เปิดแนวก่อสร้าง 'รถไฟฟ้าสายสีส้ม' ม.ค.นี้ ตอกเสาเข็มจุดแรก 'ประตูน้ำ'

เปิดแนวก่อสร้าง 'รถไฟฟ้าสายสีส้ม' ม.ค.นี้ ตอกเสาเข็มจุดแรก 'ประตูน้ำ'

รฟม.เตรียมความพร้อมก่อสร้าง “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” เส้นทางบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ปักหมุด ม.ค.นี้ ตอกเสาเข็มพื้นที่แรกช่วง “ประตูน้ำ” จ่อรื้อสะพานข้ามแยก 3 แห่ง สะพานข้ามแยกประตูน้ำ แยกราชเทวี และแยกถนนสุทธาวาส ตัดถนนจรัญสนิทวงศ์

การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ขณะนี้กำลังจะเริ่มนับหนึ่งก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ส่วนตะวันตก) ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย โดยในวันพรุ่งนี้ (1 พ.ย.67) รฟม.จะจัดงานแถลงข่าวจัดการจราจร เพื่อเตรียมงานก่อสร้างโครงการดังกล่าวร่วมกับตำรวจนครบาล

ขณะที่ก่อนหน้านี้ “วิทยา พันธุ์มงคล” รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ) รักษาการแทน ผู้ว่าการ รฟม. ออกมาระบุว่า ตามแผนงานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม เอกชนผู้รับสัมปทาน คือ บริษัท ทางด่วน และรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ต้องเข้าพื้นที่เพื่อเริ่มรื้อย้ายงานระบบสาธารณูปโภค หลังจากลงนามสัญญาร่วมลงทุนภายใน 4 เดือน ซึ่งจะครบกำหนดในเดือนพ.ย.นี้

แต่พบว่าในช่วงที่ผ่านมา BEM ได้เริ่มเข้าพื้นที่สำรวจแนวทางการรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภค ระบบสื่อสาร ท่อประปาแล้ว ซึ่งเร็วกว่าแผนกำหนด 1 เดือน เนื่องจากได้รับการอนุญาตจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) ให้เข้าพื้นที่เตรียมงานดังกล่าวได้ และกระบวนการทำงานหลังจากนี้ ก็จะเริ่มงานออกแบบ พร้อมเข้าพื้นที่เพื่อขุดสำรวจ และรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภค ก่อนลงพื้นที่ก่อสร้างต่อไป

เปิดแนวก่อสร้าง \'รถไฟฟ้าสายสีส้ม\' ม.ค.นี้ ตอกเสาเข็มจุดแรก \'ประตูน้ำ\'

   สำหรับแผนก่อสร้างงานโยธาในเบื้องต้น ทราบว่า “ประตูน้ำ” เป็นจุดแรกที่มีความพร้อมเข้าพื้นที่ก่อน โดย BEM คาดว่าจะเข้าพื้นที่ได้ในราวเดือนม.ค. - ก.พ.2568 ส่วนพื้นที่อนุรักษ์เกาะรัตนโกสินทร์ บริเวณงานก่อสร้างสถานีสนามหลวง สถานีศิริราช อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย บริเวณถนนผ่านฟ้าลีลาศ คาดว่าใต้ดินอาจจะมีโบราณสถาน หรือวัตถุโบราณ ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับกรมศิลปากรที่ต้องวางแผนดำเนินการร่วมกัน พื้นที่ส่วนนี้จะใช้เวลาขุดเจาะเพื่อสำรวจประมาณ 4 - 6 เดือนหลังจากนี้

ขณะเดียวกัน แนวก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม จะมีการหารือกับกรุงเทพมหานคร เพื่อเตรียมงานรื้อสะพานข้ามแยก โดยต้องรองานออกแบบรายละเอียดก่อนว่าจะดำเนินการรื้อย้ายออกไปเลยหรือก่อสร้างใหม่ เพื่อไม่ให้กระทบต่อฐานรากเดิมของสะพาน รวมทั้งจากการหารือกับกรุงเทพมหานคร มีความเห็นว่าอยากให้ปรับปรุงสะพานบริเวณดังกล่าวด้วย โดยสะพานที่จะมีการรื้อย้าย 3 แห่ง ประกอบด้วย

  • สะพานข้ามแยกประตูน้ำ
  • สะพามข้ามแยกราชเทวี
  • สะพานข้ามแยกถนนสุทธาวาส ตัดถนนจรัญสนิทวงศ์

 

เปิดแนวก่อสร้าง \'รถไฟฟ้าสายสีส้ม\' ม.ค.นี้ ตอกเสาเข็มจุดแรก \'ประตูน้ำ\'

ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม BEM เอกชนผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้า ได้ลงนามสัญญาจ้าง บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK เพื่อดำเนินงานออกแบบ และก่อสร้างงานโยธา (Civil Works Contract) และสัญญาจ้างงานจัดหาระบบรถไฟฟ้า (M&E Works Contract) รวมมูลค่ากว่า 1.1 แสนล้านบาท

ขณะเดียวกัน BEM วางแผนดำเนินงานก่อสร้างงานโยธาส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์ - ศูนย์วัฒนธรรมฯ กำหนดแล้วเสร็จตามสัญญาภายใน 6 ปี โดย BEM คาดว่าจะเร่งรัดงานดังกล่าวให้แล้วเสร็จก่อนกำหนด เพื่อเปิดให้บริการได้ภายในปี 2573 ซึ่งมีแผนงานเบื้องต้น ดังนี้

ปีที่ 1 งานออกแบบ และเข้ารื้อย้ายสาธารณูปโภค ขุดสำรวจใต้ดิน เพื่อเตรียมพื้นที่ก่อสร้าง

ปีที่ 2 เริ่มขุดเจาะสถานี และทำผนัง

ปีที่ 3 – 5 จุดเจาะอุโมงค์ใต้ดิน

ปีที่ 5 – 6 เก็บรายละเอียดงานก่อสร้าง พร้อมติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ และทดสอบระบบ

เปิดแนวก่อสร้าง \'รถไฟฟ้าสายสีส้ม\' ม.ค.นี้ ตอกเสาเข็มจุดแรก \'ประตูน้ำ\'

“พงษ์สฤษดิ์ ตันติสุวณิชย์กุล” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า BEM มั่นใจว่าจะสามารถติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ พร้อมจัดหาขบวนรถเพื่อมาเปิดให้บริการเดินรถส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ภายในสิ้นปี 2570 เพื่อเป็นของขวัญให้ประชาชน รวมทั้งจะเร่งรัดงานโยธาส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์ - ศูนย์วัฒนธรรมฯ ให้แล้วเสร็จเร็วกว่ากำหนด

ทั้งนี้บริษัท คาดการณ์จำนวนผู้โดยสารในปีแรกของการให้บริการช่วงตะวันออก จะมีประมาณ 1.2 แสนคนต่อวัน และเมื่อเปิดตลอดเส้นทางคาดว่าจะมี 3 แสนคนต่อวัน สำหรับค่าโดยสารนั้นจะเริ่มต้นที่ 17-44 บาท โดยรถไฟฟ้าสายสีส้ม ตลอดแนวเส้นทางช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีระยะทางรวมทั้งสิ้น 35.9 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดิน 27 กิโลเมตร และโครงสร้างทางวิ่งยกระดับ 8.9 กิโลเมตร จำนวน 28 สถานี แบ่งเป็นสถานีใต้ดิน 21 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี

โดยมีแนวเส้นทางเริ่มต้นที่สถานีบางขุนนนท์ ซึ่งเป็นอุโมงค์ใต้ดินวิ่งไปตามแนวทางรถไฟเดิมไปยังโรงพยาบาลศิริราช บริเวณสถานีศิริราช จากนั้นจึงวิ่งลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาขนานไปกับสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ลอดใต้พื้นที่ถนนราชดำเนิน ผ่านสนามหลวง อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แล้วเบี่ยงแนวเส้นทางไปตามแนวถนนหลานหลวงจนถึงแยกยมราช

หลังจากนั้นจะเลี้ยวขวาไปตามถนนเพชรบุรีจนถึงสี่แยกประตูน้ำ เลี้ยวซ้ายลอดใต้ถนนราชปรารภ ตรงไปถึงสามเหลี่ยมดินแดง แล้วจึงเลี้ยวขวาไปตามถนนดินแดง เลี้ยวซ้ายวิ่งตามแนวถนนวิภาวดีรังสิต แล้วเลี้ยวขวาผ่านกรุงเทพมหานคร 2 และเบี่ยงขวาลอดผ่านชุมชนประชาสงเคราะห์ ไปยังสถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

จากนั้นแนวเส้นทางจะวิ่งขนานไปตามแนวถนนพระรามเก้าไปยังสถานี รฟม. ลอดใต้คลองแสนแสบ ก่อนเลี้ยวซ้ายไปตามถนนรามคำแหง ผ่านแยกลำสาลี ไปจนถึงบริเวณคลองบ้านม้า ก่อนเปลี่ยนแนวทางวิ่งจากอุโมงค์ใต้ดินเป็นทางวิ่งยกระดับ และวิ่งตามแนวถนนรามคำแหงไปจนถึงบริเวณคลองสองที่สถานีมีนบุรี ก่อนสิ้นสุดแนวเส้นทางที่สถานีสุวินทวงศ์ บริเวณสามแยกรามคำแหง – สุวินทวงศ์

 


พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์