ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์กับทางแยกสู่ระเบียบโลกใหม่ (ตอน1)

ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์กับทางแยกสู่ระเบียบโลกใหม่ (ตอน1)

ผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงของโลก Dr.Ian Arthur Bremmer [1] ประเมินว่าความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์จากการแย่งชิงความเป็นอภิมหาอำนาจในระยะข้างหน้า จะมีลักษณะเป็น “ระเบียบโลกหลายขั้วอำนาจ (Multipolar order)” ประกอบด้วย

(1) ขั้วอำนาจสหรัฐฯ เป็นผู้นำที่แข็งแกร่งด้านความมั่นคงแห่งชาติ (National securities)

(2) ขั้วอำนาจจีน เป็นผู้นำด้านการค้าและธุรกิจ (Commercial positions)

(3) ขั้วอำนาจเทคโนโลยี (Techno-polar order) เน้นถึงพลังของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีในการกำหนดรูปแบบของโลกดิจิทัล

ที่น่าสนใจคือ ทั้งสามขั้วอำนาจต่างมีความทับซ้อนกัน

บทความนี้จะนำเสนอสถานการณ์ล่าสุดของความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ด้านเทคโนโลยี และจะประเมินว่าในเกมของการแข่งขันด้านเทคโนโลยีซึ่งเป็นหนึ่งในขั้วอำนาจที่สำคัญ ฝ่ายใดจะได้เป็นผู้นำเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งก็จะได้เป็นผู้กำหนดระเบียบโลกในอนาคต

1. ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์คืออะไร?

Federal Reserve Board [2] นิยาม “ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical risks)” ว่าเป็นความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับสงคราม การก่อการร้ายและความตึงเครียดระหว่างรัฐที่ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ

ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ครอบคลุมทั้งความเสี่ยงที่เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นจริง และความเสี่ยงใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการยกระดับความเข้มข้นของเหตุการณ์ที่มีอยู่เดิม 

 ขณะที่สถาบัน Geopolitical Futures [3] ให้นิยามกว้างขึ้น โดยรวมถึงความเสี่ยงทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมที่อาจเกิดขึ้นจากการที่ประเทศเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจการระหว่างประเทศ

โดยการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในด้านอำนาจ ความขัดแย้ง หรือวิกฤติ จะก่อให้เกิดความเสี่ยงที่ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อประเทศและต่อประชาคมโลก ในช่วงที่ผ่านมากระแสโลกาภิวัตน์มีบทบาททำให้ความเสี่ยงเหล่านี้เข้มข้นขึ้น จากการเพิ่มความเชื่อมโยงระหว่างเศรษฐกิจและสังคมของโลก

ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์กับทางแยกสู่ระเบียบโลกใหม่ (ตอน1)

2. ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ภาพรวมและด้านสงครามเทคโนโลยี (Tech war) ปัจจุบันอยู่ระดับใด?

รายงานความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ Sep 2024 จัดทำโดย BlackRock [4] ระบุว่าโลกกำลังปรับเข้าสู่สมดุลใหม่ของยุคภูมิรัฐศาสตร์ที่สาม หลังจากยุคสงครามเย็น (Cold war) และยุคหลังสงครามเย็น (Post-cold war)

โดยยังคงความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ใน 3 หัวข้อหลัก คือ (1) การแบ่งขั้วอำนาจกันมากขึ้น (Deeper fragmentation) ระหว่างกลุ่มภูมิรัฐศาสตร์และกลุ่มเศรษฐกิจที่แข่งขันกัน (2) ระเบียบโลกที่มีความผันผวนสูงและคาดเดาได้ยากขึ้น และ (3) การทบทวนระบบ โลกาภิวัตน์ (Globalisation rewiring)

นอกจากนี้ ในวันที่ 5 พ.ย. 2024 ซึ่งจะมีการเลือกตั้งในสหรัฐฯ จะเป็นเหตุการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ที่สำคัญและจะชี้ชะตาระเบียบโลกใหม่

เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นประเทศมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลกทั้งเศรษฐกิจ การเมือง การทหาร และเทคโนโลยี มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกมูลค่า 27.36 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2023 หรือคิดเป็น 26.1% ของ GDP โลก และมีรายได้ต่อหัวสูงถึง 81,632.25 ดอลล่าร์ สรอ.

ดังนั้น ผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ จะมีผลต่อนโยบายการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการใช้มาตรการปกป้องทางการค้าของสหรัฐฯ และระดับสงครามการค้า (Trade war) ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่กำลังเข้มข้นขึ้นในปัจจุบัน

และคาดกันว่าเบื้องหลังสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน คือการแข่งขันเพื่อความเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีระดับโลก [5] และหากพิจารณาจากมุมมองของภูมิเทคโนโลยี (Geotechnology perspective) [6] จะพบความสัมพันธ์เชิงโต้ตอบระหว่างปัจจัยด้านเทคโนโลยี ภูมิรัฐศาสตร์ และการแข่งขันของมหาอำนาจ

จากดัชนีและแผนภูมิความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์จัดทำโดย BlackRock [4] พบว่าการแบ่งขั้วอำนาจด้านเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯและจีน (Global technology decoupling) ชัดเจนมากขึ้นทั้งด้านขนาดและขอบเขต และมี “ความเสี่ยงอยู่ในระดับสูง” (รูป1 และ 2)

ในความเป็นจริงทั้งสองประเทศแข่งขันขับเคี่ยวกันด้านเทคโนโลยีมานานแล้ว เป็นสงครามเทคโนโลยีแบบ “เกมผลรวมศูนย์ (Zero-sum game)” ที่เมื่อฝ่ายหนึ่งได้ประโยชน์จะมาจากการสูญเสียของอีกฝ่ายหนึ่ง

โดยเน้นแข่งขันในเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น AI เซมิคอนดักเตอร์ คอมพิวเตอร์ควอนตัม และเทคโนโลยีที่ใช้ในทางการทหาร เป็นต้น

วันที่ 7 ต.ค. 2022 นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของความสัมพันธ์สหรัฐฯและจีน [7] และอาจนับได้ว่า “โลกหลังสงครามเย็นได้มาถึงจุดสิ้นสุดแล้ว” เข้าสู่ช่วงของการแข่งขันที่รุนแรง เพื่อกำหนดทิศทางระเบียบโลกข้างหน้าโดยเฉพาะสงครามเทคโนโลยี

เมื่อรัฐบาลสหรัฐฯ เริ่มประกาศใช้กฎระเบียบควบคุมการส่งออกชิปและเทคโนโลยีไปยังจีนอย่างต่อเนื่อง (Series of export controls) มีเป้าหมายเพื่อทำให้จีนเข้าถึงปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเครื่องมือผลิตชิปของสหรัฐได้ยากมากขึ้น

ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการสกัดกั้นอุตสาหกรรมการผลิตชิปของจีนที่อาจใช้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของกองทัพจีน

3. ประเมินศักยภาพด้านเทคโนโลยีสหรัฐฯและจีน ในสมรภูมิการแข่งขันเชิงกลยุทธ์"

ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์กับทางแยกสู่ระเบียบโลกใหม่ (ตอน1)  

Peter Harrell อดีตเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงแห่งชาติภายใต้รัฐบาลของไบเดน ระบุว่าเรากำลังเห็นการเปิดสมรภูมิรบรูปแบบใหม่ สงครามเย็นด้านเทคโนโลยี (Tech cold war) ระหว่างสหรัฐฯ และจีน แข่งขันกันใน 3 ด้านหลักคือ ข้อมูล ซอฟต์แวร์ และ อุปกรณ์ที่เชื่อมต่อ [8]

 ขณะที่งานศึกษาของ Alex Capri [9] ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าและห่วงโซ่อุปทานระหว่างประเทศ ชี้ว่าศูนย์ข้อมูลถูกดึงเข้าสู่การแข่งขันเชิงกลยุทธ์เป็น “สงครามตัวแทนศูนย์ข้อมูล (Data center proxy war)” ระหว่างสหรัฐฯ และจีน

และเห็นว่าผู้ที่สามารถควบคุมศูนย์ข้อมูลของโลกได้ นอกจากจะควบคุมการเข้าถึงดิจิทัลทั่วโลกได้แล้ว ยังสามารถหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้ด้วย และจากมุมมองด้านความมั่นคง ก็ยังสามารถควบคุมการเข้าถึงข้อมูลและอินเทอร์เน็ต

ทำให้ทางการสามารถเซ็นเซอร์ ควบคุม และเฝ้าระวังประชากรของตนได้ นอกจากนี้ ยังสามารถปิดสวิตช์ไฟฟ้าและอาจสร้างความหายนะต่อฝ่ายตรงข้ามได้

ผู้เขียนได้รวบรวมข้อมูล “Data center” ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านสารสนเทศที่สำคัญ ประกอบด้วยเซิร์ฟเวอร์ ไดรฟ์พื้นที่เก็บข้อมูล และอุปกรณ์เครือข่าย เป็นที่จัดเก็บข้อมูลดิจิทัลของบริษัทใดๆ ที่ดำเนินงานทุกอย่าง

ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์กับทางแยกสู่ระเบียบโลกใหม่ (ตอน1)

ตั้งแต่การธนาคารออนไลน์ไปจนถึงฟีดโซเชียลมีเดีย ความต้องการที่เพิ่มขึ้นสำหรับเทคโนโลยี มีความสำคัญต่อการเติบโตของการประมวลผลบนคลาวด์, ปัญญาประดิษฐ์, และอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (IoT)

ข้อมูล Data center ในปี 2024 จำแนกตามรายประเทศ[9] [10] และตามขนาด[11] พบว่า สหรัฐฯ เป็นผู้นำโลกมี Data center 5,381 แห่ง รองลงมาคือ เยอรมนี (521) อังกฤษ (514) จีน (449) และแคนาดา (336) ตามลำดับ รัสเซียอยู่อันดับ 9 (297) ญี่ปุ่นอยู่อันดับ 10 (251) (รูป 3)

ในด้านของขนาด วัดเป็นตารางฟุต (sq ft.) และกำลังไฟฟ้าที่ใช้หน่วยเป็นเมกะวัตต์ (MW) พบว่า Data center ขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ 5 แห่ง ติดอันดับ top-10 ของจีนจำนวน 3 แห่ง อินเดีย 1 แห่ง แต่ Data center ที่มีขนาดใหญ่สุดเป็นของจีน คือ China Telecom-Inner Mongolia Information Park (Hohhot, China) (รูป4)

หากพิจารณาเฉพาะจำนวนและขนาดของ Data center อาจสรุปได้ว่าสหรัฐฯ และพันธมิตรในยุโรปเป็นผู้นำในด้านโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศ แต่เกมการแข่งขันด้านเทคโนโลยีระหว่างมหาอำนาจโลก ยังต้องประเมินจากปัจจัยด้านอื่นๆ ด้วย

เช่น รายละเอียดของศูนย์ข้อมูล โครงการที่อยู่ระหว่างพัฒนา ระดับความก้าวหน้าเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้งแรงงานทักษะที่เกี่ยวข้อง และยังเป็นคำถามว่าจีนจะสามารถลดการนำเข้าและสามารถพึ่งพาตนเองในอุตสาหกรรมชิปนี้ได้หรือไม่ ซึ่งจะได้นำเสนอในฉบับถัดไปค่ะ

Disclaimer: ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน และการกล่าว คัด หรืออ้างอิงข้อมูลบางส่วนตามสมควรในบทความนี้ จะต้องกระทำโดยถูกต้องและอ้างอิงถึงผู้เขียนโดยชัดแจ้ง

Endnotes:

[1] Bremmer, Ian (2023), The Next Global Superpower Isn't Who You Think, TED, Youtube

The Next Global Superpower Isn't Who You Think | Ian Bremmer | TED (youtube.com)

[2] Caldara, Dario and Matteo Iacoviello (2018). Measuring Geopolitical Risk. International Finance Discussion Papers 1222, Board of Governors of the Federal Reserve System, Feb

[3] Geopolitcal Futures (2024), What are Geopolitical Risks https://geopoliticalfutures.com/risk/

[4] BlackRock Investment Institute (2024), Geopolitical Risk Dashboard, Sep 30

[5] Schneider-Petsinger, Marianne, Jue Wang, Yu Jie and James Crabtree (2019), US–China Strategic Competition: The Quest for Global Technological Leadership, Research Paper of the Asia-Pacific Programme and the US and the Americas Programme, The Royal Institute of International Affairs, Chatham House, London, Nov

[6] Minghao Zhao (2024), (China-U.S. Rivalry Through a Tech Lens, China-US, Focus website, Feb 29, 2024

[7] Allen, Gregory C. (2023), China’s New Strategy for Waging the Microchip Tech War, the Center for Strategic and International Studies (CSIS), May 3

https://www.csis.org/analysis/chinas-new-strategy-waging-microchip-tech-war

[8] The Economic Times (2024), US-China Tech War Seen Heating Up Regardless of Whether Trump or Harris Wins, Oct 24

[9] Capri, Alex (2024), The Geopolitics of Modern Data Centers, Hinrich Foundation Report, Hinrich Foundation Limited, May

[10] https://www.statista.com/statistics/1228433/data-centers-worldwide-by-country/

[11] Khare, Yana (2024), The 10 Largest Data Centers in the World in 2024, Analytics Vidhya, 8 Jul

   https://qtsdatacenters.com/data-centers/ashburn-shellhorn

   https://portugalglobal.pt/en/news/top-10-biggest-data-centre-projects/; 

   https://www.wilsoncenter.org/project/kolos-data-center