นำร่องรถบรรทุกเชื้อเพลิง“ไฮโดรเจน”ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม

นำร่องรถบรรทุกเชื้อเพลิง“ไฮโดรเจน”ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม

ข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่าไฮโดรเจนเป็นธาตุที่เบาที่สุดและเป็นองค์ประกอบของน้ำ (H2O)

นอกจากนี้ ยังเป็นธาตุที่รวมอยู่ในโมเลกุลของสารประกอบอื่นๆ เช่น สารประกอบจําพวกไฮโดรคาร์บอน (HC) คุณสมบัติทั่วไปของไฮโดรเจน คือ ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ติดไฟง่าย ไม่เป็นพิษและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ก๊าซไฮโดรเจนสามารถนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการเผาไหม้และให้ความร้อน หรือนำไปผลิตกระแสไฟฟ้าโดยป้อนเข้าเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell) ดังนั้น ไฮโดรเจนจึงถือเป็นแหล่งพลังงานเชื้อเพลิงที่สำคัญอย่างมากในอนาคต

จิรโรจน์ ศุกลรัตน์ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นประธานการประชุมหารือรายละเอียดการศึกษาในหัวข้อ “การผลิตและการใช้ประโยชน์พลังงานเชื้อเพลิงไฮโดรเจนในเขตพื้นที่นิคมสวนอุตสาหกรรมโรจนะ”(Green Hydrogen Production and Utilization within Rojana Industrail Park in Thailand” โดยมีบริษัทญี่ปุ่น ทั้ง Nippon Steel Trading Corporation และ บริษัท Honda Industrial Motor CO., Ltd ได้นำเสนอข้อมูลการดำเนินกิจการและนำเสนอข้อเสนอโครงการในการศึกษาความเป็นไปได้ในการผลิตและการใช้ประโยชน์พลังงานเชื้อเพลิงไฮโดรเจนในเขตพื้นที่นิคมสวนอุตสาหกรรมโรจนะ ซึ่งมุ่งเน้นการศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้รถบรรทุกไฟฟ้าประเภทเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Electric Vehicle Truck: FCEV Truck) ซึ่งใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนที่ผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์

โดยจะศึกษาทั้งในด้านความคุ้มค่าในการลงทุน ปัญหาและอุปสรรคทางกฎหมาย ความต้องการของผู้บริโภค รวมไปถึงการประเมินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ได้จากการเปลี่ยนประเภทรถบรรทุกสันดาปภายในไปสู่ FCEV Truck

โดยที่ประชุมได้ให้ข้อคิดเห็นเสนอแนะการศึกษาเพิ่มเติมในมุมมองด้านนโยบายของภาครัฐ การใช้วัสดุท้องถิ่นภายในประเทศ รวมทั้งการคำนึงถึงมาตรฐานความปลอดภัยในด้านตัวรถ เชื้อเพลิง และสถานีเติมเชื้อเพลิงไฮโดรเจน เพื่อสร้างการเติบโตของธุรกิจพลังงานเชื้อเพลิงไฮโดรเจน และผลักดันพลังงานสะอาดทางเลือกสำหรับการเดินทางและการขนส่งสินค้า มุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี พ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net - Zero GHG Emissions) ภายในปี พ.ศ. 2608 (ค.ศ. 2065) ตามที่ประเทศได้ประกาศไว้ต่อไป

สำหรับ พลังงานไฮโดรเจน สามารถผลิตได้จากวัตถุดิบหลัก 3 แหล่ง ได้แก่ 1. เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น แก๊สธรรมชาติ ถ่านหิน น้ำมันปิโตรเลียม 2.พลังงานหมุนเวียน เช่น ชีวมวล น้ำ และ 3. พลังงานนิวเคลียร์เทคโนโลยีในการผลิตไฮโดรเจน ประกอบด้วย 3 เทคโนโลยีหลัก ได้แก่1.กระบวนการให้ความร้อนเคมี (Thermal Process) เป็นการผลิตด้วยวิธีทางเคมีโดยใช้ความร้อนกับแหล่งพลังงานเพื่อให้กำเนิดก๊าซไฮโดรเจน2. กระบวนการไฟฟ้าเคมี (Electro Chemical Process) เป็นการแยกไฮโดรเจนออกจากน้ำด้วยกระแสไฟฟ้า ให้ได้ไฮโดรเจนและออกซิเจน โดยกระบวนการนี้จะใช้ได้กับแหล่งกำเนิดไฟฟ้าทุกชนิด3. กระบวนการสังเคราะห์แสง (Photolytic Process) การใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อแยกไฮโดรเจนออกจากน้ำ

      ประเทศไทยได้มีการใช้พลังงานไฮโดรเจนในการผลิตกระแสไฟฟ้า โดยพลังงานไฮโดรเจนจะทำหน้าที่สนับสนุนการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานลม เพื่อเพิ่มความเสถียรในการผลิตกระแสไฟฟ้า และได้มีการนำร่องทดลองใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Electric Vehicle: FCEV) โดยใช้รถยนต์พลังงานไฮโดรเจนรับส่งนักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจในพื้นที่พัทยา – ชลบุรี และพื้นที่ใกล้เคียง นอกจากนี้ ยังมีการติดตั้งสถานีต้นแบบเติมไฮโดรเจนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิงแห่งแรกของประเทศไทย (Hydrogen Station) ที่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี