‘กุลิศ’พลิกเต็งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ‘กิตติรัตน์‘ ยังติดบ่วง ‘คดีการเมือง’

‘กุลิศ’พลิกเต็งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ  ‘กิตติรัตน์‘ ยังติดบ่วง ‘คดีการเมือง’

บอร์ดคัดเลือกประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ยังไม่ได้ข้อสรุปและมีประเด็นต้องพิจารณาเพิ่ม หลัง ป.ป.ช.หยิบคดีระบายข้าวบลูล็อก ของกิตติรัตน์มาสั่ง อสส.ขอฟื้นคดีต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา มีผลต่อคุณสมบัติของประธานบอร์ด ธปท. ชื่อของกุลิศ สมบัติ ศิริจึงขึ้นมาเป็นตัวเต็งแทน

KEY

POINTS

  • จับตาบอร์ดสรรหาประธานบอร์ดแบงก์ชาติ มีประเด็นเพิ่มเรื่องคุณสมบัติกิตติรัตน์เพิ่มเติม หลัง ป.ป.ช.ส่งเรื่องให้ อสส.ฟื้นคดีระบายข้าวบลูล็อก โดยเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา 
  • ประเด็นนี้ทำให้เส้นทางสู่ประธานบอร์ดแบงก์ชาติของกิตติรัตน์ยากยิ่งขึ้น เพราะขั้นตอนทางคดีใช้เวลาอีกพอสมควร ขณะที่กฎหมายกำหนดให้สรรหาภายใน 120 วัน
  • ชื่อของ "กุลิศ สมบัติศิริ" พลิกขึ้นมาเป็นตัวเต็งแทน จากคุณสมบัติเคยบริหารงานที่กระทรวงการคลัง และถือเป็นสายกลางที่ทั้งรัฐบาล และแบงก์ชาติรับได้ 
  • ประธานบอร์ดสรรหายันยึดตามข้อกฎหมาย รอฝ่ายเลขาฯและแบงก์ชาติตรวจคุณสมบัติให้รอบครอบก่อนเข้าสู่ขั้นตอนตัดสินใจ 

ความคืบหน้าล่าสุดของการเลือกประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แทนที่นายปรเมธี วิมลศิริ ที่หมดวาระเมื่อวันที่ 16 ก.ย.ที่ผ่านมา หลังจากที่กระทรวงการคลัง และธปท.ได้เสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการ ธปท.จำนวน 3 คน ได้แก่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง นายกุลิศ สมบัติศิริ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน และศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์  ศาสตราจารย์ประจำสาขากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 ทั้งนี้คณะกรรมการบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งประธานบอร์ด และกรรมการ ธปท.ที่มีนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานได้มีการประชุมเพื่อพิจารณาคัดเลือกไปแล้ว 1 ครั้งเมื่อวันที่ 9 ต.ค.ที่ผ่านมาแต่ยังไม่ได้ข้อสรุปโดยเลขานุการของคณะกรรมการได้แจ้งขอระยะเวลาในการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครเพิ่มเติม

นายสถิตย์ประธารกรรมการสรรหาฯ เปิดเผย “กรุงเทพธุรกิจ” ว่าล่าสุดยังไม่ได้รับการแจ้งจากฝ่ายเลขาฯว่าจะนัดหมายประชุมฯนัดต่อไปเมื่อไหร่ โดยเมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมาฝ่ายเลขานุการยังบอกว่าขอเวลาในการตรวจสอบคุณสมบัติให้รอบครอบถี่ถ้วนก่อน

สำหรับกรอบระยะเวลาการคัดเลือกได้วางไว้ 120 วันนับจากวันที่ประธานกรรมการคนเดิมหมดวาระแล้วสามารถรักษาการต่อไปได้ตามกฎหมาย คือตั้งแต่  16 ก.ย. 2567 ไปจนถึง 16 ม.ค.2568 แต่คาดว่าระยะเวลาในการสรรหาคงไม่ต้องใช้เวลานานถึงขนาดนั้นเชื่อว่าหลังจากที่ฝ่ายเลขาฯและคณะทำงานของ ธปท.ดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติเสร็จแล้วคณะกรรมการสรรหาฯก็จะสามารถตัดสินได้ เพราะยึดตามข้อกฎหมายที่กำหนดไว้

รายงานข่าวจาก ธปท.ระบุถึงทิศทางของการคัดเลือกประธานบอร์ด ธปท.ว่าที่ผ่านมาชื่อของนายกิตติรัตน์จะเป็นตัวเต็งที่จะได้นั่งเก้าอี้ประธานบอร์ด ธปท.แต่ปัจจุบันมีประเด็นที่คณะกรรมการต้องพิจารณาเพิ่มเติมเกี่ยวกับคุณสมบัติของนายกิตติรัตน์ รายงานข่าวจากธปท.ระบุว่าการพิจารณาคุณสมบัติของผู้จะดำรงตำแหน่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติให้น้ำหนักในเรื่องคุณสมบัติเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะข้อกำหนดที่เขียนไว้ตามกฎหมายตาม พ.ร.บ.ธปท.โดยเฉพาะคุณสมบัติที่มีความเกี่ยวข้องกับการเมือง และคุณสมบัติว่าต้องไม่เคยต้องโทษตามคำพิพากษา เช่นหากเคยต้องโทษพิพากษาให้จำคุกก็จะถือว่าขาดคุณสมบัติ

ส่วนเรื่องของคุณสมบัติที่เกี่ยวข้องกับการเมืองเป็นเรื่องที่มีการถกเถียงกันระหว่างกรรมการสรรหาอย่างมาก โดยเฉพาะในส่วนของนายกิตติรัตน์ที่เคยเป็นสมาชิกและกรรมการบริหารพรรคการเมือง เป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี (เศรษฐา ทวีสิน)

อย่างไรก็ตามในขณะนี้มีประเด็นที่กระทบกับคุณสมบัติของนายกิตติรัตน์เข้ามาเพิ่มเติม ซึ่งคณะกรรมการสรรหาต้องพิจารณาด้วยคือเรื่องที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้มีมติให้ทำหนังสือส่งไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) อุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกา ในคดีที่ศาลฎีกาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษายกฟ้อง นายกิตติรัตน์เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรมว.พาณิชย์ไม่สั่งให้มีการตรวจสอบการระบายข้าวเอื้อประโยชน์ให้เอกชนรายเดียว หรือคดีข้าวบลูล็อก

 

ทั้งนี้การส่งคดีนี้ไปให้ อสส.เสนอต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเพื่อขออุทรณ์คดีนี้ของ ปปช.เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่มีการพิจารณาคัดเลือกตำแหน่งประธานบอร์ด ธปท.ซึ่งตามขั้นตอนแล้วต้อง อสส.ต้องใช้เวลาในการพิจารณาเรื่องจาก ปปช.ว่า อสส.จะส่งให้ที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาหรือไม่ และหากส่งต่อไปอุทรณ์ยังศาลฎีกาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อให้รื้อคดีขึ้นมาพิจารณาก็จะใช้ขั้นตอนค่อนข้างยาวนานอาจทำให้ขั้นตอนการทำงานของคณะกรรมการคัดเลือกประธานและกรรมการในบอร์ด ธปท.จะต้องลากยาวออกไป

รายงานข่าวระบุว่าจากประเด็นเรื่องความเกี่ยวข้องกับการเมือง กระแสการต่อต้านการแทรกแซงความเป็นอิสระของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จากฝ่ายการเมือง รวมทั้งคดีข้าวบลูล็อกที่ ป.ป.ช.ขอให้ อสส.อุธรณ์คดีต่อศาลฎีกาฯ ทำให้เห็นได้ว่าโอกาสที่นายกิตติรัตน์จะเป็นประธานบอร์ด ธปท.คนใหม่ไม่ง่าย และมีความสุ่มเสี่ยงว่าอาจจะผิดข้อกฎหมาย ทำให้กระแสประธานบอร์ดแบงก์ชาติที่ทุกฝ่ายยอมรับได้จึงถูกจุดขึ้นมาให้ได้ยินมากขึ้น และชื่อของ “กุลิศ สมบัติศิริ” ก็เป็นชื่อที่ได้รับการคาดหมายว่ามาแรงและอาจจะได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการสรรหาฯให้ดำรงตำแหน่งสำคัญนี้แทนเพราะโดยคุณสมบัติไม่ได้มีความใกล้ชิดกับฝ่ายการเมือง ไม่มีคดีความติดตัว และมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการเงิน การคลัง เป็นอย่างดีเนื่องจากเติบโตมาจากการเป็นข้าราชการในกระทรวงการคลังก่อนที่จะข้ามห้วยไปเป็นปลัดกระทรวงพลังงาน

ชื่อของนายกุลิศจึงถูกชูขึ้นมาในฐานะชื่อที่มีคุณสมบัติครบถ้วนจะนั่งประธานบอร์ด ธปท. และเป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับ อยู่ตรงกลางระหว่างรัฐบาลและ ธปท.

เป็นประธานบอร์ดที่เป็นที่รับได้ทั้งจากฝากฝั่ง “รัฐบาล” และ “วังบางขุนพรหม”