'สุริยะ' ยันแก้สัญญา 'ไฮสปีด' ไม่เอื้อเอกชน จี้วางแบงก์การันตีกันทิ้งงาน

'สุริยะ' ยันแก้สัญญา 'ไฮสปีด' ไม่เอื้อเอกชน จี้วางแบงก์การันตีกันทิ้งงาน

“สุริยะ” ยันแก้สัญญา “ไฮสปีดสามสนามบิน” ไม่มีเอื้อประโยชน์ ชี้เหตุโควิด-19 กระทบทั้งรัฐและเอกชนผิดสัญญา ระบุ “กลุ่มซีพี” ต้องวางแบงก์การันตีก่อนเบิกจ่ายเงินสนับสนุนเป็นรายงวดงานเมื่อสร้างเสร็จ ลั่นหากพบทิ้งงานพร้อมจ้างรายอื่นสร้างต่อทันที

นายสุริยะ​ จึงรุ่งเรืองกิจ​ รองนายก​รัฐมนตรี​ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม​ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการแก้ไขสัญญารถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน)​ เชื่อม 3 สนามบิน​ (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา​) โดยระบุว่า เรื่องดังกล่าวยังไม่ถูกเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้พิจารณาในวันนี้ (22 ต.ค.67) แต่ยืนยันว่าการแก้ไขสัญญา เกิดจากผลกระทบในการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้โครงการเกิดความล่าช้า

ส่งผลทำให้ภาครัฐไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ให้กับเอกชนได้ ขณะที่เอกชนก็ไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างได้ จึงถือว่าต่างคนต่างผิดสัญญา ทำให้เป็นที่มาของการพิจารณาแก้ไขสัญญาใหม่ เนื่องจากโครงการนี้มีความจำเป็นต้องเดินหน้าต่อ เพราะเป็นหนึ่งในโครงการยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งหากมีรถไฟเชื่อม 3 สนามบินจะทำให้ประชาชนเดินทางสะดวก การค้าขายดีขึ้น จึงต้องเดินหน้าโครงการนี้ต่อไป

อย่างไรก็ดี ต้องมาพิจารณาร่วมกันในการแก้ไขสัญญา เพื่อไม่ให้รัฐเสียประโยชน์ โดยสัญญาเดิมจะให้เอกชนสร้างจนเสร็จ และหลังจากนั้น 10 ปีรัฐบาลจะค่อยชำระเงิน​ ขณะที่สัญญาใหม่​ จะปรับให้เอกชนนำเงินมาวางค้ำประกันจากธนาคารเพื่อการันตี​ และเมื่อสร้างเสร็จเป็นงวดงาน ภาครัฐจะทยอยจ่ายคืนเงินค้ำประกัน​ โดยในการก่อสร้าง​แล้วเสร็จ แต่ละช่วง​จะแบ่งเป็นแต่ละสัญญา​ หากมีการทิ้งงานรัฐจะนำเงินค้ำประกันไปจ้างผู้รับเหมารายใหม่

ทั้งนี้ ยืนยันว่าการแก้ไขสัญญาใหม่นั้น ไม่ใช่การเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนรายใหญ่ โดยดอกเบี้ยเอกชนจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ และการแก้ไขสัญญานี้ผ่านการตรวจสอบจากสำนักงานอัยการจึงการันตีได้ว่าไม่มีการเอื้อประโยชน์ โดยขั้นตอนดำเนินการทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) จะเป็นผู้เสนอ โดยมีนายพิชัย​ ชุณห​วชิร​ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง​ เป็นผู้รับผิดชอบ

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์