'การบินไทย' เปิด 4 กลยุทธ์ สร้าง 'จุดแข็ง' ฝ่าวิกฤตการบินแข่งเดือด
"การบินไทย" 9 เดือนแรกโกยรายได้รวม 115,897 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.2% เดินหน้าปรับโครงสร้างทุน เคลื่อนองค์กรสู่ขั้นตอนสุดท้ายก้าวพ้นแผนฟื้นฟูกิจการ เปิด 4 พันธกิจ ยกระดับบริการ เฟ้นหารายได้ ลดต้นทุน และมุ่งกรอบพัฒนาอย่างยั่งยืน
KEY
POINTS
- "การบินไทย" 9 เดือนแรกโกยรายได้รวม 115,897 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.2% ดันเงินสดพุ่ง 8 หมื่นล้านบาท เดินหน้าปรับโครงสร้างทุน เคลื่อนองค์กรสู่ขั้นตอนสุดท้ายก้าวพ้นแผนฟื้นฟูกิจการ
- เปิด 4 พันธกิจสำคัญ ยกระดับสู่การเป็นสายการบินคุณภาพสูงที่ตอบโจทย์ผู้โดยสาร ผ่านการพัฒนาบริการ เฟ้นหารายได้ ลดต้นทุน และมุ่งกรอบพัฒนาอย่างยั่งยืน
- มุ่งพัฒนาและปรับปรุง "จุดขาย" ด้านเส้นทางบินตรง สู่การเป็น "จุดแข็ง" จับมือพันธมิตร หนุนไทยขึ้นแท่นศูนย์กลางการบินเชื่อมต่อรูทในเอเชียแปซิฟิก และออสเตรเลีย
บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ขณะนี้ก้าวเข้าสู่ปลายทางของแผนฟื้นฟูกิจการ หลังจากก่อนหน้านี้ประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2554 – 2564 มีส่วนทุนติดลบ 7 หมื่นล้านบาท หนี้ 1.3 แสนล้านบาท และเจ้าหนี้ 1.3 หมื่นราย จนท้ายที่สุดต้องยื่นขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง เมื่อวันที่ 14 ก.ย.2563 ก่อนที่ศาลล้มละลายกลางจะเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการ วันที่ 20 ต.ค.2565
กระทั่งล่าสุดประกาศผลการดำเนินงานในงวด 9 เดือนแรกของปี 2567 พบว่าบริษัทและบริษัทย่อยมีรายได้รวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) ทั้งสิ้น 135,810 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีรายได้รวม 115,897 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 17.2%
นอกจากนี้ บริษัทและบริษัทย่อยยังมีส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทและบริษัทย่อยติดลบจำนวน 27,941 ล้านบาท ติดลบลดลงจากวันที่ 31 ธ.ค. 2566 จำนวน 15,201 ล้านบาท และจากผลประกอบการที่เป็นบวก บริษัทมีเงินสด ตั๋วเงินฝาก เงินฝากประจำที่มีระยะเวลาที่ครบกำหนดชำระมากกว่า 3 เดือน แต่ไม่เกิน 1 ปี และหุ้นกู้ที่ครบกำหนดภายใน 1 ปี 82,587 ล้านบาท ณ วันที่ 30 ก.ย. 2567
ซึ่งจากการดำเนินงานที่เป็นบวกต่อเนื่อง ทำให้การบินไทยสามารถชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการไปแล้วรวมทั้งสิ้น 3,531 ล้านบาท และปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนเดินหน้าปรับโครงสร้างทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการ หลังจากแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวน (ไฟลิ่ง) สำหรับการใช้สิทธิแปลงหนี้เป็นทุนของบริษัทฯ ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ให้มีผลใช้บังคับเป็นที่เรียบร้อยแล้วในวันที่ 18 พ.ย. 2567
โดย “ทวิโรจน์ ทรงกำพล” ประธานเจ้าหน้าที่สายกลยุทธ์องค์กร และ “กรกฎ ชาตะสิงห์” ประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์ ได้ออกมาเปิดเผยถึง จุดเริ่มต้นและแนวคิดเบื้องหลังความสำเร็จของการบินไทย ที่มาพร้อมกับกลยุทธ์ใหม่ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน พัฒนาการบริการให้เต็มรูปแบบ และยกระดับสู่การเป็นสายการบินคุณภาพสูงที่ตอบโจทย์ผู้โดยสาร สะท้อนถึงพันธกิจสำคัญ “บินไกลกว่าเดิมด้วยความภูมิใจของคนไทย”
โดยขับเคลื่อน “การบินไทย” ด้วย 4 พันธกิจสำคัญ ประกอบด้วย
1.พัฒนาและยกระดับประสบการณ์ที่ส่งมอบให้ลูกค้า โดยยึดโยงความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก
2.ขยายโอกาสและความสามารถในการหารายได้
3.เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันด้านต้นทุน
ไม่ว่าจะเป็นการบริหารต้นทุนฝูงบิน เครื่องยนต์ ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญในการทำธุรกิจการบิน ในมิติของกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ในภาพรวมได้ปรับปรุงกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ลดระยะเวลาในการจัดหาอุปกรณ์และวัตถุดิบต่างๆ ที่มาใช้ในการดำเนินธุรกิจ
4.มุ่งเน้นดำเนินธุรกิจภายในกรอบพัฒนาอย่างยั่งยืน
โดยให้ความสำคัญกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งในมิติของสิ่งแวดล้อม สังคม และขาดไม่ได้ คือ ความซื่อตรง โปร่งใส ผ่านการกำกับดูแลกิจการที่มีประสิทธิภาพ
ส่วนในมิติการแข่งขันใช้จุดแข็งของไทยที่เป็นศูนย์กลางการบินที่ทั่วโลกยอมรับ โดยจะเน้นการขยายโครงข่ายเส้นทางบิน (เน็ตเวิร์ค) เช่น ผู้โดยสารยุโรป นอกจากนักท่องเที่ยวจะเดินทางมาเพื่อเที่ยวไทยแล้ว หลังจากนี้จะกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวนึกถึงประเทศไทยเพื่อเป็นจุดต่อเครื่องไปยังจุดหมายปลายทางอื่นๆ อาทิ ออสเตรเลีย และอีกหลายประเทศในเอเชียแปซิก
นอกจากนี้ ส่วนสำคัญคือการเพิ่มขีดความสามารถสู่สถานะองค์กรเอกชน ซึ่งคนเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดขององค์กร และที่ผ่านมา การบินไทยมุ่งเน้นยกระดับขีดความสามารถของคนในองค์กร พัฒนาคุณค่าหลักขององค์กรให้เกิดวัฒนธรรมในองค์กรใหม่ที่มีสถานะเป็นเอกชน และปฏิรูปโครงข่าย ระบบดิจิทัล นำเทคโนโลยีสมัยมาใช้งาน โดยคาดหวังการก้าวเป็นองค์กรที่ใช้ดิจิทัลอย่างสมบูรณ์แบบ
ขณะเดียวกัน อีกปัจจัยที่จะทำให้องค์กรเติบโต คือการมุ่งพัฒนาและปรับปรุง “จุดขาย” ของการบินไทยอย่างเส้นทาง “บินตรง” เพราะปัจจุบันต้องยอมรับว่าหลายเส้นทางมีการแข่งขันสูง เช่น เส้นทางบินในยุโรป แต่การบินไทยเข้าไปเปิดจุดบินตรง 10 จุด เป็นจุดขายที่สามารถสร้างการแข่งขันได้ และการบินไทยใช้จุดขายนี้ทำงานกับพันธมิตรสายการบินอื่น พัฒนาจุดบินเหล่านี้ให้เป็น “เกตเวย์” สร้างความแตกต่างให้กับการบินไทย สร้างความสะดวกในการต่อเครื่อง โดยพันธกิจและกลยุทธ์เหล่านี้ จะทำให้การบินไทยแข่งขันได้