โปรเจกต์"ชะลอผลผลิตยางพารา"ออกสู่ตลาดทุ่ม800ล้านมาตรการพยุงราคา
สถานการณ์ราคายางในปัจจุบันยังคงมีความผันผวน บวกกับฤดูกาลที่ขณะนี้พื้นที่ภาคใต้เริ่มมีฝนตกชุก ดังนั้น การรวบรวมยางไว้จำหน่ายในช่วงที่ผลผลิตขาดตลาด จะช่วยให้ราคายางปรับตัวสูงขึ้น
สุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รักษาการแทนผู้ว่การการยางแห่งประเทศไทย(กยท.) เปิดเผยว่าปัจจุบันเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเร่งดำเนินการโครงการชะลอยาง โดยคณะกรรมการ กยท. ได้อนุมัติงบประมาณโครงการชะลอยาง เป็นเงินจำนวน 800 ล้านบาท โดยจัดสรรเงินให้ กยท. ทั้ง 7 เขต และมอบหมายให้ กยท. ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เร่งดำเนินการขับเคลื่อนโครงการชะลอยางอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งน้ำยางสด ยางก้อนถ้วย และยางแผ่นรมควัน โดยมีการวิเคราะห์และวัดผลแล้วว่าการดำเนินงานโครงการชะลอยางในปีงบประมาณ 2567 สามารถช่วยให้ราคายางปรับตัวสูงขึ้นได้จริง เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการได้รับผลตอบแทนเพิ่มมากขึ้นโดยเฉลี่ย 6.10 บาทต่อกิโลกรัม (กก.)คิดเป็นมูลค่ารวม 248.17 ล้านบาท
“ขณะนี้ได้หารือร่วมกับผู้บริหาร กยท. ระดับเขตและจังหวัดทุกพื้นที่ ให้เร่งเตรียมความพร้อมและสร้างความเข้าใจกับสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ในการเข้าร่วมโครงการชะลอยาง ตลอดจนสำรวจความพร้อมของเครื่องมือที่ใช้ในโครงการฯ เพื่อยืดอายุและรักษาคุณภาพผลผลิตยางในโครงการฯ ได้แก่ ลานรวบรวมและโกดังจัดเก็บยางก้อนถ้วยที่เข้าร่วมโครงการ ห้องควบคุมความชื้นเพื่อรักษาคุณภาพยางแผ่นรมควันในโครงการชะลอยาง ตลอดจนความพร้อมของโรงงานแปรรูปยางของสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางที่ กยท. สนับสนุนเงินอุดหนุนเพื่อรวบรวมผลผลิตยาง ”
โดยจะเข้ามารับซื้อผลผลิตยางจากสถาบันเกษตรกรฯ ที่เข้าร่วมโครงการชะลอยางในครั้งนี้ และรอการจำหน่ายในช่วงที่ราคายางมีความเหมาะสมและเกษตรกรชาวสวนยางพอใจ ทั้งนี้ หากมีเกษตรกรให้ความสนใจนำผลผลิตยางเข้าร่วมโครงการดังกล่าวมากขึ้น และจำเป็นต้องขยายวงเงินในการดำเนินโครงการ กยท. จะนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ กยท. เพื่อขอความเห็นชอบต่อไป
“โครงการนี้ จะช่วยชะลอปริมาณผลผลิตยางออกสู่ตลาด ลดความผันผวนของราคายาง และสามารถช่วยให้เกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง มีสภาพคล่องทางการเงิน ในระหว่างรอขายผลผลิตในช่วงที่ราคายางมีความเหมาะสม และเป็นราคาที่เกษตรกรพอใจ”
นอกจากนี้ กยท.ได้เปิดห้องแสดงและจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ของสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง(Rubber Showcase) ของสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558ในการสนับสนุนเกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ด้านการแปรรูป การอุตสาหกรรม การตลาด การประกอบธุรกิจ ตลอดจนการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมยางพารา โดยพื้นที่เป้าหมายเบื้องต้นในการกำหนดจุดแสดงและจำหน่ายสินค้าฯ อยู่ในพื้นที่ กยท.จ.จันทบุรี และ กยท.สาขาทุ่งสง
“ กยท. จัดสรรงบประมาณในการดำเนินโครงการดังกล่าว เป็นเงินรวมกว่า1,000,000บาท ตั้งเป้าให้เป็นสถานที่รวบรวมผลิตภัณฑ์แปรรูปยางและไม้ยางจากสถาบันเกษตรกรฯและเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางถือเป็นการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายทั้งออฟไลน์และออนไลน์ สามารถกระจายสินค้าให้ถึงมือผู้บริโภคมากขึ้น สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่อย่างยั่งยืน”
การนำร่องเปิดจุดแสดงสินค้าในพื้นที่ กยท.จ.จันทบุรี ซึ่งตั้งอยู่บริเวณเดียวกันกับร้านกาแฟคาเฟ่อเมซอน ซึ่งเป็นผลจากความร่วมมือในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ดินร่วมกับ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR จึงเป็นโอกาสดีที่กลุ่มประชาชนและผู้มาใช้บริการร้านกาแฟฯ จะเข้าถึงสินค้ายางพารา โดยวางเป้าหมายRubber Showcaseแห่งนี้ เป็นจุดจำหน่ายสินค้าของสถาบันเกษตรชาวสวนยางที่อยู่ภายใต้การดูแลของ กยท. เขตภาคกลางและภาคตะวันออก