ขับเคลื่อน EEC ด้วยกลยุทธ์ การแข่งขันแบบร่วมมือ (Coopetition)

ในโลกที่รูปแบบการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศกำลังเผชิญปัญหารอบด้าน ทั้งจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์เร่งตัว สภาพภูมิอากาศผันผวนรุนแรง รวมถึงเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงก้าวกระโดด

การเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศจึงมีความท้าทายมากขึ้นกว่าในอดีต ทำให้ความสำเร็จของการเติบโตที่เคยถูกตัดสินด้วยมาตรวัดเชิง “ปริมาณ” เช่น ตัวเลข GDP อย่างเดียวอาจไม่ใช่กรอบการพัฒนาเศรษฐกิจที่เหมาะสมอีกต่อไป แต่จำเป็นต้องอาศัยรูปแบบการเติบโตแบบใหม่ที่ให้ความสำคัญกับ “คุณภาพ” การเติบโต ทั้งคุณภาพของการได้มาซึ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจนั้น และคุณภาพที่การเติบโตทางเศรษฐกิจนั้นจะสร้างต่อทุกภาคส่วนระบบเศรษฐกิจควบคู่ไปด้วย (World Economic Forum, 2024)

บริบทการเติบโตของประเทศที่มุ่งเน้นคุณภาพมากขึ้นต้องสร้างความพร้อมผ่านปัจจัยเอื้อที่เหมาะสม การขับเคลื่อนประเทศ ผ่านการเติบโตของ EEC อย่างมีคุณภาพในระยะข้างหน้าจึงมีความสำคัญอย่างมาก โดยหนึ่งในกุญแจสำคัญคือ การสร้าง ‘การแข่งขัน (Competition)’ บน ‘ความร่วมมือ (Cooperation)’ หรือกล่าวคือ ความสำเร็จของ EEC จะไม่ได้นิยามอยู่แค่กับการแข่งขันเพื่อเพิ่มเม็ดเงินลงทุนและเร่งการเติบโตเท่านั้น แต่ต้องผสมผสานระหว่างความร่วมมือและการแข่งขัน หรือ “Coopetition” ซึ่งเป็นการสร้างความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายกลุ่ม เพื่อเปลี่ยนคู่แข่ง ไม่ว่าจะเป็นระดับธุรกิจในพื้นที่ EEC เองจนถึงระดับคู่แข่งระหว่างประเทศที่ล้วนมีความพร้อมความสามารถในการแย่งชิงเม็ดเงินลงทุน ให้เป็นพันธมิตรในการแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนและสร้างคุณค่าใหม่ให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน

กลยุทธ์ Coopetition เพื่อขับเคลื่อน EEC สามารถแบ่งได้หลายระดับ ดังนี้ :

1. ภาคธุรกิจ : สนับสนุนให้เกิดการร่วมลงทุนวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐานระหว่างบริษัทคู่แข่งใน EEC โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสำคัญต่าง ๆ รวมถึงมีการกำหนดมาตรฐานอุตสาหกรรมเพื่อนำองค์ความรู้ไปต่อยอดแข่งขันในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของบริษัทตัวเอง

2. ภาครัฐและเอกชน (PPP) : รัฐบาลสนับสนุนความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและยกระดับคุณภาพการบริการ เร่งให้เกิดการร่วมมือกันระหว่างกลุ่มบริษัทไทยและต่างประเทศเพื่อรองรับโครงการขนาดใหญ่ใน EEC ผ่านการสร้างบรรยากาศที่เอื้อทั้งต่อการแข่งขันด้วยการใช้จุดแข็งการแข่งขันของแต่ละฝ่าย และเอื้อต่อการร่วมมือกันด้วยการแบ่งปันทรัพยากร และแบ่งปันความเสี่ยง (Risk-sharing)

3. ภาคต่างประเทศ : แม้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มเติบโตชะลอลงในระยะปานกลางจากปัจจัยเชิงโครงสร้างและปัจจัยการเมืองระหว่างประเทศ แต่ ASEAN จะเป็นหนึ่งในไม่กี่ภูมิภาคที่ยังมีศักยภาพเติบโตได้ดี โดย SCB EIC ประเมินว่าเศรษฐกิจ ASEAN จะขยายตัวเฉลี่ยถึง 4.7% ในระยะ 5 ปีข้างหน้า ความร่วมมือกันระหว่างภูมิภาคมากกว่าที่จะเป็นคู่แข่งจึงเป็นโอกาสสร้างความแข็งแกร่งในการวางตำแหน่งให้ ASEAN เป็นฐานอุตสาหกรรมหลักของโลกในอนาคต โดยเฉพาะ EEC ที่เป็นหมุดหมายการลงทุนสำคัญของไทย การร่วมมือกันดังกล่าวสามารถทำได้ผ่านเวทีความร่วมมือด้านการค้า การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการปรับใช้กฎระเบียบที่สอดคล้องกันเอื้อต่อการดำเนินธุรกิจข้ามพรมแดน ซึ่งประเทศสมาชิก ASEAN จะต้องร่วมมือกันในการลดอุปสรรคทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน แม้ยังคงแข่งขันกันดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ

แม้กลยุทธ์ Coopetition จะเป็นแนวทางสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตและนวัตกรรม EEC ให้ไปได้ไกลกว่ากลยุทธ์ที่เน้น Competition เพียงอย่างเดียวเหมือนที่ผ่านมา แต่กลยุทธ์ Coopetition ก็มีความท้าทายอยู่มาก โดยเฉพาะการสร้างความไว้วางใจระหว่างคู่แข่ง การปรับเป้าหมายให้สอดคล้องกัน และการจัดการสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา (IP) เป็นอุปสรรคสำคัญที่ต้องเผชิญทั้งในระดับธุรกิจพื้นที่และระดับประเทศ การจัดการความซับซ้อนเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้ความร่วมมือไม่ทำให้เสียความได้เปรียบในการแข่งขัน

ดังนั้น บทบาทของภาครัฐจึงมีความสำคัญในการสร้างกรอบและนโยบาย EEC ที่เอื้อต่อการใช้กลยุทธ์ Coopetition การสร้างสภาพแวดล้อมทางกฎหมายและกฎระเบียบที่ปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา คุ้มครองการแข่งขันที่เป็นธรรม และส่งเสริมการร่วมทุน ผ่านการสื่อสารและการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้สอดคล้องและบรรลุเป้าหมายร่วมกัน ทำให้ทุกฝ่ายยังรักษาความสามารถในการแข่งขันไว้ได้ ในขณะเดียวกันก็ได้ประโยชน์มากขึ้นจากการร่วมมือกัน

ท้ายที่สุดแล้วหนทางข้างหน้า EEC ยังอีกไกล การเป็น EEC ที่ “เก่งที่สุด” คนเดียวอาจทำให้เดินไปข้างหน้าได้เร็ว แต่ EEC ที่ พร้อมแข่งขันและมีเพื่อนเดินไปด้วยกันย่อมไปได้ไกลกว่า