เปิดพื้นที่เป้าหมาย 'สุขุมวิท-สีลม' เก็บค่าธรรมเนียมรถติด ดึงเงินเข้ากองทุนซื้อรถไฟฟ้า

เปิดพื้นที่เป้าหมาย 'สุขุมวิท-สีลม' เก็บค่าธรรมเนียมรถติด ดึงเงินเข้ากองทุนซื้อรถไฟฟ้า

“สุริยะ” ลุยเก็บค่าธรรมเนียมรถติด เปิดพื้นที่เป้าหมายใจกลางเมืองตามแนวรถไฟฟ้า หวังดึงรายได้เข้ากองทุน “Infrastructure fund” ซื้อคืนรถไฟฟ้าจากเอกชน เผย “คลัง” อยู่ระหว่างศึกษารายละเอียด คาดสรุปกลางปี 2568 พร้อมเปิดกว้างระดมทุนจากประชาชน ดันวงเงินครบ 2 แสนล้าน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงแนวทางการซื้อสัมปทานบริหารโครงการรถไฟฟ้าจากภาคเอกชนกลับมาเป็นของรัฐบาล โดยระบุว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างศึกษารายละเอียดจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน หรือ Infrastructure fund ขนาดประมาณ 2 แสนล้าน เพื่อนำมาซื้อคืนรถไฟฟ้าจากการบริหารของเอกชน

ซึ่งจากเดิมเป็นสัญญา PPP Net Cost หรือเอกชนได้รับสิทธิในการลงทุน ระบบเดินรถ และให้บริการเดินรถ พร้อมทั้งเป็นผู้จัดเก็บรายได้ รวมถึงจัดสรรผลตอบแทนบางส่วนให้แก่ภาครัฐตามข้อตกลงในสัญญา จะเปลี่ยนมาเป็นรูปแบบ PPP Gross Cost ที่ภาครัฐเป็นผู้จัดเก็บรายได้เองทั้งหมด โดยจ่ายค่าจ้างเอกชนจากการจ้างบริหารการเดินรถ

อย่างไรก็ดี การจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน สืบเนื่องจากก่อนหน้านี้รัฐบาลมีนโยบายที่จะปรับลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาททุกสายภายใน ก.ย.2568 ซึ่งจะตั้งเป็นกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม และนำเงินมาจากรายได้ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เงินจากกองทุนอนุรักษ์พลังงาน และเงินจากงบประมาณภาครัฐ มาจ่ายชดเชยส่วนต่างรถไฟฟ้าที่จะปรับลง

แต่หลังจากนั้นรัฐบาลมีแนวคิดในการซื้อคืนรถไฟฟ้า เพื่อนำกลับมาบริหาร และควบคุมค่าโดยสาร จึงมอบหมายให้กระทรวงการคลัง ศึกษารูปแบบในการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยเบื้องต้นจะนำเงินมาจากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด หรือ Congestion Charge ซึ่งเป็นโมเดลที่หลายประเทศนิยมใช้ รวมไปถึงจะเปิดกว้างระดมทุนจากประชาชน คล้ายกับกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย หรือ Thailand Future Fund (TFF)

นายสุริยะ กล่าวด้วยว่า จากการศึกษาของสำนักงานนโยบาย และแผนการขนส่ง และจราจร (สนข.) พบว่าพื้นที่ที่การจราจรติดขัด และอยู่โดยรอบแนวรถไฟฟ้า ซึ่งเป็นเป้าหมายในการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติดนั้น อาทิ สุขุมวิท สีลม เอกมัย ท่องหล่อ และรัชดา ซึ่งพื้นที่เหล่านี้ปัจจุบันมีทางเลือกในการเดินทางหลากหลาย มีแนวรถไฟฟ้าตัดผ่าน ดังนั้นหากประชาชนจะนำรถยนต์เข้าไปในพื้นที่ดังกล่าว ในอนาคตจะต้องเสียค่าธรรมเนียม และนำเงินดังกล่าวเข้ากองทุนโครงสร้างพื้นฐาน

ขณะที่รายละเอียดของกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ปัจจุบันต้องรอกระทรวงการคลังศึกษารายละเอียดที่ชัดเจน คาดว่าจะแล้วเสร็จในกลางปี 2568 แต่เบื้องต้นคาดว่ากองทุนจะมีระยะเวลาลงทุน 30 ปี ขนาดประมาณ 2 แสนล้านบาท เมื่อมีการระดมทุนจากประชาชนแล้ว แน่นอนว่าต้องการันตีผลตอบแทนรายปี และให้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งเชื่อว่าจะคุ้มค่าต่อการลงทุน

ส่วนการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด จะจัดเก็บในอัตราเพิ่มขึ้น อาทิ ใน 5 ปีแรกจัดเก็บคันละ 50 บาท หลังจากนั้นจะจัดเก็บคันละ 80 บาท เป็นต้น คาดว่าจะได้รายได้ส่วนนี้ประมาณ 1 หมื่นล้านบาทต่อปี เนื่องจากเมื่อมีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติดแล้วเชื่อว่าจะมีปริมาณการจราจรในพื้นที่ดังกล่าวลดลง จากปัจจุบัน สนข.ศึกษาพบว่ามีปริมาณการจราจรในพื้นที่เหล่านี้ราว 7 แสนคันต่อวัน

นายสุริยะ กล่าวด้วยว่า การดำเนินงานทั้งหมดนี้เพื่อผลักดันเป้าหมายลดราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าเหลือ 20 บาททุกสาย ซึ่งขณะนี้กระทรวงฯ มั่นใจว่าจะดำเนินการได้ตามเป้าหมาย ก.ย.2568 เพราะกระทรวงฯ อยู่ระหว่างผลักดันร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. .... คาดว่าจะเข้าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ภายในเดือนธ.ค.นี้ เมื่อ พ.ร.บ.ดังกล่าวมีผลบังคับใช้ก็จะสามารถปรับลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาททุกสายได้ทันที

แต่หากกระทรวงการคลังศึกษาจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานแล้วเสร็จก่อน ก็จะนำเงินส่วนนี้มาจัดซื้อคืนรถไฟฟ้าจากเอกชน และปรับลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาททุกสายทันที ส่วนกรณีภายหลังซื้อคืนรถไฟฟ้าแล้ว จะกระทบต่อภาคการลงทุนรถไฟฟ้าในอนาคต กระทรวงฯ มองว่าจะไม่มีผลกระทบ เนื่องจากหลังจากนี้จะยังคงมีการประมูลรถไฟฟ้าสายใหม่เช่นเดิม แต่จะปรับรูปแบบการลงทุนเป็น PPP Gross Cost ที่ภาครัฐเป็นผู้จัดเก็บรายได้เองทั้งหมด และจ้างเอกชนเดินรถ เกิดประโยชน์ในด้านการควบคุมบริการ และราคาค่าโดยสาร เพื่อประชาชนด้วย

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์