“ราชกรุ๊ป” ไม่ตกขบวนร่วมประมูลรอบ 2
นายนิทัศน์ วรพนพิพัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ราชกรุ๊ป มีความสนใจที่จะร่วมยื่นขายไฟจากพลังงานหมุนเวียนรอบ 2 ของ สำนักงาน กกพ.เช่นเดียวกัน โดยหากเศรษฐกิจดีจะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้น จึงขอให้รัฐบาลเร่งใช้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP 2024) ที่รองรับความต้องการใช้พลังงานสะอาดเพื่อรองรับการลงทุนในอนาคต
ทั้งนี้ ในครึ่งปีหลังของปี 2567 จะลงทุนระดับ 1 หมื่นล้านบาท เพื่อขยายธุรกิจและเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนให้ถึง 30% ในปี 2573 และ 40% ในปี 2578 โดยปัจจุบันราชกรุ๊ป มีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการลงทุนรวม 10,817.28 เมกะวัตต์ โดยเป็นกำลังผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลรวม 7,842.61 เมกะวัตต์ (72.5%) และกำลังผลิตจากพลังงานทดแทนรวม 2,974.67 (27.5%)
ลุ้นบอร์ดใหม่อนุมัติรับซื้อ1.5พันเมก
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การเปิดรับซื้อพลังงานหมุนเวียนรอบ 2 รวม 3,668 เมกะวัตต์ แม้สำนักงาน กกพ.อนุมัติกรอบเวลาการรับซื้อไว้แล้ว แต่ยังเหลือไฟสะอาดอีก 1,500 เมกะวัตต์ ที่จะต้องรอคณะกรรมการ กกพ.ชุดใหม่มาบริหารงานตามนโยบายต่อไป
อย่างไรก็ตาม สิ้นเดือน ก.ย.2567 มี กกพ.ครบวาระ 4 คน คือ 1.นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ 2.นายสุธรรม อยู่ในธรรม 3.นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ และ 4.นายสหัส ประทักษ์นุกูล โดยกระทรวงพลังงานควรเสนอชื่อคณะกรรมการสรรหาบอร์ด กกพ.ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ล่วงหน้า 1 เดือน เพื่อมีเวลาสรรหา แต่ยังไม่ดำเนินการและนายเสมอใจ ประธาน กกพ.มีอายุครบ 70 ปี ต้องพ้นจากตำแหน่ง
“เมื่อประธานพ้นตำแหน่งต้องตั้งรักษาการประธานจะทำให้การทำงานล่าช้า ดังนั้น การเปิดรับซื้อไฟสะอาดรอบ 2 ในส่วนที่เหลืออาจจะต้องรอบอร์ดชุดใหม่ที่มีอำนาจเต็มมาดำเนินการ” แหล่งข่าว กล่าว