'กัลฟ์' ชี้ Direct PPA สารพัดต้นทุน ชูนโยบาย 'UGT' รัฐการันตีไฟสะอาด

'กัลฟ์' ชี้ Direct PPA สารพัดต้นทุน ชูนโยบาย 'UGT' รัฐการันตีไฟสะอาด

"กัลฟ์" ระบุ นโยบาย "Direct PPA" สารพัดต้นทุน ย้ำทุกอย่างไม่ได้มาฟรี เดินหน้านโยบายรัฐบาล "UGT" หนุนขายไฟสะอาดดันไทยสู่เป้า Net Zero พร้อมทุ่มงบลงทุน 5 ปี 9 หมื่นล้าน

KEY

POINTS

  • นโยบาย UGT เป็นนโยบายของรัฐบาลใช้พลังงานไฟฟ้าสีเขียว โดยการสนับสนุนให้ผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนสามารถขายไฟฟ้าให้กับประชาชนผ่านระบบของ กฟผ.
  • ประชาชนก็ต้องจ่ายค่า Ft อยู่แล้ว และเมื่อมีการใช้ไฟสะอาดจากพลังงานแสงอาทิตย์ในช่วงกลางวัน เมื่อเวลากลางคืนจะไปซื้อไฟที่ราคาถูกจะไม่เป็นธรรมกับคนไทย
  • สำหรับการเปิดรับซื้อไฟสะอาดอีกกว่า 3,000 เมกะวัตต์ของกกพ. "กัลฟ์" พร้อมที่จะเข้าร่วมเสนอราคาและหวังที่จะให้ได้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ และขึ้นอยู่กับข้อเสนอ

นายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากรณีที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เห็นชอบแนวทางการดำเนินการโครงการนำร่องการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบการทำสัญญาซื้อขายพลังงานไฟฟ้าได้โดยตรง (Direct Power Purchase Agreement: Direct PPA

ผ่านการขอใช้บริการระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม (Third Party Access: TPA) ให้แก่บริษัทชั้นนำของโลกที่รัฐบาลได้เชิญชวนไว้ และสนใจเข้ามาลงทุนโดยเฉพาะในด้าน Data Center ที่มีความต้องใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนตามข้อกำหนดจากบริษัทแม่นั้น ส่วนตัวมองว่าการซื้อขายไฟฟ้าจะต้องมีการขึ้นตรงกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 

\'กัลฟ์\' ชี้ Direct PPA สารพัดต้นทุน ชูนโยบาย \'UGT\' รัฐการันตีไฟสะอาด

ทั้งนี้ รัฐบาลมีนโยบายไฟสะอาดผ่านโครงการอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว (Utility Green Tariff: UGT) ที่แบ่งเป็น UGT1 และ UGT2 อยู่แล้ว ซึ่งหากใครจะมาซื้อไฟฟ้าในส่วนนี้ รัฐบาลจะการันตีทั้งราคาและการันตีไฟฟ้าสีเขียวให้ ซึ่งในขณะนี้มีเอกชนอยากได้บริการ Direct PPA ซึ่งต้องใช้ระบบสายส่งของ กฟผ. อยู่ดี เพราะในส่วนนี้จะต้องมีต้นทุนเพิ่มเติม อาทิเช่น หากเอกชนสร้างไฟสะอาดที่ยโสธรแต่ต้องขายสะอาดมาที่ระยองจะต้องมีค่าใช้จ่ายด้านสายส่งตามระยะทางด้วยหรือไม่ 

นอกจากนี้ ปัจจุบันประชาชนก็ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) อยู่แล้ว ดังนั้นทุกอย่างจะไม่ใช่ของฟรีเพราะต้นทุนมีหลายอย่าง เช่น เมื่อมีการใช้ไฟสะอาดจากพลังงานแสงอาทิตย์ในช่วงกลางวันที่มีแสงแดด เมื่อเวลากลางคืนจะทำอย่างไร จะไปซื้อไฟที่ราคาถูกก็ไม่เป็นธรรมกับคนไทย แม้จะมี Direct PPA ก็ต้องไปดูเงื่อนไข ดังนั้น การจะทำอย่างจริงจังก็จะต้องศึกษา ซึ่งกลุ่มบริษัทฯ ก็ได้ทำที่ต่างประเทศเช่นกันแต่จะดูในเรื่องของต้นทุนเป็นหลัก โดยปัจจุบันยุโรปทำเยอะ ช่วงเกิดสงครามรัสเซียกับยูเครนราคาค่าไฟสูงมาก

นายรัฐพล ชื่นสมจิตต์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี้ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สำหรับ (ร่าง) แผนพัฒนาพลังไฟฟ้า หรือ PDP2024 ฉบับใหม่  ที่จะเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน 50% ถือเป็นสิ่งต้องเร่งทำ โดยกัลฟ์เองส่งเสริมนโยบายชาติ และช่วยลดสัดส่วนการปล่อยคาร์บอนตามสัดส่วน ซึ่งระดับจะแตกต่างกันในแต่ละปี เมื่อภาครัฐบอกว่าพลังงานหมุนเวียนต้องเยอะกัลฟ์ก็พร้อมจะลงทุน ซึ่งเอกชนก็จะต้องช่วยกัน

สำหรับการเปิดรับซื้อไฟสะอาดอีกกว่า 3,000 เมกะวัตต์ของสำนักงานกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กัลฟ์พร้อมที่จะเข้าร่วมเสนอราคาและหวังที่จะให้ได้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ ซึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับข้อเสนอ ซึ่งจากการเปิดรับรอบแรก 5,000 เมกะวัตต์ นั้น ทางกัลฟ์เป็นผู้ชนะราว 3,000 เมกะวัตต์ ซึ่งปลายปี 2567 จะเริ่ม COD จำนวน 5 โครงการ ราว 500 เมกะวัตต์ ในขณะที่โครงการพลังงานลมที่ชนะและอยู่ระหว่างรอคำสั่งศาลเพื่อลงนามในสัญญาอีก 400 เมกะวัตต์

"ภาพรวมรายได้จะเริ่มเห็นในช่วงปีหน้าเป็นต้นไป ซึ่งเราซื้ออุปกรณ์พร้อมหมดแล้ว ทั้งโซลาร์ และวิน แต่ในส่วนของวินที่ยังไม่สามารถลงนามได้เพราะอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลจากคำสั่งขอคุ้มครองชั่วคราวใน 2 กรณี ซึ่งตอนนี้เหลือกรณีเดียว ส่วนแผนลงทุน 5 ปีวางไว้อยู่ที่ 9 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นพลังงานหมุนเวียน 80% หรือที่ระดับ 7.5 หมื่นล้านบาท" นายรัฐพล กล่าว

นายรัฐพล กล่าวว่า ปัจจุบันกำลังการผลิตรวมกลุ่มกัลฟ์ที่ได้มีการ COD ไปแล้วอยู่ที่ 1.4 หมื่นเมกะวัตต์ โดยหากรวมกำลังการผลิตในต่างประเทศด้วยจะมีอยู่ที่รวม 2.3 หมื่นเมกะวัตต์ แบ่งเป็นพลังงานหมุนเวียน 8% และตั้งเป้าหมายปี 2033 จะเพิ่มเป็น36%