CEO หนุนลดดอกเบี้ย ปลุกเศรษฐกิจ แนะ กนง.ลดอย่างน้อย 0.25%

CEO หนุนลดดอกเบี้ย ปลุกเศรษฐกิจ แนะ กนง.ลดอย่างน้อย 0.25%

“เอกชน” จี้ ธปท.ลดดอกเบี้ยนโยบาย “หอการค้า” แนะ กนง. ลดอย่างน้อย 0.25 ส.อ.ท.กังวลดอกเบี้ย - เงินบาทแข็งฉุดส่งออกสะดุด “ดับบลิวเอชเอ” ชี้ดอกเบี้ยสูงถึงเวลาลด “บาฟส์” เสนอลดดอกเบี้ยลง 0.25% "เอสซีบี" มองเศรษฐกิจไทยยังมีหวังจาก ททท. ‘เอกชนอสังหาฯ’ หวั่นภูมิรัฐศาสตร์กระทบซ้ำ

เศรษฐกิจไทยช่วงที่เหลือของปี 2567 ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากดีมานด์ในประเทศที่ไม่ฟื้นตัว เงินบาทแข็งค่า และอัตราดอกเบี้ยสูง รวมถึงผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และราคาพลังงาน สร้างความกังวลถึงสถานการณ์เศรษฐกิจระยะข้างหน้า

การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 16 ต.ค.2567 จึงเป็นที่จับตามองหลังประชุมครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 21 ส.ค.2567 มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง “คงอัตราดอกเบี้ย” ไว้ที่ระดับ 2.50% โดย กนง.ส่วนใหญ่มองว่าดอกเบี้ยปัจจุบันสอดคล้องการขยายตัวเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มเข้าสู่ศักยภาพ

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กกร.เตรียมเข้าพบผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ( ธปท.) เพื่อหารือเกี่ยวกับภาพรวมเศรษฐกิจ โดยไม่ได้พุ่งเป้าประเด็นค่าเงินบาท และดอกเบี้ยนโยบาย 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ขอให้ ธปท.เร่งพิจารณาลดดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างน้อย 0.25% ภายในปี 2567 และลดลงอีก 0.25-0.5% ภายในปี 2568 จะช่วยลดผลกระทบเศรษฐกิจได้เร็ว และส่งผลดีต่อ Real Sector

นอกจากนี้ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ปรับลดแล้ว และคาดว่าการประชุมครั้งต่อไปจะลดอีก เช่นเดียวกับจีนที่ประกาศลด จึงเชื่อว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงมีข้อมูลพิจารณาประกอบการตัดสินใจในการประชุม กนง.วันที่ 16 ต.ค.2567 โดยคำนึงความเหมาะสม และเป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจประเทศ

นายสนั่น กล่าวว่า คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)จะเสนอสมุดปกขาวต่อ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อเสนอ 4 ประเด็นหลักแก้ปัญหาเศรษฐกิจ คือ 1.มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 2.ช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอี 3.บริหารจัดการน้ำ ทั้งน้ำท่วม และน้ำแล้ง และ 4.เพิ่มขีดความสามารถแข่งขัน

CEO หนุนลดดอกเบี้ย ปลุกเศรษฐกิจ แนะ กนง.ลดอย่างน้อย 0.25%

สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เสนอในสมุดปกขาว เช่น มาตรการคูณ 2 มองว่า กลุ่มที่พอมีเงินเหลือถ้าดึงเงินออกจากกระเป๋าคนกลุ่มนี้ไปจับจ่ายใช้สอยลักษณะโครงการคูณ 2 จะกระตุ้นต่อเนื่องจากการแจกเงิน 10,000 บาท ในเฟสแรก โดยถ้าจ่ายเงินซื้อของ 5,000 บาท รัฐบาลให้เงินอีก 5,000 บาท 

รวมถึงควรมีมาตรการ E-Receipt หนุนผู้ที่มีรายได้นำเงินออกมาจับจ่ายใช้สอย และนำมาลดหย่อนภาษีได้ และมาตรการ “เราเที่ยวด้วยกัน” จะช่วยส่งเสริมภาคท่องเที่ยว รวมทั้งต้องการให้รัฐบาลสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ประกอบการไทย และต่างประเทศ โดยกูเกิลที่จะเข้ามาลงทุนในไทย รัฐบาลต้องลดความขัดแย้งการเมืองเพื่อให้การเมืองมีเสถียรภาพ

หวั่นดอกเบี้ย-บาทแข็งฉุดเศรษฐกิจ

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า สถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันกังวล 2 ประเด็น คือ 

1.ค่าเงินบาท ปัจจัยลบค่าเงินที่แข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบสกุลเงินอื่นในภูมิภาคเดียวกัน ไทยอันดับ 2  รองจากมาเลเซีย โดย  3 เดือนที่ผ่านมา มาเลเซียค่าเงินแข็งกว่า 12% ส่วนไทยแข็งกว่า 11%

“การส่งออก 3 เดือนที่ผ่านมา สินค้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่ไม่ค่อยมีกำไร เช่น พืชผลเกษตร อาหารสำเร็จรูปที่มีกำไรไม่ถึง 10% ดังนั้นเงินบาทแข็งค่ากว่า 11% ทำให้เมื่อแลกเป็นเงินไทยจะขาดทุน และสำคัญสินค้าล็อตใหม่ที่จะกำหนดราคา อาจต้องปรับราคาใหม่ทำให้ลูกค้าเห็นว่า แพงจึงไปประเทศอื่นที่สามารถทำราคาได้”

2.อัตราดอกเบี้ยนโยบายภูมิภาคที่อยู่ขาลงแต่ดอกเบี้ยไทยยังไม่ลด ซึ่งหากลดลงจะช่วยลดต้นทุนให้เอสเอ็มอี และประชาชน ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงถือเป็นคุณต่อการส่งออก

CEO หนุนลดดอกเบี้ย ปลุกเศรษฐกิจ แนะ กนง.ลดอย่างน้อย 0.25%

ทั้งนี้ ปัญหาค่าเงินบาททำให้เสียโอกาสจึงต้องรักษายอดส่งออกให้เติบโต โดยส่งออกปีนี้จะเป็นบวก 1.5-2.5% และมีโอกาสขยายตัวใกล้เคียง 2.5% รวมถึงท่องเที่ยวที่ค่าเงินมีผลต่อการตัดสินใจท่องเที่ยวในไทย

นอกจากนี้ กกร. ประมาณการเศรษฐกิจสอดคล้องกับสำนักวิจัยหลายแห่ง ซึ่งมองเศรษฐกิจไทยปี 2567 จะเติบโต 2.2 -2.7%

ดอกเบี้ยไทยสูงมานานถึงเวลาปรับลง

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่ยังไม่ปรับลดลงเป็นอีกเรื่องที่ต้องพิจารณา 

"ส่วนตัวเข้าใจทั้งรัฐบาล และ ธปท.จะต้องคอนโทรลสิ่งต่างๆ แต่ในฐานะผู้ประกอบการมองว่า ดอกเบี้ยนโยบายไทยมีอัตราที่สูงมานานมากแล้ว จึงคิดว่าน่าจะปรับลงบ้าง" นางสาวจรีพร กล่าว

ส่วนเงินบาทที่แข็งค่ากระทบส่งออก โดยนักลงทุนต่างประเทศที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมไม่ชอบค่าเงินที่มีความผันผวน เพราะเมื่อตกลงราคาเสร็จแล้วเงินบาทเปลี่ยนแปลงอาจทำให้ขาดทุน จึงต้องการเสถียรภาพคงที่เพราะเมื่อเข้ามาลงทุนจะมองระยะยาว 20-30 ปี จึงอาจต้องบริหารจัดการเรื่องค่าเงินเอง

ขณะที่ เศรษฐกิจไทยจะดีขึ้นเพราะการท่องเที่ยวปลายปี 2567 ทิศทางดี โดยการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ดีมากเช่นกัน ช่วยให้เงินไหลเข้าประเทศมากขึ้น อีกทั้ง  WHA ได้เซ็นสัญญาซื้อขายที่ดินกับ Google เพื่อสร้าง Data Center แห่งแรกในไทยทำให้กระแสการลงทุนดีขึ้นต่อเนื่อง

“เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ปีนี้ น่าจะดีขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากนโยบายแจกเงิน 10,000 บาท ก้อนแรกให้กลุ่มเปราะบางจึงคิดว่าจะมีการกระตุ้นการใช้เงินมากขึ้น”

“บาฟส์” เสนอลดดอกเบี้ยลง 0.25%

หม่อมหลวงณัฐสิทธิ์ ดิศกุล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ยังไม่ปรับลงส่งผลกระทบชัดเจน โดยสหรัฐประกาศลดดอกเบี้ยนโยบายแล้วแต่ไทยยังอยู่ที่เดิมเป็นการซ้ำเติมหนี้ครัวเรือน และส่งกระทบต่อค่าเงินการส่งออก และการท่องเที่ยว

"ภาวะเศรษฐกิจยังเป็นแบบนี้ ธปท.อาจปรับลง 0.25% ก็ยังดี เพื่อส่งสัญญาณ เพราะตอนนี้ต้นทุนเอกชนมีภาระหนี้สินสูงเพิ่งฟื้นตัวจากโควิดทุกอุตสาหกรรมแบกภาระ"

สำหรับเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังยังเปราะบาง บางเซคเตอร์ฟื้นตัวแต่บางเซคเตอร์หดตัว การท่องเที่ยว และธุรกิจการบินมีสัญญาณขยายตัวของจำนวนเที่ยวบิน ดังนั้น ธุรกิจท่องเที่ยวยังเป็นเครื่องจักรหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ส่วนเซคเตอร์ที่ยังไม่ดี เช่น อสังหาริมทรัพย์ และภาคผลิตชะลอตัวชัดเจน โดยโครงสร้างปัญหามาจากหนี้ครัวเรือนสูงมาก ดังนั้นรัฐบาลต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จะเป็นเครื่องจักรใหม่ประเทศ 

ส่วนปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ส่งผลต่อราคาน้ำมันแน่นอน มอง 3 มุม คือ หากสู้รบไม่บานปลายราคาน้ำมันจะอยู่ระดับเกือบ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่หากเริ่มตอบโต้ราคาจะบวกขึ้น 15 ดอลลาร์ กรณีเลวร้ายสุดหากอิหร่านปิดช่องแคบฮอร์มุซจะกระทบขนส่งน้ำมัน 1 ใน 5 ของโลก ราว 20% ดังนั้น ราคาจะบวกอีก 30 ดอลลาร์ ซึ่งจะพุ่งกว่า 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

CEO หนุนลดดอกเบี้ย ปลุกเศรษฐกิจ แนะ กนง.ลดอย่างน้อย 0.25%

“เอสซีบี” มองเศรษฐกิจไทย “ยังมีความหวัง”

นายกฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า หากดูภาพรวมเศรษฐกิจไทย เชื่อว่าไปต่อได้ คาดภาคท่องเที่ยวจะกลับมาฟื้นตัวไตรมาส 4 ปี 2567 และการที่รัฐบาลมั่นคงขึ้น ทั้งมีความพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจ จะทำให้เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ไปต่อได้

ดังนั้น หากให้นิยามเศรษฐกิจไทยมองว่า เศรษฐกิจไทย “ยังมีความหวัง” แม้จะมีความท้าทาย เพราะสถานการณ์ต่างๆ ออกมาในทิศทางดีขึ้น และหากสานต่อความมั่นใจอย่างต่อเนื่อง รวมถึงได้อานิสงส์จากไตรมาส 4 ปี 2567 จากการท่องเที่ยวฟื้นตัว ภาพรวมคงทำให้เศรษฐกิจไทยกระเตื้องขึ้น และเป็นช่วงเวลาออกสตาร์ตสำหรับปี 2568 อย่างเข้มแข็งได้

สำหรับ ทิศทางดอกเบี้ยยังมองว่าเศรษฐกิจไทยยังมีช่องว่างปรับลดดอกเบี้ยนโยบายอยู่ แต่การปรับลดดอกเบี้ยนั้นจะเกิดช่วงใดต้องติดตามดู และขึ้นกับการพิจารณาของ กนง. เป็นสำคัญ แต่อย่างไรก็ตาม การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างเดียวคงไม่ใช่คำตอบที่ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง หรือฟื้นตัวเต็มที่ได้ เพราะต้องยอมรับว่าภายใต้หนี้ครัวเรือน และหนี้เสียที่ภาคธนาคาร (แบงก์) แบกรับไว้ก็เป็นปัญหาใหญ่เป็นปัจจัยที่ภาคธนาคารกังวลอยู่ แต่ว่าการลดดอกเบี้ย เป็นการผ่อนนคลายแรงกดดัน และส่งสัญญาณเชิงบวกว่า ทุกภาคส่วนกลับมามองการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะกลาง แต่ส่วนตัวมองว่าการลดดอกเบี้ยไม่ใช่คำตอบ

ส่วนการบริหารธุรกิจธนาคารช่วงที่มีความท้าทาย เชื่อว่าทุกธนาคาร รวมถึงไทยพาณิชย์ยึดหลักความมั่นคงเป็นที่ตั้ง หากมีเซคเมนต์ไหนที่ธนาคารมองว่าเปราะบาง และน่ากังวลก็จะดูแลกลุ่มนี้เต็มที่ ทั้งการผ่อนผันเกี่ยวกับการผ่อนชำระ การปรับโครงสร้างหนี้ และลูกหนี้ที่สามารถเติบโตต่อไปได้ ธนาคารก็ต้องสนับสนุนอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

“แมกซ์บิท” กังวลเงินบาทแข็งค่า

นายปกเขตร รัชกิจประการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แมกซ์บิท ดิจิทัล แอสเซท จำกัด (MAXBIT) กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่น่ากังวล คือ การแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์ นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาแนวโน้มลดอัตราดอกเบี้ยทั่วโลก คาดว่าไทยอาจดำเนินนโยบายลดดอกเบี้ยตาม ซึ่งอาจส่งผลดีต่อเศรษฐกิจปีหน้า แม้อาจเห็นผลช้ากว่าประเทศอื่นบ้างแต่โดยรวมมีแนวโน้มที่จะดีต่อเศรษฐกิจไทยแน่นอน

ส่วนเศรษฐกิจโลก และการเลือกตั้งสหรัฐนั้นมองว่านโยบาย “America First” ของ โดนัลด์ ทรัมป์ อาจส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโลก และประเทศไทยรวมทั้งในมุมมองของวงการคริปโทเคอร์เรนซีมีแนวโน้มสนับสนุนให้ทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง เนื่องจากนโยบาย และความเห็นช่วงหาเสียงค่อนข้างเป็นมิตรต่อวงการสินทรัพย์ดิจิทัล

ตรงกันข้าม หากพิจารณานโยบาย คามาลา แฮร์ริส ซึ่งมีแนวคิดคล้ายไบเดน อาจคาดได้ว่าหากเธอได้รับเลือกนโยบายที่จะถูกนำมาใช้อาจไม่เอื้อต่อวงการคริปโทฯ มากนัก อาจเป็นการสานต่อแนวทางเดิมที่ไม่ค่อยเป็นมิตรกับอุตสาหกรรมนี้

นอกจากนี้ หากพิจารณาจากสถิติย้อนหลังของ “บิตคอยน์” ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ไตรมาสสุดท้ายของปีเป็นช่วงเวลาที่ดีตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล โดยเฉพาะในแง่ราคา ปริมาณซื้อขายที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

อสังหาฯ ชงลดดอกเบี้ยกลุ่มเปราะบาง

นางสาวเกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ 9 เดือนที่ผ่านมา ทำตลาดยากลำบากอัตราดอกเบี้ย และหนี้ครัวเรือนสูงทำให้กู้ไม่ผ่านเพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาที่อยู่อาศัยสูงขึ้นส่งผลให้การเข้าถึงที่อยู่อาศัยของคนไทยยากขึ้น

"แนวโน้มปี 2568 ภาวะหนี้ครัวเรือน เศรษฐกิจยังไม่ดีในฐานะผู้ประกอบการ อยากให้รัฐบาลลดดอกเบี้ยให้กลุ่มเปราะบางดีกว่าการลดราคาบ้าน หากลดดอกเบี้ยจะทำให้อัตราผ่อนลดลง ส่งผลดีต่อคนซื้อบ้าน รวมถึงปลดล็อกมาตรการควบคุมสินเชื่อ หรือมาตรการแอลทีวี รัฐต้องมีมาตรการอุดหนุนช่วยให้คนมีโอกาสซื้อบ้านได้ง่ายขึ้น”

สำหรับความหวังอสังหาริมทรัพย์ไตรมาส 4 รอดูบรรยากาศการจับจ่าย ภาคท่องเที่ยวยังส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจ แต่สิ่งที่น่าห่วงสุด คือ ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สะสมมานานกว่า 10 ปี และมีสัดส่วนสูง 90% การลดหนี้ครัวเรือนลงให้เหลือ 70% เพื่อเกิดสมดุลไม่ใช่เรื่องง่าย

หวั่นภูมิรัฐศาสตร์สะเทือนเศรษฐกิจ

นายอุทัย อุทัยแสงสุข กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจ 3 ไตรมาสแรกโตช้า แม้ภาพรวมเศรษฐกิจดีกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งไตรมาส 4 เริ่มมีเงินสนับสนุนจากรัฐบาล 10,000 บาท อาจช่วยกระตุ้นดีขึ้นจากช่วงไฮซีซันท่องเที่ยว

“แต่มีเรื่องที่น่ากังวล คือ ความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์สงคราม อิหร่าน-อิสราเอล และค่าเงินบาทแข็งซึ่งมีความสัมพันธ์กับดอกเบี้ย ในฐานะบริษัทอสังหาริมทรัพย์ รอความหวังว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะเข้ามาสนับสนุนดูแล โดยเฉพาะดอกเบี้ยเป็นต้นทุนของทุกคน”

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์