'การบินไทย' คืนสิทธิ์ MRO อู่ตะเภา เตรียมจับมือพันธมิตรร่วมประมูล

'การบินไทย' คืนสิทธิ์ MRO อู่ตะเภา เตรียมจับมือพันธมิตรร่วมประมูล

“การบินไทย” เดินหน้าเจรจาพันธมิตรร่วมทุนพัฒนา “ศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา” หลัง กพอ. ไฟเขียวแก้มติคณะรัฐมนตรี คืนสิทธิ์พัฒนาเพียงรายเดียว หนุน EEC เปิดกว้างจัดหาเอกชนร่วมลงทุน

KEY

POINTS

  • กพอ. ไฟเขียวแก้มติคณะรัฐมนตรี คืนสิทธิ์ "การบินไทย" พัฒนาศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภาเพียงรายเดียว หนุน EEC เปิดกว้างจัดหาผู้เช่าที่ดินราชพัสดุ เพื่อดำเนินกิจกรรมศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน
  • "การบินไทย" ชี้ศึกษาโครงการลงทุนแล้วเสร็จ ประเมินใช้งบ 1 หมื่นล้านบาท ย้ำโครงการมีความสำคัญต่อธุรกิจ เหตุฝูงบินเพิ่มต่อเนื่อง และยังมีลูกค้าในมือ
  • เดินหน้าเจรจาพันธมิตร เผย "บางกอกแอร์เวย์ส" สนร่วมทุน ชี้หากปิดดีลสำเร็จ มีฝูงบินใช้บริการรวมมากกว่า 100 ลำ และยังเป็นศูนย์ซ่อมฯ คนไทยเป็นเจ้าของ 100%

ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 4/2567 โดยมีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน เมื่อวันที่ 11 ต.ค.ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) อู่ตะเภา ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะส่งผลให้เกิดการลงทุนในโครงการนี้

โดยโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา ก่อนหน้านี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2561 มอบให้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ดำเนินโครงการศูนย์ซ่อมฯ ดังกล่าวบนพื้นที่ 210 ไร่ หลังจากนั้นการบินไทยได้ออกประกาศเชิญชวน และคัดเลือกเอกชนด้วยวิธีคัดเลือกแบบเฉพาะเจาะจง

ผลการคัดเลือกพบว่า บริษัท Airbus S.A.S (แอร์บัส) ผ่านคุณสมบัติและมีประสบการณ์เหมาะสมตามที่การบินไทยกำหนดไว้ แต่ท้ายที่สุดการเจรจาร่วมทุนยังไม่เป็นผล และอุตสาหกรรมการบินต้องเจอวิกฤตโควิด-19 จึงทำให้ทางแอร์บัสถอนตัวร่วมลงทุน

ขณะที่สถานะปัจจุบันโครงการดังกล่าว ตลอดระยะเวลาราว 6 ปีที่ผ่านมายังไม่มีความคืบหน้า สืบเนื่องจากการบินไทยเผชิญวิกฤติทางการเงิน ทำให้ต้องยื่นศาลล้มละลายกลางเพื่อฟื้นฟูกิจการ ก่อนจะพ้นจากสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจในปี 2563 โครงการนี้จึงต้องนำกลับมาพิจารณาความเหมาะสมของการลงทุนใหม่ เพราะเมื่อการบินไทยเป็นบริษัทเอกชน ทำให้ไม่สามารถเป็นหน่วยงานเจ้าของโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ตามมติ ครม.เดิมได้

ทั้งนี้ กพอ. ได้มีมติเห็นชอบการปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินโครงการ โดยให้ยกเลิกการเป็นโครงการร่วมลงทุนตามที่ ครม. อนุมัติไว้ เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2561 และให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ดำเนินการจัดหาผู้เช่าที่ดินราชพัสดุ เพื่อดำเนินกิจกรรมศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ตามมาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 และระเบียบคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข การเช่าที่ดินราชพัสดุที่ประกาศเป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. 2562

โดยมติที่ประชุมดังกล่าว ถือเป็นการเปิดกว้างให้ สกพอ. นำพื้นที่พัฒนาศูนย์ซ่อมอากาศยานมาเปิดกว้างจัดหาเอกชนร่วมประมูล นอกเหนือจากมติเดิมที่ให้สิทธิ์เพียงการบินไทยเท่านั้น โดยหลังจากนี้ สกพอ. จะนำเสนอให้ ครม. รับทราบมติ กพอ. ดังกล่าว และพิจารณายกเลิกมติ ครม. เมื่อวันที่ 30 ต.ค.2561

ด้านนายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า การบินไทยได้ศึกษาลงทุนโครงการศูนย์ซ่อมอากาศยาน งบลงทุนราว 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งหาก สกพอ.ยกเลิกมติ ครม.เดิมที่ให้สิทธิ์การบินไทยเป็นผู้บริหารโครงการนี้ การบินไทยก็จะยังคงเดินหน้าประมูลลงทุนโครงการตามข้อกำหนดของ สกพอ. เนื่องจากโครงการนี้มีความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจของการบินไทย เพราะมีความจำเป็นต้องซ่อมอากาศยานของบริษัท รวมไปถึงลูกค้าที่การบินไทยมีอยู่

อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ผ่านมาการบินไทยได้เจรจากับพันธมิตรเพื่อร่วมลงทุนในโครงการนี้ ซึ่งรวมไปถึง บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA ที่สนใจร่วมลงทุนในโครงการศูนย์ซ่อมกาศยานอู่ตะเภา โดยหากความร่วมมือเกิดขึ้น ก็จะส่งผลให้มีปริมาณอากาศยานที่ต้องใช้บริการศูนย์ซ่อมฯ แห่งนี้รวมมากกว่า 100 ลำ เพราะหากนับเฉพาะการบินไทยก็กำลังจะมีฝูงบินรวม 143 ลำในปี 2572 และการร่วมทุนครั้งนี้ยังส่งผลให้ศูนย์ซ่อมฯ ยังคงเป็นของคนไทย 100%