ส.อ.ท. ชง 4 แนวทางฟื้นฟูน้ำท่วมภาคเหนือ หวังครม.สัญจรลงพื้นที่แก้ไขตรงจุด
"ส.อ.ท." ชง 4 มาตรการ ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์อุทกภัยภาคเหนือ หวัง ครม.สัญจรภาคเหนือจะคลอดมาตรการช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรม
นายอิศเรศ รัตณดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) นายสมบูรณ์ พิทยรังสฤษฎ์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ เป็นผู้แทนสภาอุตสาหกรรมฯ เข้าร่วมประชุมหารือกับกรมศุลกากร โดยมีนางกิจจาลักษณ์ ศรีนุชศาสตร์ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบสิทธิประโยชน์ทางศุลกากร ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมศุลกากร เป็นประธานในที่ประชุม
นายอิศเรศ กล่าวว่า ที่ประชุมมีการหารือมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์อุทกภัย ซึ่ง ส.อ.ท. ให้ความสำคัญในการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกและประสบปัญหาอุทกภัยและให้ความช่วยเหลือสมาชิกที่ประสบปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือ มีการนำทีมลงพื้นที่สำรวจความเสียหายจำนวน 2 ครั้ง ได้แก่ วันที่ 21 กันยายน 2567 ลงพื้นที่จังหวัดเชียงราย และวันที่ 19 ตุลาคม 2567 ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่
อย่างไรก็ตาม จากการลงพื้นที่ พบว่า มีผู้ประกอบการประสบปัญหาจำนวนมากทั้งปัญหาจากการอพยพไม่ทันเนื่องจากกระแสน้ำที่มาเร็วและแรง ปัญหาจากดินโคลนภายหลังจากน้ำลด ส่งผลให้เครื่องจักรและอุปกรณ์ต่างๆ เสียหาย ต้องมีการซื้อใหม่เพื่อมาทดแทนเครื่องเก่าที่ได้รับความเสียหาย ภายหลังจากการลงพื้นที่ ส.อ.ท.ได้มีการประชุมหารือภายในเพื่อหามาตรการในการช่วยเหลือ
ทั้งนี้ ส.อ.ท.มีข้อเสนอในมาตรการช่วยเหลือ 4 ด้าน ดังนี้ 1. ด้านการเงิน โดยพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยอย่างน้อย 12 เดือน, ลดค่างวด 50% และลดดอกเบี้ย 1% นาน 12 เดือน, กู้ซ่อมแซมบ้านและสถานประกอบการได้ 100% ดอกเบี้ยต่ำ และเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 1% เพื่อหมุนเวียนและฟื้นฟูกิจการจากสถาบันการเงินของรัฐ หรือกองทุนประชารัฐจากกระทรวงอุตสาหกรรม
2. ค่าสาธารณูปโภค โดยยกเว้นการชำระค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปาและค่าบริการทั่วไปสำหรับที่อยู่อาศัยและสถานประกอบการ SME ของเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2567
3. ด้านธรรมเนียมของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยขยายระยะเวลาลงทะเบียนโรงงานที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย จากสิ้นสุด 31 ตุลาคม 2567 เป็น 30 พฤศจิกายน 2567
4. ด้านภาษี ในรูปแบบเครื่องจักรและวัตถุดิบสามารถย้ายออกจากโรงงานไปยังสถานที่อื่นหรือส่งออกในกรณีฉุกเฉิน โดยสามารถขออนุญาตจาก BOI ได้ภายหลัง พร้อมยกเว้นภาษีอากรสำหรับเครื่องจักรนำเข้ามาเพื่อทดแทนเครื่องจักรที่เสียหาย และการเพิ่มกำลังการผลิต
กรณีผู้ประกอบการที่มีการนำเข้าเครื่องจักรมาก่อนการประกาศมาตรการช่วยเหลือของกรมศุลกากร ให้สามารถนำค่าใช้จ่ายดังกล่าวมาหักลดหย่อนภาษีนิติบุคคลได้ในรอบปี โดยยกเว้นอากรนำเข้าวัตถุดิบตามมาตรา 36 โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีมาตรการยกเว้นการเก็บภาษีผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ
"ส.อ.ท. มีความพร้อมและความตั้งใจที่จะเสนอแนวทางไปยังภาครัฐ เพื่อออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ โดยขอให้เป็นมาตรการเร่งด่วนและทั่วถึง เพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง หวังว่าในการประชุม ครม.สัญจรภาคเหนือ จะมีการหารือมาตรการช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรมต่อไป"