บทวิเคราะห์: ไทยเสี่ยงจะถูกปรับลดอันดับเครดิตหรือไม่

บทวิเคราะห์: ไทยเสี่ยงจะถูกปรับลดอันดับเครดิตหรือไม่

ในช่วงที่ผ่านมา คำถามที่ผู้เขียนมักจะถูกถาม นอกจากประเด็นว่าใครจะได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐท่านใหม่ และผลต่อเศรษฐกิจเป็นอย่างไรแล้ว อีกคำถามคือ ไทยจะถูกปรับลดอันดับเครดิตหรือไม่ ในบทความนี้ ผู้เขียนจึงขอวิเคราะห์ในเชิงวิชาการในรายละเอียด ดังนี้

ในการวิเคราะห์ว่าตราสารหนี้ของรัฐบาลไทยจะถูกปรับลดอันดับเครดิตหรือไม่ ผู้เขียนได้จัดทำดัชนีความเสี่ยงการถูกปรับลดอันดับเครดิตของพันธบัตรรัฐบาลไทย โดยพิจารณาจากเกณฑ์การปรับลดอันดับเครดิตของ Moody’s และ S&P เป็นหลัก โดยแบ่งความเสี่ยงออกเป็น 5 ด้าน

ด้านที่หนึ่ง ปัจจัยด้านความเสี่ยงทางการคลัง มี 4 หลักเกณฑ์ ได้แก่

(1) การเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะอย่างมีนัยสำคัญ (มากกว่า 10% ของ GDP ในระยะเวลาสั้น)ไทยเสี่ยงน้อย เพราะ หนี้สาธารณะล่าสุดของไทยอยู่ที่ 63.3% GDP สูงขึ้นเล็กน้อยจาก 62.4% GDP ในปีที่แล้ว ผลจากมาตรการรับมือโควิด-19 ซึ่งเป็นสถานการณ์ชั่วคราว ในขณะที่ในระยะยาว กระทรวงการคลังมีแผนจะลดการขาดดุลลง 

(2) การขาดดุลงบประมาณต่อเนื่องเกินกว่า 3% ของ GDP ไทยเสี่ยงปานกลาง เพราะไทยขาดดุลการคลังเกิน 3% GDP ต่อเนื่องมา 6 ปี แต่ยังเป็นระดับที่ต่ำกว่า 5% ที่ถือว่าเสี่ยงมาก และกระทรวงการคลังมีแผนจะลดการขาดดุลสู่ 3% ในปี 2571 

(3) ภาระดอกเบี้ยต่อรายได้รัฐบาลเพิ่มขึ้นเกินระดับที่กำหนด ไทยเสี่ยงน้อย เพราะภาระดอกเบี้ยของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ยังอยู่ต่ำกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่ 10% 

(4) ความสามารถในการจัดเก็บรายได้ลดลง ไทยเสี่ยงน้อย เพราะรายได้ภาษียังคงขยายตัวต่อเนื่อง โดยหดตัวแรงในปี 2565 จากเศรษฐกิจที่แย่ลงหลัง Covid แต่หลังจากนั้น รายได้ขยายตัวเฉลี่ยปีละประมาณ 6.4%

ด้านที่สอง ปัจจัยด้านความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ มี 4 หลักเกณฑ์ ได้แก่

(1) การชะลอตัวของการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ไทยเสี่ยงน้อย เนื่องจาก GDP ไทยแม้จะโตต่ำกว่าศักยภาพที่ประมาณ 3% ต่อเนื่อง และเติบโตต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน แต่การเติบโตไม่ได้เป็นลบ โดย GDP รายไตรมาสใน 2 ไตรมาสหลัง เติบโตเฉลี่ยไตรมาสละประมาณ 1% 

(2) การลดลงของรายได้ต่อหัวประชากรอย่างมีนัยสำคัญ ไทยไม่เสี่ยง เพราะรายได้ต่อหัวของไทยใน 3 ปีหลัง (2021-2023) ค่อนข้างคงที่ ที่ประมาณ 7,500 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี ไม่เพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่ลดลง

(3) ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่รุนแรง ไทยไม่เสี่ยง เพราะในช่วง 3 เดือนหลัง เงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น 4.2% โดยค่าเงินบาทมักมีแนวโน้มที่แข็งค่ารวดเร็ว 

(4) ภาวะเงินเฟ้อที่สูงผิดปกติและยาวนาน ไทยไม่เสี่ยง เพราะเงินเฟ้อไทยอยู่ต่ำกว่ากรอบล่างของเป้าหมายเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่อง โดย 5 เดือนล่าสุดเฉลี่ยอยู่ที่ 0.61%

ด้านที่สาม ปัจจัยด้านการเงินภายนอก มี 4 หลักเกณฑ์ ได้แก่

(1) การลดลงของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศอย่างรวดเร็ว ไทยไม่เสี่ยง เพราะทุนสำรองเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รองรับการนำเข้าได้นานถึง 8 เดือน หรือประมาณ 2.5 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น 

(2) การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูงต่อเนื่อง (มากกว่า 5% ของ GDP) ไทยไม่เสี่ยง ปัจจุบันไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่ 1.35 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือเกินดุลประมาณ 2.5% GDP 

(3) การเพิ่มขึ้นของหนี้ต่างประเทศระยะสั้นอย่างมีนัยสำคัญ ไทยไม่เสี่ยง หนี้ต่างประเทศระยะสั้นของไทยลดลงต่อเนื่อง โดยล่าสุดอยู่ที่ 8.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

(4) ความเสี่ยงในการชำระหนี้ต่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น ไทยไม่เสี่ยง เนื่องจากหนี้ต่างประเทศน้อยเมื่อเทียบกับ GDP โดยอยู่ที่ 37.4% GDP ขณะที่มีรายได้จากการส่งออกเกินพอเพื่อชำระหนี้ต่างประเทศ

ด้านที่สี่ ปัจจัยด้านสถาบันและการเมือง มี 4 หลักเกณฑ์ ได้แก่

(1) การอ่อนแอลงของกรอบนโยบายการคลัง ไทยเสี่ยงปานกลาง เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาภาคการคลังมีแรงกดดันจากนโยบายประชานิยม อย่างไรก็ตาม สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ มีการกำกับการบริหารหนี้ให้มีต้นทุนและความเสี่ยงเหมาะสม

(2) ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง ไทยเสี่ยงน้อย เนื่องจากสถานการณ์ด้านการเมืองดูจะมีความมั่นคงขึ้น ขณะที่งบประมาณปีล่าสุด (2568) บังคับใช้แล้ว

(3) การลดลงของประสิทธิภาพในการบริหารจัดการภาครัฐ ไทยเสี่ยงปานกลาง เนื่องจากความล่าช้าในการจัดทำงบประมาณที่ล่าช้าในปีที่แล้ว แต่ในปัจจุบัน การเบิกจ่ายงบประมาณทำได้ต่อเนื่อง

 (4) การเปลี่ยนแปลงนโยบายที่ส่งผลลบต่อความน่าเชื่อถือทางการเงิน ไทยเสี่ยงน้อย จากภาระการคลังเพิ่มขึ้น จากหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น แต่ยังอยู่ในกรอบฯ ขณะที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย เพิ่มกฎระเบียบทางการเงินขึ้นจาก Responsible lending ทำให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้ยากขึ้น

ด้านที่ห้า ปัจจัยด้านความเสี่ยงเชิงระบบ มี 4 หลักเกณฑ์ ได้แก่

(1) ความอ่อนแอของระบบธนาคาร ไทยเสี่ยงน้อย โดย NPL ที่สูงขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อธุรกิจขนาดเล็ก อุปโภคบริโภค ขณะสินเชื่อกล่าวถึงพิเศษเพิ่มขึ้นในเช่าซื้อ ธุรกิจขนาดเล็ก และส่วนบุคคล แต่ BIS ratio ยังอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง (19.5%) 

(2) การเพิ่มขึ้นของหนี้ภาคเอกชนในระดับที่น่ากังวล ไทยเสี่ยงมากขึ้น โดยหนี้ภาคเอกชนไทยอยู่ที่ประมาณ 140-145% ของ GDP ใกล้เคียงกับระดับเสี่ยง 150% ที่ Moody's กำหนด โดยหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ประมาณ 90% ของ GDP ขณะที่หนี้ภาคธุรกิจประมาณ 50-55% ของ GDP โดยความสามารถในการชำระหนี้ของเอกชนลดลง NPL มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และภาระดอกเบี้ยสูงขึ้น 

(3) ความเสี่ยงในภาคอสังหาฯที่อาจกระทบระบบการเงิน ไทยเสี่ยงมากขึ้น แม้สัดส่วนสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ต่อสินเชื่อรวมไม่สูงมาก โดยอยู่ที่ 25-27% ของสินเชื่อรวม แต่คุณภาพของพอร์ตสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์มีปัญหามากขึ้น

(4) การพึ่งพาการกู้ยืมจากต่างประเทศในระดับสูง ไทยไม่เสี่ยง เพราะหนี้ต่างประเทศของไทยอยู่ในระดับต่ำ

โดยสรุป ผู้เขียนมองว่าความเสี่ยงถูกปรับลดอันดับเครดิต ณ ปัจจุบัน ของไทย “ค่อนข้างต่ำ” โดยภาคที่มีเสถียรภาพได้แก่ภาคการเงินภายนอก และภาคเศรษฐกิจ เนื่องจากเสถียรภาพด้านการเงินต่างประเทศของไทยดีมาก ขณะที่เศรษฐกิจไทยไม่มีความเสี่ยงวิกฤติในระยะใกล้ แต่มีปัญหาด้านการเติบโต

สำหรับความเสี่ยงด้านการคลังของไทยอยู่ในระดับปานกลาง โดยปัจจัยที่เสี่ยงสูงสุดได้แก่การขาดดุลงบประมาณเกิน 3% GDP ต่อเนื่อง ขณะที่ภาระดอกเบี้ยต่อรายได้ ความสามารถในการจัดเก็บรายได้ภาครัฐ รวมถึงระดับหนี้สาธารณะไม่เสี่ยงมากนัก

ขณะที่ภาคที่กลับมีความเสี่ยงสูงสุด ได้แก่ “ความเสี่ยงเชิงระบบ” ที่เกิดจากหนี้ภาคเอกชน (โดยเฉพาะครัวเรือน) และหนี้ภาคอสังหาฯ ที่สูงและกระทบภาคการเงิน

โดยสรุปภาพรวมแล้ว บทวิเคราะห์นี้ชี้ให้เห็นว่า ความเสี่ยงที่ตราสารหนี้รัฐบาลไทยในปัจจุบันจะถูกปรับลดอันดับเครดิตค่อนข้างต่ำ

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่