เอกชนเตือนไทยรับมือ ‘ทรัมป์-แฮร์ริส’ เดินหน้านโยบายแข็งกร้าวต่อจีน
"เอกชน” เตือนเลือกตั้งสหรัฐ แนะธุรกิจปรับโฟกัสเศรษฐกิจโลกใหม่ ห่วงทรัมป์ซ้ำเติมปมสงครามการค้า ไทยระวังรับบทตัวแทนทุนจีนตกที่นั่งคู่ขัดแย้งหน้าใหม่ ชี้รักษาสมดุลสหรัฐ-จีน “แบงก์ชาติ-นักเศรษฐศาสตร์”ประสานเสียง “ทรัมป์”มาโลกป่วน ส่วนแฮร์ริส เชื่อไม่เปลี่ยนมาก
ภาคเอกชนและภาครัฐของไทยได้มีการติดตามทิศทางการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐที่เป็นการชิงระหว่าง “คามาลา แฮร์ริส” จากพรรคเดโมเครต และ “โดนัลด์ ทรัมป์” จากพรรครีพับลิกัน ซึ่งนโยบายที่มีการหาเสียงได้เห็นถึงความแตกต่าง แต่มีบางประเด็นที่น่าจับตาและไม่ว่าใครขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีจะมีท่าทีคล้ายกัน คือ นโยบายต่อจีน
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ไม่ว่าใครชนะยังไม่กระทบเศรษฐกิจไทยในปลายปี 2567 และต้นปี 2568 สำหรับใครที่กลัวว่าสินค้าไทยที่ส่งไปสหรัฐจะถูกภาษีนำเข้ากีดกันก็เป็นปัญหาทั่วโลก ซึ่งจีนได้รับผลกระทบมากกว่าประเทศอื่นและในทางปฏิบัติต้องมีรัฐสภาของสหรัฐแทรกแซงแน่นอน
อย่างไรก็ตาม สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐและสมาชิกวุฒิสภาสหรัฐต้องฟังเสียงประชาชน เพราะต้องชนะการเลือกตั้งครั้งต่อไป ดังนั้น นโยบายภาษีศุลกากร 10-60% ที่กังวลกันนั้นคาดว่ารัฐสภาจะยับยั้ง
ไทยยังถูกจับจ้องความได้เปรียบในดุลการค้ากับสหรัฐอยู่มาก โดยไทยวางแผนที่จะเพิ่มปริมาณสินค้าและรายได้ ขณะที่ผลกระทบทางอ้อมจากการเลือกตั้งของสหรัฐจะมาจากกรณีสินค้าจีนถูกเก็บภาษี 60% ทำให้เข้าสหรัฐได้บางส่วนและที่เหลือต้องหาที่อื่นเพราะจีนไม่ลดการผลิต "
"แม้ว่านโยบายทั้ง 2 จะแตกต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกัน คือ มาตรการแข็งกร้าวกับจีน โดยเฉพาะมาตรการกีดกันทางการค้า ดังนั้นไทย ในฐานะที่จีนเข้ามาลงทุนมาก ทั้ง EV โซล่าเซลล์ อิเล็กทรอนิกส์และผลิตภัณฑ์ยางรถยนต์ อาจทำให้สหรัฐเพ่งเล็งและเข้มงวดสินค้าจีนที่ผลิตในไทยว่าใช้ไทยเป็นฐานการส่งออกเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี"
นายสนั่น กล่าวว่า รัฐบาลและภาคธุรกิจไทยต้องปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องและคว้าโอกาสจากการเปลี่ยนแปลง รวมถึงเตรียมความพร้อมการรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากแนวโน้มของฉากทัศน์การค้าโลกที่กำลังเปลี่ยน โดยเฉพาะการมุ่งเน้นการสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มให้สินค้าไทย และกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม
ทั้งนี้ ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาเป็นอย่างไร มั่นใจว่าไทยจะปรับตัวได้เพื่อรักษาความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ ที่มีมานาน 191 ปี ให้สหรัฐเป็นตลาดและเป็นพันธมิตรที่เข้มแข็ง
แนะไทยรักษาสมดุล“จีน-สหรัฐ”
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ข้อมูลย้อนหลังช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ไทยส่งออกไปสหรัฐเติบโตถึง 112% แสดงว่าไทยได้รับอานิสงส์จากนโยบายสหรัฐ ดังนั้นความท้าทายอยู่ที่การวางนโยบายต่างประเทศของไทยต้องรักษาสมดุลระหว่างจีนและสหรัฐให้เหมาะสม
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กรณีแฮร์ริส ชนะการเลือกตั้งคาดว่ามีการดำเนินนโยบายด้านการต่างประเทศและการค้าระหว่างประเทศในทิศทางเดิม โดยสนับสนุนการค้าเสรี ส่วนกรณีทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งนโยบาย American First ที่ปกป้องผลประโยชน์ของชาติจะนำไปสู่การขึ้นภาษีนำเข้าที่กระทบการส่งออกไทย
นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่าหากสงครามการค้ารุนแรงมากขึ้นสิ่งที่ตามมาคือ เมื่อสินค้าไปสหรัฐไปได้ อาจเห็นสินค้าต่างๆทะลักเข้าไทย หรืออาเซียนมากขึ้น
ทั้งนี้ จากการกีดกันทางการค้าที่รุนแรงมากขึ้น และหนุนการขายสินค้ากันเองภายในสหรัฐ อาจทำให้เงินเฟ้อสหรัฐไม่ได้ลดลงเหมือนที่คาด ทำให้การคาดการณ์เงินเฟ้อของโลกเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาได้ จนอาจกระทบทำให้ตลาดเงินผันผวนมากขึ้นหลังจากนี้ ดังนั้นผลกระทบจากการที่ทรัมป์มา อาจเห็นได้ทั้งจากการส่งออก การค้าโลก และความผันผวนในตลาดเงิน
อย่างไรก็ตาม หากคามาลา แฮร์ริส จากเดโมแครตได้ เศรษฐกิจโดยรวมของโลกอาจไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากขึ้น นโยบายต่างๆอาจยังคงเดิม ดังนั้นมองว่าผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทยอาจไม่มากนัก
ทรัมป์มาเสี่ยงเศรษฐกิจไทยต่ำ 3%
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า กรณีแฮร์ริสชนะ นโยบายต่างๆ สานต่อจากไบเดน สงครามการค้า สงครามเทคโนโลยียังคงดำเนินต่อเพื่อไม่ให้จีนเป็นใหญ่ในเวทีโลก ราคาน้ำมันอาจทรงๆ ดังนั้นมองว่าจะมีทั้งโอกาสและความเสี่ยงต่อประเทศไทยจากการย้ายฐานการผลิตมาไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งกรณีนี้มองว่าเศรษฐกิจไทยมีโอกาสเติบโตได้ถึง 3% ปีหน้า
ส่วนกรณีของทรัมป์ อาจเห็นความเสี่ยงสูงขึ้น โอกาสที่จะเห็นดอลลาร์แข็งค่าขึ้นจากความเสี่ยงที่สูงขึ้น ทำให้เงินถูกโยกกลับไปสู่สหรัฐ ขณะที่สงครามการค้าจะมีความรุนแรงมากขึ้น ไทยเองก็อาจถูกเก็บภาษีเพิ่มเติม เหล่านี้นำมาสู่ความเสี่ยงด้านการส่งออกของไทย ที่อาจไม่ได้เติบโตเหมือนที่คิด ทำให้อาจเห็นเศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำกว่ากรณีที่ แฮร์ริสชนะ หรือมีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะเติบโตต่ำกว่า 3% ได้ จากภาคส่งออก การผลิตที่อาจแย่ลง จากความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์สูงมากขึ้น
หวั่นดอลลาร์แข็งเงินไหลเข้าสหรัฐ
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ในมุมของตลาดเงิน มองว่า หากทรัมป์มา การลดดอกเบี้ยอาจทำได้ยากขึ้น เพราะการมาของทรัมป์ จะมาพร้อมการขึ้นกำแพงภาษี ที่มาพร้อมกับเงินเฟ้อที่อาจสูงขึ้นทำให้การลดดอกเบี้ยในอนาคตทำได้ยากมากขึ้น
นอกจากนี้ อาจกดดันเศรษฐกิจไทยบ้าง จากการกีดกันทางการค้า ทำให้ช่วงสั้นๆอาจเห็นดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ในช่วง1เดือนหลังเลือกตั้ง ซึ่งแตกต่างกับแฮร์ริส ที่คาดว่า ดอลลาร์อาจอ่อนค่าลงได้บ้าง แต่เป็นเพียงช่วงสั้นๆเพราะเศรษฐกิจสหรัฐอยู่ในทิศทางที่ดี
นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส Chief investment office บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า หากแฮร์ริสมา มองผลกระทบต่อไทยอาจไม่มากนัก เพราะนโยบายต่างอาจไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากนี้ หากผู้นำใหม่เป็นทรัมป์ อาจมีความเสี่ยงกับเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยมากกว่า จากนโยบายการกีดกันทางการค้าที่จะสูงขึ้น จากการเข้มขึ้นเรื่องกำแพงภาษี