“คลัง” เปิดเอกสารตอบโต้ “ดิไอคอน” สศค.ไม่มีอำนาจพิจารณาแผนธุรกิจ “ขายตรง”
สศค.ออกเอกสารชี้แจงกรณี “ดิไอคอน” ยืนยันไม่มีอำนาจพิจารณาแผนธุรกิจขายตรงที่ยื่นขอใบอนุญาตกับ สคบ. ชี้อำนาจ สศค.ตรวจสอบ พ.ร.ก.กู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน
จากกรณีบริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป จำกัด ถูกตรวจสอบการดำเนินธุรกิจขายตรงที่ยื่นขอใบอนุญาตกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และมีการระบุว่าได้รับการพิจารณาจากกระทรวงการคลัง
รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง ระบุว่า สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้ทำหนังสือถือสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เมื่อวันที่ 20 ก.ค.2561 เพื่อขอให้ สศค.พิจารณาข้อหารือลักษณะการประกอบธุรกิจ และได้ส่งแผนธุรกิจ และแผนการตลาด พร้อมสำเนาเอกสารหลักฐานของบริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป จำกัด เพื่อหารือการประกอบ ธุรกิจของบริษัท มีข้อเท็จจริง ดังนี้
1.บริษัทได้จดทะเบียนจัดตั้งกับกระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.2561 โดยในช่วงปี 2561 บริษัทยังมิได้มีการดำเนินธุรกิจหรือมีผู้เสียหายที่เกิดจากการประกอบธุรกิจของบริษัท ประกอบกับในขณะนั้น สศค.ไม่ได้รับเรื่องร้องเรียนใดๆ เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว
2.จากการตรวจสอบในระบบจดทะเบียนผู้ประกอบธุรกิจขายตรง และตลาดแบบตรงของสำนักงาน สคบ.พบว่า บริษัท ได้จดทะเบียนธุรกิจตลาดแบบตรงกับ สคบ.เมื่อวันที่ 2 ส.ค.2562
3.สศค.มิได้มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาแผนธุรกิจของบริษัท หรือผู้ประกอบธุรกิจรายใดๆ ที่จะมา ขอจดทะเบียนขายตรงหรือตลาดแบบตรงกับ สคบ.เนื่องจากในทางปฏิบัติ สศค.มิได้เข้าตรวจหรือหารือกับบริษัทโดยตรงหากให้ความเห็นในประเด็นดังกล่าวไป อาจจะเกิดความคลาดเคลื่อน และส่งผลให้มีผู้นำความเห็นนั้นไปใช้โดยไม่ถูกต้องในภายหลัง
ทั้งนี้ สศค.มีหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินการรับเรื่องราวร้องทุกข์จากผู้ได้รับความเสียหายจากธุรกิจการเงินนอกระบบ รวมทั้งการดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน ศึกษา วิเคราะห์การดำเนินงานของผู้ประกอบธุรกิจการเงินนอกระบบเพื่อตรวจสอบการกระทำความผิดในเบื้องต้น
รวมทั้งประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อการฟ้องร้องและต่อสู้คดี ศึกษา วิเคราะห์ และเสนอความเห็นในการยึด และอายัดทรัพย์สิน
4.ในส่วนของแนวทางปฏิบัติของ สศค.ในเรื่องการตอบข้อร้องเรียนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั้น สศค.จะดำเนินการตอบข้อร้องเรียนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยพิจารณาจากเอกสารที่ได้รับเท่านั้น
ถ้าในข้อร้องเรียนใดพิจารณาแล้วน่าจะเข้าข่ายเป็นความผิดตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินฯ หรือข้อร้องเรียนนั้นอาจจะเข้าข่ายเป็นความผิดตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงิน และมีผู้เสียหายเกิดขึ้น
สศค.จะดำเนินการส่งเรื่องดังกล่าว ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการสืบสวน สอบสวน หาพยานหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อดำเนินคดีต่อไป โดยตรง และจะมีหนังสือตอบกลับหน่วยงานที่ส่งเรื่องร้องเรียนดังกล่าว เช่น สคบ. เป็นต้น
นอกจากนี้ ในประเด็นพฤติการณ์ที่เข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 4 วรรคแรกแห่งพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 ต้องเข้าองค์ประกอบทั้ง 3 ข้อ ดังนี้
1.มีการโฆษณาหรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชนหรือกระทำด้วยประการใดๆ ให้ปรากฏแก่ บุคคลตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ซึ่งการโฆษณาหรือประกาศจะกระทำด้วยวิธีการใดๆ ก็ได้ เช่น การแจกเอกสาร การเผยแพร่ทางสื่อต่างๆ หรือเป็นการบอกกล่าวระหว่างกันของบุคคลในลักษณะปากต่อปาก เป็นต้น
2.มีการให้สัญญาว่าจะจ่ายหรืออาจจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนจากการเข้าร่วมการลงทุนซึ่งการจ่าย ผลตอบแทนจะจ่ายเป็นเงิน ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใดก็ได้ โดยผลประโยชน์ตอบแทน ที่จะจ่ายให้นั้นเป็นอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืม ของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้
3.ผู้ชักชวนหรือบุคคลอื่นนำเงินจากผู้เข้าร่วมลงทุนรายใหม่มาหมุนเวียนจ่ายให้กับผู้ลงทุนรายก่อน หรือผู้ชักชวนหรือบุคคลอื่นไม่สามารถประกอบกิจการใดๆ โดยชอบด้วยกฎหมายที่จะให้ผลประโยชน์ตอบแทน พอเพียงที่จะนำมาจ่ายในอัตรานั้นได้
นอกจากนี้ในการพิจารณาว่าเป็นการประกอบธุรกิจที่อาจเข้าข่ายเป็นการขายตรงแอบแฝงแบบแชร์ลูกโซ่ที่อาจจะเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.ก. การกู้ยืมเงินนั้น จะต้องมีการสัญญาว่า จะจ่ายผลตอบแทน หรือเสนอผลตอบแทนจากการหาสมาชิก มิใช่การได้ผลตอบแทนจากการขายสินค้า
และมีการชักจูงว่าจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนในอัตราที่สูง ทั้งนี้การพิจารณาว่าจะเข้าข่ายเป็นการกระทำ ความผิดตาม พ.ร.ก. การกู้ยืมเงิน ต้องพิจารณาข้อเท็จจริง และรายละเอียดเป็นรายกรณีๆ ไป
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์