รู้จัก Slowbalization เมื่อโลกาภิวัตน์หดตัวหนัก จากทรัมป์ America First

รู้จัก Slowbalization เมื่อโลกาภิวัตน์หดตัวหนัก จากทรัมป์  America First

รู้จักเทรนด์ ‘Slowbalization’ เมื่อโลกาภิวัตน์โลกกำลังหดตัวหนักขึ้น จากนโยบาย America First ของทรัมป์

การขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาของโดนัลด์ ทรัมป์ในปี 2016 และล่าสุดในเมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2567 ที่ผ่านมาถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายของระบอบประชาธิปไตยและกระแสโลกาภิวัตน์ที่นำโดยสหรัฐในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา การศึกษาของ Freedom House (2023) ชี้ให้เห็นว่าดัชนีประชาธิปไตยทั่วโลกลดลงต่อเนื่องเป็นปีที่ 17 โดยเฉพาะในช่วงการดำรงตำแหน่งของทรัมป์ ซึ่งนโยบาย "America First" ได้ส่งผลกระทบต่อบทบาทความเป็นผู้นำของสหรัฐฯ ในเวทีโลก

รู้จัก Slowbalization เมื่อโลกาภิวัตน์หดตัวหนัก จากทรัมป์  America First ดัชนีประชาธิปไตยทั่วโลกถดถอย

การถดถอยของประชาธิปไตยสหรัฐและผลกระทบต่อโลก

นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ Steven Levitsky และ Daniel Ziblatt (2018) ได้วิเคราะห์ในหนังสือ "How Democracies Die" ว่าการเมืองภายในของสหรัฐ กำลังเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญ การแบ่งขั้วทางการเมืองที่รุนแรงขึ้น การปฏิเสธผลการเลือกตั้ง และการละเมิดบรรทัดฐานประชาธิปไตยที่เคยยึดถือมายาวนาน ล้วนส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ ในฐานะผู้นำประชาธิปไตยโลก

 

นอกจากนี้ คุณภาพของประชาธิปไตยในสหรัฐลดลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาตามการอ้างอิงของงานวิจัยของ Varieties of Democracy Institute (V-Dem) ในปี 2023 ทั้งหมดส่งผลให้ประเทศประชาธิปไตยอื่นๆ เริ่มหันไปพึ่งพาตนเองและพันธมิตรในภูมิภาคมากขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่าการถกเถียงทางด้านการเมืองในสหรัฐนั้นเป็นการถกเถียงที่อยู่บนพื้นฐานของข้อมูลน้อยลง

การถดถอยของโลกาภิวัตน์และการเติบโตของภูมิภาคนิยม

ทั้งนี้ หลังจากวิกฤตการแพร่ระบาดของ COVID-19 และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างจีนกับสหรัฐ ทำให้นักวิชาการส่วนหนึ่งมองว่า การค้าระหว่างประเทศและการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะมุ่งเน้นการพึ่งพากันในระดับภูมิภาคมากขึ้น (Regionalization) โดยที่เห็นได้อย่างชัดเจนที่สุดคือความพยายามจัดตั้งกลุ่มเศรษฐกิจ BRICS ขึ้นมาเพื่อลดการพึ่งพาสหรัฐและพันธมิตรตะวันตกรวมทั้งสกุลเงินดอลลาร์ของสหรัฐด้วย (De-dollarization)

 

บทวิเคราะห์ “The steam has gone out of globalization” ของสำนักข่าวดิอิโคโนมิสต์ ได้เสนอแนวคิดเรื่อง "การโลกาภิวัตน์ที่ชะลอตัว" (Slowbalization) ซึ่งบัญญัติขึ้นโดยนักเขียนชาวดัช บทวิเคราะห์ดังกล่าวอธิบายว่าโลกกำลังเข้าสู่ยุคที่การรวมตัวทางเศรษฐกิจระดับโลกชะลอตัวลง และประเทศต่างๆ หันมาให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางเศรษฐกิจและห่วงโซ่อุปทานในระดับภูมิภาคมากขึ้น

รู้จัก Slowbalization เมื่อโลกาภิวัตน์หดตัวหนัก จากทรัมป์  America First การถกเถียงทางการเมืองในสหรัฐมีอิงข้อมูลน้อยลง

ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนที่สุดคือการที่สหรัฐและพันธมิตรตะวันตกเลือกใช้ซัพพลายเออร์สำหรับชิ้นส่วนการผลิตสินค้าของตัวเองจากกลุ่มประเทศพันธมิตรเท่านั้นและทยอยเลิกใช้ซัพพลายเออร์จากจีนจนทำให้ช่วงที่ผ่านมาเกิดกระแสบริษัทจีนหลายแห่งย้านฐานการผลิตไปแม็กซิโกหรือประเทศในอาเซียนเพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการดังกล่าว

การเติบโตของขั้วอำนาจใหม่และการแข่งขันระหว่างมหาอำนาจ

นอกจากนี้ การถดถอยของบทบาทสหรัฐเปิดโอกาสให้มหาอำนาจอื่นๆ โดยเฉพาะจีนเข้ามามีบทบาทมากขึ้น โดยนักวิชาการส่วนหนึ่งมองว่า จีนได้ขยายอิทธิพลผ่านโครงการ Belt and Road Initiative (BRI) และการสร้างสถาบันระหว่างประเทศใหม่ๆ เช่น Asian Infrastructure Investment Bank (AIIB) และ Asian Development Bank (ADB) ซึ่งเป็นทางเลือกให้กับประเทศกำลังพัฒนาที่ต้องการลดการพึ่งพาอิทธิพลของสหรัฐ รวมถึงการรวมตัวของกลุ่มประเทศ BRICS ก็เป็นหนึ่งในตัวอย่างของเทรนด์ดังกล่าวเช่นเดียวกัน

ขณะที่บทวิเคราะห์ “Global trade relationships are reconfiguring—with trade-offs” ของ McKinsey Global Institute (2024) ระบุว่า การค้าและการลงทุนระหว่างประเทศมีแนวโน้มที่จะแบ่งเป็นกลุ่มตามความสัมพันธ์ทางภูมิรัฐศาสตร์มากขึ้น โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยีและห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญ

ทั้งนี้ บทวิเคราะห์จาก Asian Development Bank (2023) พบว่า ท่ามกลางสมรภูมิสงครามการค้าภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกมีการรวมตัวทางเศรษฐกิจที่แน่นแฟ้นขึ้น ผ่านความตกลง Regional Comprehensive Economic Partnership (RCEP) และการพึ่งพาทางเศรษฐกิจระหว่างกันที่เพิ่มขึ้น 

ท้ายที่สุดแล้วการถดถอยของประชาธิปไตยและโลกาภิวัตน์ของสหรัฐไม่ได้หมายถึงการล่มสลายของระเบียบโลก แต่สะท้อนถึงการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบระหว่างประเทศรูปแบบใหม่ที่มีความหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น การเข้าใจพลวัตนี้จะช่วยให้ประเทศต่างๆ สามารถปรับตัวและวางยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมในการรักษาผลประโยชน์และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการส่วนหนึ่งมองว่า ท่ามกลางแนวโน้มการแบ่งขั้วและภูมิภาคนิยมที่เพิ่มขึ้น ประชาคมระหว่างประเทศจำเป็นต้องรักษาสมดุลระหว่างการพึ่งพาตนเองในระดับภูมิภาคกับการรักษาความร่วมมือระดับโลกในประเด็นท้าทายร่วม เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การแพร่ระบาดของโรค และความมั่นคงทางไซเบอร์ เพื่อรับมือกับความท้าทายในศตวรรษที่ 21 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อ้างอิง: Freedom HouseHow Democracies Die, Varieties of Democracy Institute (V-Dem), The Economist, McKinsey