มังกรซุ่ม อินทรีผงาด รัฐศาสตร์เสี่ยงภัย
เริ่มเข้าสู่ช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ สิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์เชิงกลยุทธ์ต้องเตรียมคือธีมของเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมในปีหน้า โดย ณ ปัจจุบันนี้ การเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองที่กำลังจะเกิดขึ้น และจะมีผลอย่างน้อยใน 1-2 ปีต่อจากนี้ไปคือ
(1) ความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐ (2) การเปลี่ยนกลยุทธบริหารเศรษฐกิจจีน และ (3) ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์โลกที่จะรุนแรงขึ้นในระยะต่อไป
ในส่วนของเศรษฐกิจสหรัฐ อาจกล่าวได้ว่าเปรียบดั่งพญาอินทรีที่บินฝ่าพายุลูกแล้วลูกเล่า โดยหากพิจารณาความสำเร็จของเศรษฐกิจสหรัฐในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมามีมากมาย เช่น
(1) สัดส่วน GDP สหรัฐในกลุ่ม G7 เพิ่มจาก 40% ในปี 1990 เป็น 50% ในปัจจุบัน (2) ผลผลิตต่อหัวสูงกว่ายุโรปตะวันตกและแคนาดา 30% และสูงกว่าญี่ปุ่น 60% และ (3) แม้แต่มลรัฐที่ยากจนที่สุดอย่างมิสซิสซิปปียังมีรายได้เฉลี่ยสูงกว่าประเทศพัฒนาแล้วหลายแห่ง
ในส่วนของปัจจัยแห่งความสำเร็จ เป็นผลจาก (1) ข้อได้เปรียบทางธรรมชาติ เนื่องจากสหรัฐเป็นแหล่งพลังงานมหาศาล โดยเฉพาะการปฏิวัติก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบจากหินดินดาน (Shale gas-shale oil) ทำให้สหรัฐมีเป็นแหล่งผลิตพลังงานอันดับหนึ่งของโลก
(2) นโยบายที่ชาญฉลาด โดยสหรัฐมีแนวนโยบายการกำกับดูแล (Regulation) ที่ผ่อนคลายกว่าเศรษฐกิจอื่น ๆ ขณะที่นโยบายเศรษฐกิจสามารถปรับเปลี่ยนได้รวดเร็ว ทั้งนโยบายการเงินและคลัง โดยเฉพาะในยามวิกฤต
(3) ภาคเอกชนที่มีพลวัตสูง มีการดึงดูดผู้อพยพ แนวคิดใหม่ และการลงทุนจากทั่วโลก รวมถึงเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีระดับโลก
ภาพเหล่านี้ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐแข็งแกร่งกว่าประเทศอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น การที่เศรษฐกิจเติบโต 10% นับตั้งแต่ปี 2020 เร็วกว่าประเทศ G7 อื่นๆ 3 เท่า ขณะที่บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ 7 แห่ง (Magnificent 7) มีมูลค่ารวมมากกว่าตลาดหุ้นของอังกฤษ แคนาดา เยอรมนี และญี่ปุ่นรวมกัน
อย่างไรก็ตาม สหรัฐก็ยังเผชิญกับความท้าทายในอนาคต ทั้งจาก
(1) การเมืองภายในที่แบ่งแยกมากขึ้น เห็นได้จากความเห็นที่แตกต่างกันมากของผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี
(2) นโยบายที่มุ่งปกป้องผู้สนับสนุนทางการเมืองในแต่ละพรรคมากกว่าภาพรวมเศรษฐกิจ
(3) แนวโน้มการใช้นโยบายปกป้องการค้าและแทรกแซงตลาดที่อาจส่งผลเสียในระยะยาว ไม่ว่าใครจะขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีก็ตาม
ในส่วนของเศรษฐกิจจีน เปรียบเหมือนมังกรซุ่มสะสมพลังหลังเผชิญพายุ เห็นได้จากการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายท่ามกลางความท้าทาย โดยในสถานการณ์ปัจจุบัน อาจกล่าวได้ว่าเศรษฐกิจจีนยังอยู่ในภาวะ "ลูกผีลูกคน" ทั้งตัวเลข GDP ทั้งการส่งออก ทั้งตัวเลขเงินเฟ้อที่กลายเป็นเงินฝืด และตัวเลขภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังตกต่ำต่อเนื่อง
แต่นับตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา ทางการจีนประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ ทั้งการเพิ่มระดับหนี้สาธารณะ การเพิ่มโควตาเงินกู้สำหรับโครงการที่อยู่อาศัยที่ยังสร้างไม่เสร็จ การประกาศแผนปรับปรุงที่อยู่อาศัยในเมืองใหญ่เพื่อช่วยอุ้มภาคอสังหาฯ
ขณะที่ในส่วนของภาคการเงิน ธนาคารกลางจีนได้ประกาศมาตรการต่าง ๆ เช่น สินเชื่อพิเศษ 3 แสนล้านหยวนแก่ธนาคารพาณิชย์เพื่อสนับสนุนการซื้อหุ้นคืน รวมถึงการลดดอกเบี้ยและการลดอัตราเงินสำรองธนาคารพาณิชย์ (RRR)
แม้ว่ามาตรการเหล่านี้แสดงถึงความพยายามของรัฐบาลในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่ยังมีประเด็นเสี่ยงสำคัญ เช่น
(1) รัฐบาลท้องถิ่นซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบาย กำลังเผชิญปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัว ทำให้อาจไม่สามารถเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนนโยบายที่ดี
(2) การแก้ปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ยังคงเป็นความท้าทาย เนื่องจากปัญหาอุปทานล้นเกินในหลายเมือง
(3) ธนาคารพาณิชย์อาจเผชิญความเสี่ยงสูงขึ้นจากการเป็นเครื่องมือหลักในการช่วยเหลือเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่ดีขึ้นในเดือน ก.ย. โดยเฉพาะในด้านการบริโภคและการผลิต อาจเป็นสัญญาณเบื้องต้นของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงก่อนหน้า
ในส่วนของความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์โลก ที่เป็นดั่งพายุลูกใหม่ที่ใกล้เข้ามา โดยเรากำลังเห็นการเปลี่ยนผ่านของภูมิลักษณ์เศรษฐกิจโลก จากวิกฤตเงินเฟ้อสู่ด้านความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงความเสี่ยงหนี้สาธารณะ
โดยปัจจัยสำคัญที่จะเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกใน 1-2 ปีข้างหน้า ได้แก่
(1) การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกอย่างมีนัยสำคัญ
(2) หนี้สาธารณะที่พุ่งสูงขึ้นโดยเฉพาะในสหรัฐ
(3) ความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงในตะวันออกกลาง
(4) สงครามที่ยืดเยื้อระหว่างรัสเซียและยูเครน
(5) ความตึงเครียดในช่องแคบไต้หวัน
ความเสี่ยงที่สำคัญที่สุด ได้แก่ความเสี่ยงจากนโยบายการค้าของสหรัฐ โดยอดีตประธานาธิบดีทรัมป์เสนอนโยบายที่อาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อการค้าโลก กล่าวคือ การขึ้นภาษีนำเข้าอย่างน้อย 10% สำหรับสินค้าที่สหรัฐนำเข้าทั้งหมด และขึ้นภาษี 60% หรือสูงกว่าสำหรับสินค้าจากจีน
สำนักวิจัยมอร์แกน สแตนลีย์ ประมาณการว่า หากมีการเก็บภาษีศุลกากรดังกล่าว จะทำให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น 0.9% และผลผลิตทางเศรษฐกิจลดลง 1.4% โดยรวม
ขณะที่การทำ Sensitivity Analysis ของผู้เขียนพบว่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวชะลอลง 0.8% ขณะที่เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นประมาณ 0.4% นอกจากนั้น อาจทำให้เศรษฐกิจไทยที่มีโอกาสฟื้นตัวได้ในปีหน้ากลับต้องฟุบลงมาอีกครั้ง
ด้านความเสี่ยงจากสงครามและหนี้สาธารณะ ก็แรงไม่ยิ่งหย่อน โดยหากเกิดสงครามเต็มรูปแบบในตะวันออกกลาง ราคาน้ำมันอาจพุ่งสูงถึง 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และอาจลดการเติบโตของเศรษฐกิจโลกลง 0.5% และเพิ่มอัตราเงินเฟ้อขึ้น 0.6%
ขณะที่ด้านความเสี่ยงจากหนี้สาธารณะนั้น IMF คาดการณ์ว่าหนี้สาธารณะทั่วโลกจะแตะ 100 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 93% ของ GDP โลก ภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งจะทำให้รัฐบาลมี "กระสุนทางการคลัง" น้อยลงในการรับมือกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งต่อไป
ทั้งหมดนี้ บ่งชี้ว่า ความไม่แน่นอนทางการเมือง โดยเฉพาะการเลือกตั้งในสหรัฐ เป็นปัจจัยสำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก โดยนโยบายการค้าของทรัมป์อาจนำไปสู่สงครามการค้าที่ส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึงสงครามในตะวันออกกลางที่อาจส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันและเศรษฐกิจโลก
ขณะที่หนี้สาธารณะที่พุ่งสูงขึ้นเป็นความท้าทายระยะยาว ที่อาจจำกัดความสามารถของรัฐบาลในการรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจในอนาคต
แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยเฉพาะจากพญาอินทรีที่ยังผงาดท่ามกลางพญามังกรที่ซุ่มสะสมพลัง แต่พายุแห่งความเสี่ยงลูกใหญ่ยังคงพุ่งมาใกล้ ผู้กำหนดนโยบาย นักธุรกิจ และนักลงทุนทุกท่าน โปรดพึงระวัง
บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่