โลก 2 ขั้วกดดันไทยร่วม ‘บริกส์’ ลดความเสี่ยง ‘เศรษฐกิจ’ ระยะยาว

โลก 2 ขั้วกดดันไทยร่วม ‘บริกส์’  ลดความเสี่ยง ‘เศรษฐกิจ’ ระยะยาว

“นักวิชาการ” ชี้ไทยได้ประโยชน์เข้าร่วมกลุ่มบริกส์ ทั้งด้านการค้า ต้นทุนการผลิต การเปิดตลาดใหม่ ลดการพึ่งพาเงินสกุลดอลลาร์ ลดความเสี่ยงขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ คาดยังมีประเทศอื่นทยอยเข้าสมัครเป็นสมาชิก เชื่อไม่เป็นอุปสรรคเข้าร่วม OECD

ไทยเพิ่มบทบาทของประเทศในเวทีระหว่างประเทศในการสมัครเข้าเป็นสมาชิก 2 กลุ่มภาคีเศรษฐกิจที่มีบทบาทที่สำคัญทั้งกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ หรือกลุ่มบริกส์ (BRICS) และองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ซึ่งเข้าสู่กระบวนการเป็นสมาชิกของทั้ง 2 กลุ่ม 

การประชุมผู้นำกลุ่ม BRICS ที่เมืองคาซาน ประเทศรัสเซีย มีมติรับ 13 ประเทศเข้าสู่กลุ่มในฐานะ “ชาติพันธมิตร” เพื่อปูทางสู่การเป็นสมาชิกเต็มรูปแบบในอนาคต โดยรวมถึงไทยด้วย

นายสมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง กล่าวว่า กลุ่มบริกส์เป็นข้อตกลงที่เพิ่งหารือระดับพหุภาคีจึงถือว่ายังไม่ได้รวมกลุ่มกันแน่นแฟ้น และบางประเทศเข้ามารวมโดยกำหนดเงื่อนไขไว้ทำให้ยังไม่มีข้อตกลงในภาพรวมที่เป็นเอกภาพออกมา โดยการเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มบริกส์ของไทยจะได้ประโยชน์ 4 เรื่อง คือ

1.กลุ่มบริกส์ เป็นการรวมกลุ่มของประเทศที่ถูกสหรัฐกดดันทางการเมืองหรือเศรษฐกิจ ซึ่งจะกำหนดข้อตกลงใหม่ที่ริเริ่มโดยบางประเทศ เช่น การกำหนดระบบการเงินดิจิทัลผ่านโทเคน การทำการค้าผ่านเงินสกุลใหม่ ซึ่งไทยเข้าไปศึกษาทิศทาง และนำมากำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องได้

2.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินกับประเทศสมาชิก โดยกลุ่มบริกส์ตั้งธนาคาร BRICS Bank ที่เป็น New Development Bank เพื่อช่วยเหลือ และกู้ยืมกับสมาชิกด้วยเงื่อนไขดอกเบี้ยผ่อนปรนให้ประเทศสมาชิก 

ทั้งนี้แม้จะมีวงเงินไม่มากเมื่อเทียบกับกองทุนอื่นในลักษณะเดียวกัน โดยคิดเป็น 5% ของกองทุนลักษณะเดียวกัน ซึ่งต้องดูว่าจะขยายมากขึ้นในอนาคตหรือไม่ และมีเงื่อนไขอย่างไรสำหรับการกู้ยืมของประเทศสมาชิก ซึ่งไทยอาจได้ประโยชน์ในอนาคต

 

3.ความช่วยเหลือกลไกทางการเงินแบบใหม่ที่จะวางกลไกการเงินแบบใหม่ไม่พึ่งพิงระบบการเงินแบบเดิม ซึ่งกลไกในลักษณะไม่พึ่งพิงระบบ SWIFT currency ซึ่งรัสเซียพยายามพัฒนาขึ้น และขยายไปใช้กับประเทศอื่น

4.ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการเจรจา และทวิภาคีกับประเทศสมาชิกกลุ่มบริกส์ ซึ่งการเข้าร่วมทำให้ไทยมีโอกาสเจรจาทวิภาคีกับประเทศที่เป็นตลาดใหม่ของไทยในอนาคต เช่น แอฟริกาใต้

ทั้งนี้ มีข้อที่ไทยต้องคำนึงถึงในการเป็นสมาชิกกลุ่มบริกส์คือ การที่สหรัฐมองไทยเมื่อสมัครเป็นสมาชิกในขั้วนี้ โดยสหรัฐจะมองไทยว่าเป็นมิตรหรือไม่ เพราะมีนโยบายการผลิต และการจัดหาจากประเทศที่เป็นพันธมิตรทางภูมิรัฐศาสตร์ (Friends horing) ซึ่งจะกีดกันประเทศที่สหรัฐไม่มองว่าเป็นพันธมิตรจากความร่วมมือทางเศรษฐกิจ 

โดยเฉพาะหากโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ มีนโยบายชัดเจนว่าจะตัดความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศที่แบนเงินดอลลาร์ของสหรัฐ

เรื่องที่สหรัฐจะตั้งคำถามว่าไทยเอนเอียงเข้ามหาอำนาจกลุ่มบริกส์เป็นไปได้ เพราะแม้จะบอกว่าเราเป็นกลางแต่หากเขามองเราเป็นอีกฝ่ายจะปฏิบัติต่อเราอีกแบบ”

สำหรับการสมัครเป็นสมาชิก OECD ของไทยถือว่าจำเป็นเพื่อยกระดับมาตรฐานทางการเงิน และการลงทุนให้เป็นสากล ซึ่งหลายมาตรฐานที่นานาชาติยอมรับนั้น OECD มีบทบาทสำคัญในการกำหนด เช่น ธรรมาภิบาล ภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลก (Global Minimum tax) รวมทั้งมาตรฐานการค้าการลงทุน ซึ่งการที่ไทยเป็นสมาชิกจะได้เรียนรู้ และร่วมกำหนดมาตรฐานในอนาคต

นอกจากนี้หากไทยต้องการเปิดตลาดการค้าในภูมิภาค และตลาดเกิดใหม่ต้องไม่ละเลยการเจรจาการค้าที่สำคัญ 2 ส่วน คือ 1.ข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-สหภาพยุโรป (EU) ซึ่งยังไม่แล้วเสร็จ 

2.ความตกลงแบบครอบคลุม และก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ซึ่งครอบคลุมหลายประเทศ และเกี่ยวข้องกับการเปิดตลาดการค้าจากในอาเซียนขยายไปยังประเทศอื่นได้

นักวิชาการอิสระ หนุนไทยเข้าบริกส์ ลดความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์

นายอัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระ และผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ที่ปรึกษาบริษัท อินเทลลิเจนท์ รีเสิร์ช คอนซัลแตนท์ (ไออาร์ซี) จำกัด กล่าวกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า การที่ไทยได้รับเลือกเป็นหุ้นส่วนพันธมิตรของกลุ่มบริกส์ถือว่าเป็นประโยชน์มาทั้งด้านการค้า และการลดการพึ่งพึงเงินสกุลดอลลาร์ 

รวมทั้งลดความเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคการค้าระหว่างไทยกับประเทศกลุ่มที่พัฒนาแล้ว โดยเฉพาะสหรัฐ และยุโรป แม้ว่าปัจจุบันไทยจะมีมูลค่าการค้า การลงทุนกับประเทศกลุ่มบริกส์ไม่มาก ยกเว้นจีน ซึ่งเชื่อว่าในระยะต่อไปจะมีหลายประเทศขอสมัครเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มบริกส์มากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้กลุ่มบริกส์ขยายวงกว้างมากขึ้น

นอกจากนี้ในอนาคตจะเกิดเงินสกุลบริกส์ขึ้น ซึ่งจะทำให้เงินบริกส์มีบทบาทในตลาดการเงินโลกมากขึ้น นอกเหนือจากเงินสกุลดอลลาร์เพียงอย่างเดียว ทำให้โมเมนตัมด้านเศรษฐกิจมาทางกลุ่มนี้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อไทยในการค้า และการลงทุน 

ทั้งนี้กลุ่มบริกส์จะต้องมีความชัดเจนในเรื่องการค้า มาตรการต่างๆ เพื่อสร้างความเป็นปึกแผ่นความเหนียวแน่นในกลุ่ม สร้างพลังให้เกิดขึ้นในกลุ่ม ลดการกีดกันการทางการค้า ไม่แทรกแซงกิจการภายในรวมทั้งช่วยเหลือสมาชิกในกลุ่มที่ยังไม่พัฒนามากขึ้นให้พัฒนาขึ้น ซึ่งจะเป็นโมเดลใหม่ของการพัฒนาเศรษฐกิจโลก

ส่วน OECD ที่จะไทยกำลังเข้าร่วมเป็นสมาชิกก็เป็นประโยชน์เช่นกัน ซึ่งกลุ่มโออีซีดีเป็นกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยเฉพาะเรื่องการลงทุน เพิ่มมูลค่าการส่งออกในกลุ่มประเทศ OECD โดยกลุ่มนี้ยังพึ่งพาเงินสกุลดอลลาร์และมีระบบ SWIFT เป็นตัวกลางในการทำธุรกรรมการเงิน

นอกจากนี้ เห็นว่าไทยควรจัดลำดับความสำคัญในการเข้าร่วมกลุ่มบริกส์เป็นอันดับแรก รองลงมาเป็น OECD โดยไทยเองปรับบทบาท และนโยบายการค้าการลงทุน ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จากที่ผ่านมาเรามีความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐ และยุโรปมักเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในประเทศของไทย

ขณะที่การพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศไม่ได้ยกระดับเท่าที่ควรจากการค้าการลงทุน อีกทั้งมีมาตรการกีดกันทางการค้า ดังนั้นถึงเวลาที่ไทยต้องทบทวนบทบาทนโยบายใหม่ 

“หากมองในแง่ของต้นทุนการผลิต กลุ่มบริกส์มีวัตถุดิบที่ช่วยลดต้นทุนให้ไทย เช่น น้ำมัน ปุ๋ย แร่ธาตุ ถึงเวลาแล้วที่เราต้องซื้อน้ำมันราคาถูกจากรัสเซีย ที่ผ่านมาซื้อน้ำมันแพงทำให้ต้นทุนพลังงานแพง จึงต้องมีจุดยืนด้านการค้าการลงทุนเพื่อผลประโยชน์เศรษฐกิจไทย”

นายอัทธ์ กล่าวว่า กรณีไทยร่วมเป็นสมาชิกทั้ง 2 กลุ่ม มองว่าไม่มีปัญหาประเด็นการแบ่งขั้ว เพราะการที่ทั้ง 2 กลุ่มรับไทยเป็นสมาชิกก็จะเป็นประโยชน์ด้านการค้าและเศรษฐกิจ 

อีกทั้งเป็นสิทธ์ชอบธรรมของไทยเพราะต้องพึ่งพาทั้ง 2 ฝ่ายเพื่อประโยชน์ของประเทศ ไม่ได้ฝักใฝ่ผ่ายใดทั้งสิ้น เป็นการลดความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจของไทย ลดความเสี่ยงด้านห่วงโซ่การผลิตและซัพพลายเชน และหลังการเลือกตั้งประธานธิบดีสหรัฐ ไม่ว่าใครจะได้เป็นประธานาธิบดี นโยบายด้านเศรษฐกิจการค้า ส่งผลกระทบต่อไทยแน่นอน ดังนั้นไทย จำเป็นต้องกระจายความเสี่ยงและรับมือ

“ยุทธศาสตร์ของบริกส์ ในระยะสั้นไม่ได้ต้องการกดดันหรือต่อต้านโออีซีดี แต่ต้องการลดความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์และความขัดแย้งต่างๆ แต่ในระยะต่อไปมีสมาชิกมากขึ้นเรื่อยๆ บทบาทของจีนก็จะโดดเด่นและมีอิทธิพลมากขึ้นจนกลายเป็นอีกขั้วหนึ่งที่มาคานกับกลุ่มสหรัฐ ยุโรป “นายอัทธ์ กล่าว

ทั้งนี้ ประเทศในกลุ่มอาเซียน 4 ประเทศ คือ มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, เวียดนาม และไทย ต่างร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มบริสก์ เพื่อลดความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจ ซึ่งประเทศไหนไม่เข้ากลุ่มบริกส์ถือว่าเป็นความเสี่ยง จึงคาดว่าต่อไปตะวันออกกลางและเกาหลีเหนือ จะเข้าร่วมกลุ่มบริกส์

นายอัทธ์ กล่าวว่า ส่วนข้อหากไทยเข้าร่วมกลุ่มบริกส์อาจส่งผลต่อการเข้าเป็นสมาชิก OECD มองว่าประเด็นหลักที่จะทำให้ไทยไม่ได้เป็นสมาชิก OECD คือ การเมืองในประเทศหรือการเป็นประชาธิปไตย เช่น กรณีพรรคการเมืองได้รับเลือกตั้งสูงสุด และเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่สุดท้ายไม่ได้เป็นรัฐบาล

สำหรับโอกาสการค้าของไทยในกลุ่มบริสก์มีมาก เช่น กลุ่มสินค้าอาหาร สินค้าเกษตร ข้าวยางพารา ผลไม้ เครื่องอุปโภค ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องดื่ม ส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่ไม่มีนวัตกรรม ส่วนตลาด OECD จะเป็นสินค้าเทคโนโลยี นวัตกรรม อุตสาหกรรมขั้นสูง

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์