ระทึกไทยเสี่ยงถูกหั่น ‘เครดิตเรตติ้ง’ GDP โตต่ำกว่า 3% เผชิญจุดอันตราย

ระทึกไทยเสี่ยงถูกหั่น ‘เครดิตเรตติ้ง’  GDP โตต่ำกว่า 3% เผชิญจุดอันตราย

จับตา “ไทย” เสี่ยงถูกหั่นเครดิตเรตติ้ง “อีไอซี” มอง 3 ปัจจัยเสี่ยง “กรุงไทย”ห่วงหาก 10 ปี จีดีพีโตต่ำ 3% เผชิญจุดอันตราย “หอการค้า” ชี้ การเมืองไทยไม่แน่นอน กระทบนโยบายเศรษฐกิจ ส.อ.ท.หวั่นต้นทุนการเงินไทยพุ่ง “ทีดีอาร์ไอ” นโยบายเศรษฐกิจระยะสั้นดันขาดดุลงบประมาณ

ความเสี่ยงที่ไทยจะถูกปรับลดเครดิตเรตติ้งเป็นประเด็นที่ถูกจับตามากขึ้น โดยศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ระบุถึงการที่ไทยมีความเสี่ยงถูกลดเครดิตเรตติ้ง จากระดับปัจจุบัน BBB+ มุมมอง Stable outlook 

Fitch มีมุมมองว่าไทยมีจุดแข็งด้านต่างประเทศ ทุนสำรองระหว่างประเทศสูง หนี้ต่างประเทศต่ำ กรอบนโยบายเศรษฐกิจมหภาคน่าเชื่อถือ โครงสร้างหนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาวและกู้ในประเทศ

แต่จุดอ่อนไทย 3 ด้าน คือ 1.มิติเชิงโครงสร้าง (รายได้ต่อหัวต่ำ โครงสร้างประชากรไม่เอื้อ) 2.มิติเศรษฐกิจมหภาค (หนี้ภาคเอกชนสูง) 3.มิติการคลัง (หนี้ภาครัฐและขาดดุลการคลังสูงขึ้นมาก)

ทั้ง 3 เหตุผลหลักที่ไทยอาจถูกลดเครดิตเรตติ้งลง โดยความยั่งยืนของหนี้ภาครัฐที่วินัยการคลังไทยไม่เข้มแข็งเช่นเดิม และการใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มสูงขึ้นแผนการขาดดุลงบประมาณระยะปานกลางสูงกว่าระดับปกติ (ต่ำกว่า 3% ของ GDP) สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ของไทยมีทิศทางเพิ่มขึ้น แตกต่างจาก Peers ที่ลดสัดส่วนหนี้ภาครัฐได้หลังโควิด

ถัดมาเป็นเสถียรภาพการเมืองและธรรมาภิบาล แม้ความเสี่ยงทางการเมืองรุนแรงของไทยลดลง แต่ประเด็นการเมืองที่ผ่านมาอาจกระทบการปรับอันดับดัชนีธรรมาภิบาลของไทย ซึ่ง Fitch ใช้เป็นดัชนีอ้างอิงในการประเมินเครดิตเรตติ้ง

และสุดท้ายอัตราการเติบโตและศักยภาพเศรษฐกิจไทยต่ำกว่าภาพที่ Fitch ประเมินค่อนข้างมากจากปัญหาเศรษฐกิจฟื้นช้า โตต่ำและปัญหาเชิงโครงสร้างฉุดรั้งศักยภาพหลายด้าน

ทั้งนี้ หากไทยถูกหั่นเครดิตเรตติ้งอาจทำให้เกิดความเสี่ยงหลายด้าน โดยเฉพาะภาครัฐอาจมีต้นทุนการกู้ยืมสูงขึ้นจนขาดดุลการคลังเพิ่มขึ้น เพื่อชำระดอกเบี้ยจ่ายหรือลดเงินลงทุนภาครัฐ ขณะที่ต้นทุนเอกชนก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

ระทึกไทยเสี่ยงถูกหั่น ‘เครดิตเรตติ้ง’  GDP โตต่ำกว่า 3% เผชิญจุดอันตราย

“หอการค้า” ชี้การเมืองไทยยังไม่แน่นอน

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การที่ไทยถูกมองว่าเสี่ยงโดนปรับเครดิตเรตติ้งอาจมาจากความเห็นเศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่าศักยภาพทั้งที่ควรโต 3.5-4.0% และแม้ความไม่สงบทางการเมืองจะลดลง แต่ Fitch ระบุว่าไทยมีความไม่แน่นอนทางการเมืองสูง ซึ่งอาจกระทบประสิทธิภาพการวางนโยบายเศรษฐกิจ

ขณะที่ IMF, World Bank และ ธปท.มองว่าเศรษฐกิจไทยปี 2567 น่าจะโตใกล้เคียง 3% จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ และเพดานหนี้สาธารณะที่ต่ำลงมาอยู่ที่ 70% แต่หากหลังจากนี้เศรษฐกิจการเมืองโลกและไทยเสี่ยงมากขึ้นอาจมีแรงกดดันต่ออันดับความน่าเชื่อถือของไทย

ทั้งนี้แน่นอนว่าจะกระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่ง Fund Flow อาจเกิดการไหลออก โดยเฉพาะการลงทุนตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรที่ส่งผลต่อสภาพคล่องในระบบการเงินดังนั้นรัฐบาลควรดำเนินการเพื่อลดความเสี่ยงจากการถูกปรับเครดิตเรตติ้งดังนี้

1.การใช้เงินนโยบายการคลังอย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า ทำให้เกิดการกระตุกกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งนอกจากดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท ที่ออกไปแล้วรัฐบาลต้องมีมาตรการเสริมอื่นตามที่สภาหอการค้าฯเคยไว้อาทิ

โครงการคูณสองเพื่อเพิ่มกำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจและมาตรการ Easy e-Receipt และมาตรการทางภาษีโดยที่รัฐไม่ต้องใช้งบประมาณซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยโดดเด่นและคนไทยจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ทำให้การจัดเก็บภาษีภาครัฐดีขึ้นโดยหนี้ครัวเรือนและหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะลดลง ทั้งยังสนับสนุนเศรษฐกิจไทยเติบโต 3.5-4.0%ในปีหน้า

2.การเมืองเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนทิศทางระบบเศรษฐกิจ ดังนั้น รัฐบาลควรใช้เวทีรัฐสภากำหนดทิศทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองโดยหากมีความเสี่ยงทางการเมืองขึ้นควรมีจุดเปลี่ยนผ่านที่ไร้รอยต่อ เพื่อให้นโยบายทางเศรษฐกิจเดินหน้าต่อ

ทั้งนี้ เมื่อการเมืองเข้มแข็งและเศรษฐกิจไทยเติบโตมากขึ้นจากการใช้นโยบายการเงินการคลังที่ผสมผสานจะทำให้ความเสี่ยงที่ไทยจะถูกปรับเครดิตเรตติ้งเกิดขึ้นได้

ส.อ.ท.ห่วงลดเครดิตเรดติ้งฉุดงบลงทุน

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า จากกรณีที่ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ประเมินว่าไทยมีความเสี่ยงที่จะถูกปรับลดเครดิตเรตติ้งจากจุดอ่อนหลายประเด็นนั้น ส.อ.ท. มองว่า หากไทยถูกปรัดลดอันดับเครดิตเรตติ้งจะส่งผลกระทบให้ต้นทุนรวมถึงการกู้ยืมของประเทศและเครดิตประเทศลดลงด้วย

อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญของประเทศไทยคือปัญหาหนี้ท่วม แม้ตัวเลขหนี้ต่อครัวเรือนจะลดลงมานิดหน่อยจากเดิม 91% เหลือราว 88-89% ของจีดีพีประเทศ ส่วนหนึ่งเพราะไม่มีการปล่อยกู้ ทำให้หนี้ในส้วนของสินเชื่อลดลง เพราะธนาคารไม่ยอมปล่อยเงินกู้ ดังนั้น หนี้ต่อจีดีพีจึงดูดีขึ้น แต่ก็ไม่ได้แก้ปัญหาอย่างจริงจัง

นอกจากนี้ จากการที่ไทยได้ขยายวงเงินหนี้สาธารณะจาก 60% เป็น 70% ในช่วงโควิดซึ่งตอนนี้ใกล้จะแตะ 70%อีกทั้งอาจมีหนี้บางตัวที่ต้องเพิ่มในอนาคตเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจดังนั้นงวด 9 เดือนแรกของปีนี้ หนี้เสียทะยาน1.2 ล้านล้านบาท ธนาคารพาณิชย์ยังระวังการปล่อยสินเชื่อ ดังนั้นการที่หนี้สาธารณะที่ขยายเพดานเนื่องจากโควิดผ่านมาไม่นานก็เกือบจะชนเพดานแล้ว เกิดจากปัญหาหนี้ท่วม

“ภาคเอกชนกังวลภาวะเรื่องหนี้เป็นหลัก ทั้งหนี้ครัวเรือนและหนี้สาธารณะ แม้ว่าหนี้ครัวเรือนจะลดลงมาหน่อยนิดนึง พอดูจากไส้ในจะเห็นชัดว่าเกิดจากลดการปล่อยสินเชื่อที่หดตัวลงทั้งสินเชื่อภาคอสังหาริมทรัพย์และกลุ่มยานยนต์ เพราะธนาคารมีความระมัดระวังตัวมากขึ้น” นายเกรียงไกร กล่าว

“ไทย” น่าห่วงหาก 10 ปี “จีดีพี” ยังโตต่ำ 3%

นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ระบุว้่  ไทยยังมีเสถียรภาพแม้หนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ระดับสูง แต่การก่อหนี้ทั้งหมดไม่ได้มาจากรัฐบาล ซึ่งมีงบอื่นอีกมากนำมารวม ดังนั้นการประเมินเรตติ้งน่าจะประเมินไส้ในของข้อมูลด้วย

ทั้งนี้แม้ไทยมีเสถียรภาพแต่ห่วง 10 ปีข้างหน้า หากเศรษฐกิจไทยโตไม่ถึง 3% หรือทำได้เพียง 3% เศษขณะที่ภาครัฐมีภาระกู้เงินหรือออกบนอด์ 2-3% ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้กันมากกับอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ

รวมทั้งหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันอาจทำให้เงินเฟ้อโลกสูงขึ้น น้ำมันแพง แต่เศรษฐกิจไทยโตต่ำอนาคตอาจเห็นดอกเบี้ยแซงการเติบโตเศรษฐกิจได้ ทำให้ไทยอาจตกอยู่ในความอันตราย เพราะมีภาระจ่ายมากกว่าการเติบโตหรือรายได้ ขณะที่เพื่อนบ้านเติบโตเกิน 4-5%เช่น มาเลเซีย เวียดนาม อินโด ซึ่งทำให้มีช่องว่างรับความเสี่ยง

“แม้ปัญหาข้างต้นไม่ได้อยู่ภายใต้คอนโทรลของไทย แต่หากต้องเผชิญเงินเฟ้อสูงนานในอีก 5-10 ปี ไทยจะมีภาระหนี้ต้องจ่ายจากดอกเบี้ยที่สูงกว่าความสามารถหารายได้ หากเศรษฐกิจไทยโตไม่ถึง 3% ดังนั้นจุดนี้เป็นจุดอันตราย”

ประเทศไทยยังมี“เสถียรภาพ”

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย มองว่า เศรษฐกิจไทยยังมีเสถียรภาพ โดยแม้ปัจจุบันหนี้สาธารณะหากเทียบกับจีดีพี ของไทยจะสูงกว่าเพื่อนบ้านค่อนข้างมาก และเศรษฐกิจโตต่ำลง จากปัญหาเชิงโครงสร้าง

แต่เหล่านี้ยังไม่มากพอที่จะทำให้ไทยถูกปรับเครดิตเรตติ้งหากยังประคองการเติบโตใกล้ 3%ในปีหน้า ยกเว้นเกิดความเสี่ยงจากสถานการณ์การเมืองจนทำให้เกิดความล่าช้าในการเบิกจ่ายงบประมาณ

“เรามองว่าเรตติ้งยังคงประคองได้อยู่เช่นระดับปัจจุบัน แม้จะไม่ปรับขึ้น หากเศรษฐกิจไม่แย่ไปกว่านี้ เพราะเชื่อว่ารัฐบาลจะหาแหล่งรายได้มากขึ้น หลังจากนี้ที่จะทำให้หนี้ต่อจีดีพีลดลงระยะข้างหน้า

นโยบายระยะสั้นดันขาดดุลงบประมาณ

ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึงสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ปัญหาขาดดุลงบประมาณและหนี้สาธารณะไทยที่สูงขึ้นมากว่าการขาดดุลงบประมาณที่สูงขึ้น และนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นส่งผลให้หนี้สาธารณะต่อจีดีพีของไทยเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ การขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นมาจากรายจ่ายของภาครัฐที่เพิ่มขึ้น ขณะที่การจัดเก็บรายได้ของภาครัฐจากภาษีลดลงเมื่อเทียบสัดส่วนจีดีพี โดยช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมาการจัดเก็บรายได้ของรัฐในส่วนนี้ลดลง โดยการลดลงไม่ใช่ลดลงในเม็ดเงินแต่เมื่อลดลงเมื่อเทียบสัดส่วนจีดีพี จากเดิมเคยเก็บได้ 17-18% ของจีดีพี มาอยู่ที่ 13-14% ของจีดีพี

"ในอนาคตการคลังจะมีปัญหามากขึ้น ปัจจุบันหนี้สาธารณะของรัฐบาลอยู่ที่ 64% ต่อจีดีพี และจะขึ้นไประดับ 70% แม้มีผู้บอกว่า 70% ไม่น่ากลัว เพราะหลายประเทศหนี้สาธารณะขึ้นไปที่ 100-200% ต่อจีดีพีแต่ต้องดูการเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะโดยหากเพิ่มขึ้นปีละ 3-4% ถือว่าน่ากลัว โดยหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นเร็วเพราะไม่ได้ปฏิรูปภาษีเมื่อรัฐมีรายจ่ายมากขึ้น แต่รายรับลดลงทำให้ภาครัฐต้องขาดดุลมากขึ้น”

รวมทั้ง การขาดดุลงบประมาณที่เพิ่มขึ้นไปเยอะๆนั้นก็จะทำให้ความสามารถทางการคลังในการรับมือกับเหตุฉุกเฉินในอนาคตมีปัญหาระยะยาวเพราะต้องใช้งบประมาณมากขึ้นในการฟื้นฟูและเยียวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อนาคตหนี้มีโอกาสสูงกว่า 70%ของจีดีพี