"พิชัย" มองเลือกตั้งสหรัฐ สงครามการค้าระอุรอบใหม่

"พิชัย" มองเลือกตั้งสหรัฐ  สงครามการค้าระอุรอบใหม่

“รมว.พาณิชย์” ชี้ “โดนัลด์ ทรัมป์” เข้าวินชนะเลือกตั้ง ส่งผลดีต่อไทย เร่งเจรจาเอฟทีเอ เปิดประตูการลงทุนต่างชาติ โวไทยเนื้อหอมต่างชาติขอเข้าพบหารือการค้าการลงทุน เตรียมจัดทำโมเดลคลัง “Food Security - Data Center” หลังเดินสายพบผู้นำชาติตะวันออกกลาง

ปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในวันที่ 4 พ.ย.2567 จะมีผลต่อนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐที่ทั่วโลกกำลังจับตา ในขณะที่บทบาทของไทยที่จำเป็นต้องหาทางเพิ่มโอกาสการค้าการลงทุนมากขึ้น

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ปัจจัยที่มีผลต่อการค้าระหว่างประเทศของไทยต้องติดตามการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ จะกระทบเศรษฐกิจไทยหรือไม่ มองว่า สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน กลับมาอีกครั้งไม่ว่า นางคามาลา แฮร์ริส หรือนายโดนัลด์ ทรัมป์ จะชนะ 

ทั้งนี้ไทยได้รับผลกระทบแน่เพราะไทยเป็นมิตรทั้งจีน และสหรัฐ ดังนั้นต้องใช้สถานะนี้ให้เป็นประโยชน์ต่อการค้าของไทยทำให้ไทยมีความน่าสนใจด้านการค้าการลงทุน แต่เชื่อว่าโอกาสที่จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยจะเติบโตมีมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวมองว่าโดนัลด์ ทรัมป์ มีโอกาสชนะการเลือกตั้งสูง ซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจสหรัฐดีขึ้น สร้างความมั่นใจด้านเศรษฐกิจมากขึ้น เพราะโดนัลด์ ทรัมป์ มีพื้นฐานด้านเศรษฐกิจ คนในวอลล์สตรีท วงการค้าการลงทุนอ่านใจออกว่าคิดอย่างไรในเรื่องเศรษฐกิจ ขณะที่คามาลา แฮร์ริส เป็นนักการเมืองมาตลอด นักธุรกิจจึงไม่มั่นใจในเรื่องเศรษฐกิจ

“สำหรับไทยหากโดนัลด์ ทรัมป์ชนะเลือกตั้งน่าจะเป็นผลดีแม้จะดึงนโยบายต่างประเทศ America First กลับมาอีกครั้ง และเกิดสงครามการค้าสหรัฐ-จีน ก็ตาม แต่ทั้ง 2 ประเทศ ก็จะยังตัดกันไม่ขาด ต้องพึ่งพาอาศัยกัน ส่วนไทยก็เป็นประเทศที่เชื่อมโยงสหรัฐ และจีนเพราะไทยเป็นฐานการผลิตของทั้ง 2 ประเทศ" นายพิชัย กล่าว

\"พิชัย\" มองเลือกตั้งสหรัฐ  สงครามการค้าระอุรอบใหม่

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์เร่งเจรจาข้อตกลงเสรีทางการค้า (FTA) คืบหน้ามาก และปัจจุบันไทยมีข้อตกลง 15 ฉบับ กับ 19 ประเทศ 

ขณะนี้กำลังเร่งเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป (EU) มีข่าวดีเพราะข้อตกลงการค้าเสรีไทย-สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA) ที่มีสมาชิก 4 ประเทศ ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์ จะลงนามต้นปี 2568 ช่วงการประชุม World Economic Forum ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ 

ทั้งนี้ ถือเป็น FTA ฉบับแรกของไทยที่ลงนามกับประเทศในยุโรป ซึ่งจะทำให้การเจรจา FTA กับ EU คืบหน้าเร็ว และตั้งเป้าเจรจาให้จบในปี 2568 ซึ่งสำคัญต่อการค้าไทย และไม่ง่ายที่จะเจรจาให้จบเร็วเพราะ EU มีสมาชิก 27 ประเทศ แต่ละประเทศมีข้อเจรจาของตัวเอง 

ส่วนข้อตกลงการค้าเสรีไทย-อียู  ยังมีรายละเอียดมาก โดยประเด็นที่ต้องหารือรายละเอียดกับ EU คือ ทรัพย์สินทางปัญญา การจัดซื้อจัดจ้าง ยาและเวชภัณฑ์ คาดว่าไม่นานจะได้ข้อสรุป

ส่วน FTA ฉบับอื่นที่กำลังเจรจา คือ ไทย-เกาหลีใต้ , ไทย-ภูฏาน , ไทย-ปากีสถาน ทั้งเปิดเจรจาต้นปี 2567 ขณะที่ FTA อาเซียน-แคนาดา เปิดเจรจาหลายรอบจะสรุปผลปี 2568 และยังมี FTA ไทย-สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่จะใกล้ลงนามเช่นกัน 

ขณะที่ FTA ไทย-GGC (กลุ่มประเทศคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ) ประกอบด้วย 6 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดีอาระเบีย บาห์เรน โอมาน กาตาร์ และคูเวต หากเจรจาสำเร็จจะเพิ่มโอกาสการค้าการลงทุนมากขึ้นแม้ประชากรไม่มากแต่กำลังซื้อสูง 

“เราต้องเร่งเจรจาเอฟทีเอ เพราะประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามมี 16 ฉบับกับ 54 ประเทศ การมีเอฟทีเอมาก และครอบคลุมหลายประเทศจะทำให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น” นายพิชัย กล่าว

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มดีขึ้น โดยก่อนหน้านี้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ประชุมที่กาตาร์ และลาว มีการหารือทวิภาคี ถือว่าไทยเนื้อหอมเป็นที่สนใจ โดยคำขอรับส่งเสริมการลงทุน 9 เดือนที่ผ่านมาทะลุ 7.2 แสนล้านบาท สูงสุดรอบ 10 ปี

นายพิชัย กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้หารือผู้นำประเทศทั้งเยอรมนี อังกฤษ สหรัฐ สวิตเซอร์แลนด์ สะท้อนให้เห็นว่าอยากมาลงทุนไทย โดยเฉพาะบริษัท เวสเทิร์นดิจิตอล ผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์ และบริษัท ซีเกทเทคโนโลยี จากสหรัฐแสดงความสนใจมาลงทุนไทย

ขณะที่สวิตเซอร์แลนด์ ระบุว่า หลังลงนามเอฟทีเอไทย-เอฟตาแล้ว จะพานักลงทุนมาไทย ส่วนเจโทร ญี่ปุ่น ซึ่งในช่วงที่ไทยมีปัญหาทางการเมืองนักลงทุนจากญี่ปุ่นหายไปเกือบ 90 % (ปี2557) แต่ปัจจุบันกลับมาลงทุนเพิ่ม เช่นเดียวกับนักลงทุนจีน และสิงคโปร์

“ก่อนหน้านี้เดินทางร่วมประชุม ACD Summit ครั้งที่ 3 (3rd Asia Cooperation Dialogue Summit) ณ กรุงโดฮา รัฐกาตาร์ เมื่อวันที่ 1-3 ต.ค.2567 โดย UAE สนใจความร่วมมือด้านการสร้างคลังอาหารกับตะวันออกกลาง เพื่อรับมือกับความมั่นคงทางอาหาร

ทั้งนี้ ตะวันออกกลางสนใจเข้ามาลงทุนไทย และใช้ไทยเป็นคลังอาหารเพื่อจัดหา และส่งออกสินค้าเกษตรอาหารไปตะวันออกกลาง เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร เพราะปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์รุนแรง ดังนั้นไทยจึงเสนอเป็นผู้ผลิตอาหารที่พร้อมส่งมอบให้ตะวันออกกลาง เพราะไทยเป็นแหล่งส่งออกที่จะเป็นคลังอาหารให้ตะวันออกกลางได้

ส่วนการลงทุน Data Center เป็นห่วงเรื่องข้อมูลหากความขัดแย้งในตะวันออกกลางรุนแรงขึ้น ข้อมูลอาจหายได้ จึงเสนอให้ไทยเป็นที่ตั้ง Data Center ให้กับประเทศต่างๆ ใช้จุดเด่นเป็นมิตรกับทุกประเทศ ทำให้ข้อมูลที่จัดเก็บใน Data Center ในไทยมีความปลอดภัย ล่าสุด ทาง UAE ได้ประกาศจะเข้ามาลงทุนด้าน Data Center ในไทยมูลค่ากว่า 32,000 ล้านบาท รวมถึงประเทศอื่นด้วย

“ทั้งความมั่นคงอาหาร และ Data Center เป็นเรื่องสำคัญที่สำหรับหลายประเทศ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะเร่งดำเนินการให้เป็นรูปธรรมเร็วที่สุด"

สำหรับมาตรการรับมือกับมาตรการกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษี ได้สั่งกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และกรมการค้าต่างประเทศ ช่วยเหลือผู้ประกอบการให้ปรับตัวรองรับมาตรการ อาทิ มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (CBAM) กฎหมายห้ามนำเข้าสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำลายป่า (EUDR) 

รวมทั้งจะมีมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมจะออกมาอีก รัฐบาลเล็งเห็นถึงความสำคัญ และพร้อมที่จะประสานความร่วมมือกับภาคเอกชน

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์