ส่องรายได้ 'การท่าเรือ' กว่า 1.6 หมื่นล้าน พร้อมเดินหน้าพลิกโฉม 'คลองเตย'
เปิดรายได้ย้อนหลัง 5 ปี "การท่าเรือ" เติบโตต่อเนื่อง ปีนี้ทะลุ 1.67 หมื่นล้านบาท โกยกำไรกว่า 7.4 พันล้านบาท รับการขนส่งสินค้าทางเรือขยายตัว ระบุมีแผนลงทุน 5 โครงการในอนาคต พร้อมเดินหน้าพลิกโฉม "ท่าเรือคลองเตย" สู่ Smart Community
KEY
POINTS
- เปิดรายได้ย้อนหลัง 5 ปี "การท่าเรือ" เติบโตต่อเนื่อง ปีนี้ทะลุ 1.67 หมื่นล้านบาท โกยกำไรกว่า 7.4 พันล้านบาท รับการขนส่งสินค้าทางเรือขยายตัว
- สถิติท่าเรือแหลมฉบังมีปริมาณตู้สินค้าในปีงบประมาณ 2567 ระหว่าง ต.ค. 2566 - ก.ย.2567 สูงถึง 9.46 ล้านทีอียู เพิ่มขึ้นจากในปีงบประมาณ 2566 (1 ต.ค. 2565 - 30 ก.ย. 2566) ที่มีปริมาณตู้สินค้าจำนวน 8.67 ล้านทีอียู
- ระบุมีแผนลงทุน 5 โครงการในอนาคต พร้อมเดินหน้าพลิกโฉม "ท่าเรือคลองเตย" สู่ Smart Community คาดทบทวนผลการศึกษาแล้วเสร็จในปี 2568
การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เป็นหนึ่งในองค์กรรัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้แผ่นดินสูงอย่างต่อเนื่อง โดยในปีงบประมาณ 2567 นำส่งรายได้แผ่นดิน จำนวน 5,855 ล้านบาท แบ่งเป็น งวดที่ 2 ของปีงบประมาณ 2566 จำนวน 2,703 ล้านบาท และงวดที่ 1 ของปีงบประมาณ 2567 จำนวน 3,152 ล้านบาท
ซึ่งการนำส่งรายได้แผ่นดินจำนวนมากนั้น สืบเนื่องจากภาพรวมรายได้ของ กทท.เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับการขยายตัวของขนส่งสินค้าทางเรือ โดยเฉพาะท่าเรือแหลมฉบังที่มีปริมาณตู้สินค้าในปีงบประมาณ 2567 (ต.ค. 2566 - ก.ย.2567) สูงถึง 9.46 ล้านทีอียู เพิ่มขึ้นจากในปีงบประมาณ 2566 (1 ต.ค. 2565 - 30 ก.ย. 2566) ที่มีปริมาณตู้สินค้าผ่านท่าเรือแหลมฉบังจำนวน 8.67 ล้านทีอียู
อย่างไรก็ดี จากปริมาณการขนส่งสินค้าทางเรือที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง พบว่าสถิติรายได้ย้อนหลัง 5 ปีของการท่าเรือแห่งประเทศไทย มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน โดยมีรายละเอียดดังนี้
- ปี 2563 มีรายได้ 14,631 ล้านบาท
- ปี 2564 มีรายได้ 15,645 ล้านบาท
- ปี 2565 มีรายได้ 16,075 ล้านบาท
- ปี 2566 มีรายได้ 16,256 ล้านบาท
- ปี 2567 มีรายได้ 16,759 ล้านบาท
การท่าเรือฯ ยังมีกำไรเติบโตในทุกปี ดังนี้
- ปี 2563 มีกำไร 5,630 ล้านบาท
- ปี 2564 มีกำไร 6,269 ล้านบาท
- ปี 2565 มีกำไร 6,276 ล้านบาท
- ปี 2566 มีกำไร 6,665 ล้านบาท
- ปี 2567 มีกำไร 7,477 ล้านบาท
ท่ามกลางการเติบโตของผลประกอบการ การท่าเรือฯ ยังกำหนดโครงการลงทุนที่อยู่ในงานดำเนินการในอนาคต 5 โครงการ เพื่อสนับสนุนการขนส่งสินค้า พัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์สู่การสร้างรายได้ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่โดยรอบท่าเรือ ประกอบด้วย
1.โครงการพัฒนาท่าเรือทางบก (Dry Port)
2.โครงการพัฒนาเส้นทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพและทางพิเศษ สายบางนา - อาจณรงค์ (S1)
3.โครงการพัฒนาท่าเรือฝั่งตะวันตกเป็นท่าเรือกึ่งอัตโนมัติ บริเวณท่าเรือกรุงเทพ
4.โครงการพัฒนาศูนย์กระจายสินค้าท่าเรือกรุงเทพและศูนย์การเชื่อมโยงการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ
5.โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อเป็น Smart Community บริเวณท่าเรือกรุงเทพ
โดยการพัฒนาท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) ในครั้งนี้ หลายคนจับตามองสู่การพลิกโฉมพื้นที่ใจกลางเมือง พัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่มีอยู่ 2,353 ไร่ให้ก่อเกิดรายได้ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่ง กทท.ระบุว่า ปัจจุบันอยู่ในช่วงทบทวนแผนพัฒนาท่าเรือกรุงเทพที่เคยศึกษาไว้ในปี 2562 คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2568 ทำให้แผนพัฒนาท่าเรือกรุงเทพเห็นเป็นรูปธรรม และสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน รวมไปถึงรับฟังความเห็นของประชาชนในพื้นที่ด้วย
ทั้งนี้ กทท.ยืนยันว่าจะยังคงพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ให้เป็น Smart Community (สมาร์ทคอมมูนิตี้) รูปแบบการพัฒนาโครงการผสมผสาน หรือ มิกซ์ยูส มีที่อยู่อาศัยแนวสูง คอนโดมิเนียม และศูนย์แสดงสินค้า ซึ่งเบื้องต้นได้จัดสรรแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินของพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพ 2,353 ไร่ ออกเป็น 7 ส่วน ประกอบด้วย
- พื้นที่ในเขตรั้วศุลกากรใช้ในกิจการ กทท. ประมาณ 943.2 ไร่
- พื้นที่นอกเขตรั้วศุลกากรใช้ในกิจการ กทท. 149.2 ไร่
- พื้นที่หน่วยงานของรัฐขอใช้ 150.2 ไร่
- พื้นที่หน่วยงานของรัฐเช่าใช้ประโยชน์ 152.2 ไร่
- พื้นที่เอกชนเช่า 521.16 ไร่
- พื้นที่ชุมชนแออัด 232.1 ไร่
- พื้นที่ทางสัญจร (ถนน ทางรถไฟ คลอง) 203.1 ไร่