“สายสีส้มตะวันตก” ปั้นทำเลทองที่อยู่อาศัยดันแวลูเพิ่มแตะปีละ 5 หมื่นล้าน

“สายสีส้มตะวันตก” ปั้นทำเลทองที่อยู่อาศัยดันแวลูเพิ่มแตะปีละ 5 หมื่นล้าน

การลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก (บางขุนนนท์ - ศูนย์วัฒนธรรมฯ) ที่มีมูลค่ากว่า 1.4 แสนล้านบาท เป็นอีกหนึ่งโครงการสำคัญที่จะเชื่อมกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก และตะวันตกเข้าด้วยกัน

โดยสายสีส้มฝั่งตะวันออกดำเนินการก่อสร้างเสร็จสิ้นแล้ว ล่าสุดกระทรวงคมนาคมมอบหมายให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) และบริษัททางด่วน และรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้รับสัมปทาน เร่งรัดการดำเนินงานติดตั้งระบบรถไฟฟ้าในส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย - มีนบุรี

(สุวินทวงศ์) ให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด เพื่อให้สามารถเปิดให้บริการเดินรถไฟฟ้าในส่วนตะวันออกได้ก่อนภายในต้นปี 2571 และเร่งเปิดให้บริการตลอดทั้งเส้นทางทั้งส่วนตะวันออก และตะวันตกให้แล้วเสร็จก่อนกำหนดการในเดือนพ.ย.2573

สุปรีย์ ศรีสำราญ ผู้อำนวยการฝ่าย ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย ระบุว่า โครงการดังกล่าวจะหนุนการขยายตัวของเมือง อีกทั้ง ยังมีช่วยส่วนในการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงระยะเวลาก่อสร้างราว 5-6 ปีข้างหน้า ซึ่งจะเป็นผลบวกต่อธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องโดยตรง ทั้งธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง ธุรกิจจำหน่าย และติดตั้งงานระบบรถไฟฟ้า รวมถึงก่อให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชนตามมา (Crowding-in effect) โดยเฉพาะในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ตามความต้องการอยู่อาศัยในบริเวณบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ ที่มากขึ้น

ด้านสุจิตรา อันโน นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS กล่าวว่า รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ) มี 3 จุดเด่นที่น่าสนใจ ได้แก่

1. การเป็นจิ๊กซอว์สำคัญเชื่อมกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก และตะวันตก เข้าด้วยกัน ทำให้การเดินทางเข้าสู่ตัวเมือง และกรุงเทพฯ ชั้นใน สะดวกขึ้น อีกทั้ง ยังมีสถานีที่เป็นจุดตัดกับโครงข่ายรถไฟฟ้าอื่นๆ อีกหลายเส้นทาง ทำให้เหมาะสำหรับการต่อยอดสู่ Hub ในการเดินทางและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ได้หลายรูปแบบ

 2. จุดเช็กอินหลากหลาย ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ ทุกเพศทุกวัย โดยมีเส้นทางผ่านทั้งสถานที่ทำงานของหน่วยงานภาครัฐ โรงเรียน ย่านธุรกิจ ย่านชุมชนเก่า ย่านที่อยู่อาศัย และสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ ตลอดจนสามารถเชื่อมต่อไปยังย่านธุรกิจหลักใจกลางกรุงเทพฯ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้การเดินทางของคนในพื้นที่สูงขึ้น และทำให้พื้นที่โดยรอบมีศักยภาพมากขึ้น 

3. การเดินทางเข้าเมืองสะดวกขึ้น ตอบโจทย์เทรนด์รักษ์โลก เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่จะทำให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี ค.ศ.2065

กณิศ อ่ำสกุล นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS กล่าวว่า หากอ้างอิงกับตลาดที่อยู่อาศัยบริเวณโดยรอบแนวรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) คาดว่า รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกจะเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญทำให้ยอดขายที่อยู่อาศัยในทำเลบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ ปรับตัวสูงขึ้นจากปีละ 5,450 ยูนิต มูลค่า 3.9 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็นปีละ 6,800 ยูนิต คิดเป็นมูลค่าเกือบ 5 หมื่นล้านบาท 

สำหรับ ความคืบหน้าการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย รวมจำนวน 12 สถานี ซึ่งจะเริ่มต้นสถานีบางขุนนนท์ เป็นอุโมงค์ใต้ดินวิ่งไปตามแนวทางรถไฟเดิมไปยังโรงพยาบาลศิริราช บริเวณสถานีศิริราช

จากนั้นจึงวิ่งลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา ขนานไปกับสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ลอดใต้พื้นที่ถนนราชดำเนิน ไปยังสถานีสนามหลวง และสถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หลังจากนั้นเบี่ยงแนวเส้นทางไปตามแนวถนนหลานหลวง โดยจะมีสถานีหลานหลวง และสถานียมราช

หลังจากนั้นจะเลี้ยวขวาไปตามถนนเพชรบุรี จนถึงสี่แยกประตูน้ำ โดยจะมีการก่อสร้างสถานีราชเทวี และสถานีประตูน้ำ ก่อนเลี้ยวซ้ายลอดใต้ถนนราชปรารภ ไปยังสถานีราชปรารภ ตรงไปถึงสามเหลี่ยมดินแดง แล้วจึงเลี้ยวขวาไปตามถนนดินแดง บริเวณนั้นจะมีสถานีดินแดง

ก่อนจะเลี้ยวซ้ายวิ่งตามแนวถนนวิภาวดีรังสิต แล้วเลี้ยวขวาผ่านกรุงเทพมหานคร 2 และเบี่ยงขวาลอดผ่านชุมชนประชาสงเคราะห์ เป็นสถานีประชาสงเคราะห์ และเชื่อมต่อไปยังสถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งสถานีนี้จะสามารถเดินทางเชื่อมต่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ–มีนบุรี (สุวินทวงศ์) รวมทั้งสามารถเปลี่ยนเส้นทางไปยังรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน

กิตติกร ตันเปาว์  รองผู้ว่าการ (วิศวกรรมและก่อสร้าง) รฟม.เผยว่าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มขณะนี้ทางเอกชนผู้รับสัมปทาน คือ บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพจำกัด (มหาชน) หรือ BEM ได้เริ่มดำเนินงานเข้าไปสำรวจสาธารณูปโภคแล้ว โดยภาพรวมมีความก้าวหน้า ณ สิ้นเดือน ต.ค. 2567 อยู่ที่ 1.90%

อย่างไรก็ดี BEM จะเริ่มงานรื้อย้ายสาธารณูปโภคในวันที่ 15 พ.ย.นี้เป็นต้นไป ซึ่งทราบว่าตามแผนจะทยอยดำเนินการ 5 สถานีแรก ประกอบด้วย สถานีบางขุนนนท์ สถานีศิริราช สถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สถานียมราช และสถานีประตูน้ำ โดยจะดำเนินการปิดเบี่ยงจราจรชิดทางเท้า 1 ช่องจราจร ยกเว้นสถานีศิริราชจะเป็นการจัดการจราจรในพื้นที่ก่อสร้างที่ไม่ส่งผลกระทบต่อช่องจราจร สำหรับสถานีส่วนที่เหลือจะดำเนินการปิดเบี่ยงจราจรในช่วงปลายเดือน พ.ย.นี้

ทรงวุฒิ ศิริอุดมเลิศ  ผู้แทนจาก BEM กล่าวว่า การก่อสร้างงานโยธา หลังจากสำรวจและรื้อย้ายสาธารณูปโภคแล้วเสร็จ คาดว่าในช่วงต้นปี 2568 จะสามารถนำเครื่องจักรเข้าพื้นที่เพื่อเริ่มเตรียมก่อสร้างโครงการได้ โดยจะทยอยก่อสร้างส่วนของ 5 สถานีแรก ซึ่งงานโยธาส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมฯ กำหนดแล้วเสร็จตามสัญญาภายใน 6 ปี โดย BEM คาดว่าจะเร่งรัดงานดังกล่าวให้แล้วเสร็จก่อนกำหนด เพื่อเปิดให้บริการได้ภายในปี 2573

“พื้นที่ก่อสร้างที่อยู่ในเขตเมืองเก่าเกาะรัตนโกสินทร์ ทาง BEM ได้หารือร่วมกับคณะกรรมการเกาะรัตนโกสินทร์ และกรมศิลปากร เพื่อประเมินแบบก่อสร้าง และกรณีการขุดเจาะพบโบราณวัตถุต่างๆ ซึ่งยืนยันได้ว่าการทำงานในพื้นที่เหล่านี้ จะไม่กระทบต่อโบราณสถาน และโบราณวัตถุ อีกทั้ง BEM ยังมีแผนพัฒนาจัดแสดงโบราณวัตถุต่างๆ ที่ขุดพบไว้ในสถานีรถไฟฟ้า รวมไปถึงออกแบบสถานีให้สอดคล้องกับพื้นที่ทางประวัติศาสตร์”

รวมทั้ง BEM จะออกแบบก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าเหล่านี้ร่วมกับคณะกรรมการเกาะรัตนโกสินทร์ เพื่อให้สถานีรถไฟฟ้าสอดคล้องกับพื้นที่ประวัติศาสตร์ พร้อมนำโบราณวัตถุต่างๆ มาจัดแสดงเป็นแหล่งท่องเที่ยว

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์

“สายสีส้มตะวันตก” ปั้นทำเลทองที่อยู่อาศัยดันแวลูเพิ่มแตะปีละ 5 หมื่นล้าน