ส่อง 5 โมเดลต่างประเทศ จัดเก็บ 'ค่าธรรมเนียมรถติด' อย่างไร ?
ส่องโมเดลเก็บค่าธรรมเนียมรถติด 5 ประเทศ พบส่วนใหญ่กำหนดพื้นที่เขตศูนย์กลางของเมือง ใช้เทคโนโลยีจัดเก็บผ่านการตรวจจับป้ายทะเบียนอัตโนมัติ ขณะที่ผลสำเร็จช่วยลดการจราจรแออัดมากสุด 34% หนุนใช้ระบบขนส่งสาธารณะเพิ่มขึ้น 18%
KEY
POINTS
- เปิดโมเดลเก็บค่าธรรมเนียมรถติด 5 ประเทศ พบส่วนใหญ่กำหนดพื้นที่เขตศูนย์กลางของเมือง ใช้เทคโนโลยีจัดเก็บผ่านการตรวจจับป้ายทะเบียนอัตโนมัติ
- "มิลาน" สามารถลดปริมาณการจราจรได้มากถึง 34% ขณะที่กรุงลอนดอน ก็สามารถเพิ่มปริมาณผู้โดยสารที่ใช้บริการขนส่งสาธารณะในพื้นที่ดังกล่าวมากถึง 18% รวมทั้งยังมีรายได้ นำเงินส่วนนี้ไปพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ
- จับตาผลการศึกษา สนข. จ่อใช้โมเดลจัดเก็บในพื้นที่เป้าหมาย "สุขุมวิท สีลม รัชดา" แนวรถไฟฟ้าตัดผ่าน ปริมาณจราจรเฉลี่ย 7 แสนคันต่อวัน
- เก็บค่าธรรมเนียมในอัตราเพิ่มขึ้นทุก 5 ปี คาดรายได้ส่วนนี้ประมาณ 1 หมื่นล้านบาทต่อปี จ่อนำไปเข้ากองทุน Infrastructure fund ซื้อคืนรถไฟฟ้าจากเอกชน และปรับราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าเหลือ 20 บาทตลอดสาย
การจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด หรือ Congestion Charge เป็นหนึ่งในนโยบายแก้ปัญหาการจราจรในเขตเมือง ซึ่งเกิดจากไอเดียของการศึกษาดูงานในต่างประเทศ ที่มีผลสำเร็จจากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถยนต์ส่วนบุคคลที่จะเข้ามาพื้นที่ศูนย์กลางเมืองที่การจราจรแออัด และเป็นพื้นที่ที่มีระบบขนส่งสาธารณะเข้าถึงอย่างสะดวก
กระทรวงคมนาคม โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาแนวทางแก้ปัญหาการจราจรติดขัดในกรุงเทพฯ ชั้นใน รวมไปถึงหาแนวทางกระตุ้นให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งเริ่มศึกษารูปแบบของการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด จากการนำความสำเร็จของหลายประเทศที่ใช้โมเดลแก้รถติดจากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมมาศึกษาเปรียบเทียบ และต่อยอดสู่โมเดลที่เตรียมใช้ในประเทศไทยโดยพบว่า
โมเดลต่างประเทศที่ สนข.กำลังศึกษามีจำนวน 5 เมืองใหญ่ ประกอบด้วย
1.กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร (อังกฤษ)
- กำหนดเขตพื้นที่การจัดเก็บค่าธรรมเนียมเป็นพื้นที่เขตศูนย์กลางของเมือง
- ราคา 15 ปอนด์ต่อวัน
- กำหนดช่วงเวลาการจัดเก็บเป็น จันทร์-ศุกร์ 07.00-18.00 น. วันเสาร์-อาทิตย์ 12.00 – 18.00 น. ยกเว้นวันหยุดธนาคารและวันหยุดนักขัตฤกษ์
- ระบบการทำงานด้วยการกล้องตรวจจับการรับรู้ป้ายทะเบียนรถอัตโนมัติ
- วิธีการชำระเงินผ่านแอปพลิเคชัน/ออนไลน์ Internet Banking
2.ประเทศสิงคโปร์
- กำหนดเขตพื้นที่การจัดเก็บค่าธรรมเนียมเป็นพื้นที่เขตศูนย์กลางของเมือง และพื้นที่ที่มีการจราจรหนาแน่น
- ราคา 1 - 6 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อวัน
- กำหนดช่วงเวลาการจัดเก็บเป็น จันทร์ -เสาร์ 06.00 - 22.00 น. ยกเว้นวันอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์
- ระบบการทำงานด้วยเทคโนโลยีวิทยุระบุความถี่ (RFID) เพื่อทำการเก็บค่าธรรมเนียมความแออัดโดยอัตโนมัติจากยานพาหนะที่ติดตั้ง IU ที่ผ่านไปใต้ประตู ERP
- วิธีการชำระเงินด้วยชุดควบคุมภายในรถ (The In-vehicle Unit (IU)) โดยเชื่อมต่อกับเครื่องชำระเงินผ่านบัตรแทนเงินสด หรือบัตรเดบิต/เครดิต (ชำระ ณ ที่จ่าย)
3.เมืองสต๊อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน
- กำหนดเขตพื้นที่การจัดเก็บค่าธรรมเนียมเป็นพื้นที่เขตศูนย์กลางของเมือง ทางหลวงพิเศษเอสซิงเกเลเดน
- ราคา 11 – 45 โครนาสวีเดนต่อวัน
- กำหนดช่วงเวลาการจัดเก็บเป็น จันทร์ - ศุกร์ 06.30 – 18.29 น. ยกเว้นวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์
- ระบบการทำงานด้วยการกล้องตรวจจับการรับรู้ป้ายทะเบียนรถอัตโนมัติ
- วิธีการชำระเงินโดยกล้องตรวจจับค่าผ่านทางบนถนน จะบันทึกยานพาหนะทั้งหมด และมีการส่งใบแจ้งหนี้ไปยังเจ้าของยานพาหนะในตอนท้ายของเดือน
4.เมืองโกเธนเบิร์ก ประเทศสวีเดน
- กำหนดเขตพื้นที่การจัดเก็บค่าธรรมเนียมเป็นพื้นที่เขตศูนย์กลางของเมือง ถนนสายหลัก E6
- ราคา 9 – 22 โครนาสวีเดนต่อวัน
- กำหนดช่วงเวลาการจัดเก็บเป็น จันทร์ - ศุกร์ 06.30 – 18.29 น. ยกเว้นวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์
- ระบบการทำงานด้วยการกล้องตรวจจับการรับรู้ป้ายทะเบียนรถอัตโนมัติ
- วิธีการชำระเงินโดยกล้องตรวจจับค่าผ่านทางบนถนน จะบันทึกยานพาหนะทั้งหมด และมีการส่งใบแจ้งหนี้ไปยังเจ้าของยานพาหนะในตอนท้ายของเดือน
5.เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี
- กำหนดเขตพื้นที่การจัดเก็บค่าธรรมเนียม ใจกลางเมืองมิลาน บริเวณเซอร์เคีย เดย บาสติโอนี่
- ราคา 2-5 ยูโรต่อวัน
- กำหนดช่วงเวลาการจัดเก็บเป็น จันทร์ อังคาร พุธ ศุกร์ 7.30 – 19.30 น. วันพฤหัสบดี 07.30 – 18.30 น. ยกเว้นวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์
- ระบบการทำงานด้วยการกล้องตรวจจับการรับรู้ป้ายทะเบียนรถอัตโนมัติ
- วิธีการชำระเงินผ่านตู้ชำระเงินบริเวณที่จอดรถ เครื่องเอทีเอ็ม แอปพลิเคชัน และช่องทางออนไลน์
สำหรับ ผลลัพธ์จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการใช้ถนนในพื้นที่รถติดของทั้ง 5 เมืองดังกล่าว พบว่าส่งผลบวกในการแก้ไขปัญหาปริมาณการจราจรที่แออัด โดยในเมืองมิลาน ประเทศอิตาลี สามารถลดปริมาณการจราจรได้มากถึง 34% ขณะที่ในกรุงลอนดอน ก็สามารถเพิ่มปริมาณผู้โดยสารที่ใช้บริการขนส่งสาธารณะในพื้นที่ดังกล่าวมากถึง 18% รวมทั้งกรุงลอนดอนยังมีรายได้จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมประมาณ 352 ล้านดอลลาร์ต่อปี ซึ่งสามารถนำเงินส่วนนี้ไปพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ ได้
ขณะที่รูปแบบการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติดของไทยนั้น “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เผยว่า พื้นที่เป้าหมายในการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด อาทิ สุขุมวิท สีลม และรัชดา ซึ่งพื้นที่เหล่านี้ปัจจุบันมีทางเลือกในการเดินทางหลากหลาย มีแนวรถไฟฟ้าตัดผ่าน โดยพื้นที่เหล่านี้มีปริมาณจราจรเฉลี่ย 7 แสนคันต่อวัน
โดยเบื้องต้นจัดเก็บค่าธรรมเนียมในอัตราเพิ่มขึ้นทุก 5 ปี อาทิ ใน 5 ปีแรกจัดเก็บคันละ 40 - 50 บาท หลังจากนั้นจะจัดเก็บคันละ 80 บาท เป็นต้น คาดว่าจะได้รายได้ส่วนนี้ประมาณ 1 หมื่นล้านบาทต่อปี หลังจากนั้นกระทรวงฯ จะนำรายได้เข้ากองทุนโครงสร้างพื้นฐาน หรือ Infrastructure fund เพื่อซื้อคืนรถไฟฟ้าจากเอกชน และปรับราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าให้เหลือ 20 บาทตลอดสาย ลดค่าครองชีพในการเดินทางให้ประชาชน