ธุรกิจพลังงานรุกเทคโนโลยี AI ทรานส์ฟอร์ม ‘องค์กร’ ชิงผู้นำ

ธุรกิจพลังงานรุกเทคโนโลยี AI ทรานส์ฟอร์ม ‘องค์กร’ ชิงผู้นำ

“บ้านปู” ย้ำ AI เคลื่อนธุรกิจเติบโต เผยพันธกิจ 4 ด้าน สร้างความได้เปรียบในอนาคต “GC” ระบุ AI ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลได้แม่นยำสูง พร้อมช่วยลดค่าใช้จ่าย เวลา และมีความปลอดภัยสูง “กฟผ.” ชี้ AI ช่วยทรานส์ฟอร์มองค์กร

ปัจจุบันปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ ช่วยเพิ่มศักยภาพสร้างความแข็งแกร่งในหลายมิติ ทั้งความรวดเร็ว ความยืดหยุ่นและความปลอดภัย ทำให้องค์กรยุคใหม่เพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขัน 

ไอดีซี คาดการณ์การใช้จ่ายด้าน AI ทั่วโลก รวมไปถึงแอปพลิเคชันที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์โครงสร้างพื้นฐาน บริการด้านไอทีและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง จะเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าภายในปี 2571 มูลค่าสูงถึง 6.32 แสนล้านดอลลาร์ 

เทรนด์ดังกล่าวสะท้อนว่าองค์กรชั้นนำทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยต่างมุ่งนำ AI มาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน พัฒนาสินค้าและบริการ สร้างกลยุทธ์ธุรกิจที่เหนือชั้น ทว่าการที่จะนำ AI มาใช้จริงในระดับองค์กรนั้น “ไม่ได้ง่าย” และมีความท้าทายอย่างมาก

นายสินนท์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า บริษัทฯ ถือเป็นผู้นำด้านพลังงานที่หลากหลาย (Versatile Energy Provider) มุ่งขับเคลื่อนองค์กรด้วยกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล (Digital Transformation) ที่ดำเนินการโดยหน่วยงาน Digital & Innovation (D&I) โดยมีพันธกิจสำคัญอยู่ 4 ด้าน ได้แก่ 

1. นำเทคโนโลยีไปใช้ทั่วทั้งองค์กร 

2. นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานที่สะอาดขึ้น 

3. สร้างสรรค์นวัตกรรมให้เกิดขึ้นภายในองค์กร 

4. สร้างธุรกิจให้แข็งแกร่งและเพิ่มความยืดหยุ่น เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันในอนาคต

ทั้งนี้ ได้สะท้อนความสำเร็จผ่านโครงการด้านดิจิทัลและ AI ที่สำคัญ ได้แก่ ระบบที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Optimization) โดยใช้เทคโนโลยี AI ตรวจจับข้อมูลการขนส่งและโลจิสติกส์ ระบบซื้อขายพลังงาน (Energy Trading) ที่มีเทคโนโลยี AI ช่วยวิเคราะห์คาดการณ์ทิศทางของราคาพลังงาน

นอกจากนี้ ยังมีโครงการขยายขอบเขตการดูแลความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity) ที่ครอบคลุมทั้งด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และเทคโนโลยีเชิงปฏิบัติงาน รวมถึงโครงการอื่น ๆ อีกมากกว่า 250 โครงการ ที่ตอกย้ำความสำเร็จของบ้านปูในการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล

GC ใช้ AI วิเคราะห์ข้อมูลลดต้นทุนสร้างความปลอดภัย

นายณะรงค์ศักดิ์ จิวากานันต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC กล่าวว่า บริษัทฯ ได้ใช้เทคโนโลยี AI เพื่อช่วยในการดำเนินธุรกิจมาโดยตลอด เนื่องจากโรงงานต่างๆ จะต้องมีข้อมูล หรือ Data จำนวนมาก ถือว่าต้องทำงานกับข้อมูลมหาศาลตลอดเวลา

ดังนั้น ในส่วนของกระบวนการผลิตที่ต้องมีการเก็บข้อมูลในการควบคุมโรงงานจึงสำคัญ เพื่อจะทำอย่างไรให้เครื่องจักรในโรงงานทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และได้ผลิตภัณฑ์ตามที่ต้องการ ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้เริ่มนำเอาเทคโนโลยี AI มาช่วยวิเคราะห์กระบวนการผลิตว่าจะทำอย่างไรให้ต้นทุนถูกลงและมีการใช้พลังงานน้อยลงและมีประสิทธิภาพสูงขึ้น

“เราใช้ AI โดยเริ่มจากการสอน หรือป้อนข้อมูลไปเรื่อย ๆ เพื่อให้สามารถเข้าใจวิธีการ พฤติกรรมและกระบวนการผลิต ซึ่งนอกจากจะช่วยลดต้นทุนและเกิดความแม่นยำในการทำงานต่าง ๆ มากขึ้นแล้ว ยังทำให้เกิดความปลอดภัยด้วย”

ทั้งนี้ จากจุดเริ่มต้นบริษัทฯ มีการใช้กล้องซึ่งถือว่าไม่ใช่เป็นเทคโนโลยีใหม่ในโรงงาน เนื่องจากในโรงงานมีอุปกรณ์จำนวนมากที่ต้องมีการซ่อมบำรุง จากเดิมที่ต้องอาศัยแรงงานคอยตรวจสอบด้วยตาเปล่า สลับกับการใช้เครื่องมือ แต่ด้วยจำนวนท่อหรืออุปกรณ์ที่มาก จึงเริ่มใช้หุ่นยนต์ รวมถึงการใช้โดรนบินเข้าพื้นที่เพื่อสแกนตรวจสอบอุปกรณ์ในโรงงาน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ด้วยเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง บริษัทฯ ได้ป้อนข้อมูลและสอนให้ AI อ่านค่าความผิดปกติเกี่ยวกับอุปกรณ์ เพื่อเตรียมที่จะต้องซ่อม  เพราะบางครั้งมองด้วยตาเปล่าอาจจะเห็นบ้างไม่เห็นบ้าง จึงช่วยลดความผิดพลาดให้กับโรงงาน ซึ่งเชื่อว่าเทคโนโลยีต่าง ๆ จะมีการยกระดับต่อไปในอนาคต

กฟผ.ระบุจุดเด่น AI ช่วยทรานต์ฟอร์มองค์กร

นายวฤต รัตนชื่น ผู้ช่วยผู้ว่าการวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาธุรกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ.แบ่งความสำคัญของ AI แบ่งเป็น 4 ส่วนที่เอามาอยู่ในระบบการให้บริการด้านพลังงานกับส่วนของผู้ใช้ไฟฟ้า ดังนี้

1. การนำมาใช้ในการคาดการณ์พลังงานหมุนเวียนเพื่อคาดการณ์การใช้ไฟฟ้าซึ่งจะใช้ AI เข้าช่วย

2. ใช้ในเชิงดิจิทัลทวินระบบส่งและโรงไฟฟ้า โดยการใช้ AI เพื่อตรวจสอบว่าอุปกรณ์แต่ละเครื่องมีสภาพเป็นอย่างไร 

3. เป็นการให้บริการ Service โดยการบริหารจัดการพลังงาน ซึ่งจะนำเอา AI มาช่วยคิดและแนะนำ ถือเป็นส่วนของการให้บริการ

4. การนำ AI มาเพื่อการบริหารจัดการภายในองค์กร ซึ่งจะมีบางงานที่ กฟผ. นำ AI มาช่วย เช่น การช่วยตรวจเอกสารในการคิด วิเคราะห์ หรือการดึงข้อมูลสำคัญการช่วยทรานส์ฟอร์มองค์กร

“หลายองค์กรใช้กันเยอะตามเทคโนโลยีที่มีอยู่ในตลาด หากย้อนไป 20 ปีที่แล้ว กฟผ.มีพนักงานกว่า 30,000 คน แต่ปัจจุบันเหลือ 15,000 คน ถือว่าพนักงานลดลงครึ่งหนึ่ง แต่ปริมาณการใช้ไฟเพิ่มเป็น 2 เท่า ดังนั้น หากเรายังใช้วิธีเดิมก็คงไม่สามารถแข่งขันได้ เราจึงใช้เทคโนโลยีมาโดยตลอดเพียงแต่ว่าเทคโนโลยีที่ใช้เข้ามาจะเป็นการเสริมโดยเฉพาะ AI”

ทั้งนี้ ในการซ่อมบำรุงสมัยก่อน เช่น การเชื่อมหม้อน้ำในโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ เริ่มแรกจะใช้คนเชื่อม ต่อมาใช้เครื่องจักรเข้าไปเชื่อมโดยใช้คนคอยคอนโทรล และเมื่อมีการใช้อุปกรณ์คอนโทรลช่วยคอนโทรลเสร็จแล้วอุปกรณ์คอนโทรลยังไม่ฉลาด จึงต้องใช้ AI เข้าช่วยโดยป้อนข้อมูล เหล่านี้ทำให้จำนวนคนลดลง ลดค่าใช้จ่าย เป็นต้น

นอกจากนี้ หากยกตัวอย่างระบบสายส่ง เมื่อก่อนจะใช้คนขับรถเข้าไป หรือใช้เฮลิคอปเตอร์บิน ต่อมาใช้โดรนเข้าไปตรวจสอบแต่การใช้โดรนก็ยังต้องมีคนเฝ้าจอในระยะสายตา ดังนั้น เมื่อเทคโนโลยีมีการพัฒนาเรื่อยๆ มาสู่การใช้ AI ผสมผสาน จึงช่วยลดทั้งค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุง เวลา และความปลอดภัยด้วย