รู้จักกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอ ครม.กลไกบริหารเรื่องร้อน รัฐบาลแพทองธาร
รคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอ ครม. 6 คณะรูปแบบที่เคยใช้ครั้งแรกสมัยรัฐบาลทักษิณ และอีกหลายครั้งใน ครม.ที่นำโดยพรรคไทยรักไทย มาถึงพรรคเพื่อไทย เป็นกลไกในการกลั่นกรอง และหารือกันระหว่างพรรคร่วม และหน่วยงานราชการ ก่อนเสนอเรื่องสำคัญเข้าสู่ ครม.
KEY
POINTS
- คณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอ ครม. 6 คณะที่ ครม.เพิ่งเห็นชอบเป็นรูปแบบที่เคยใช้ครั้งแรกสมัยรัฐบาลทักษิณ และอีกหลายครั้งใน ครม.ที่นำโดยพรรคไทยรักไทย มาถึงพรรคเพื่อไทย
- เป็นกลไกในการกลั่นกรอง และหารือกันระหว่างพรรคร่วม และหน่วยงานราชการ เรื่องสำคัญที่จ่อเข้าคณะกรรมการ
- เรื่องที่จ่อต้องเข้าคณะกรรมการฯเช่น โครงการแจกเงินหมื่นเฟส 2 แก้สัญญาไฮสปีด 3 สนามบิน ร่างกม.เอนเตอร์เทนเมนต์
- เป็นกลไกที่ช่วยลดข้อขัดแย้งพรรคร่วม รัฐบาลและหน่วยงานราชการ ให้มีการหารือกันก่อนที่จะเสนอเรื่องร้อนก่อนเข้า ครม.
การเสนอเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะมีขั้นตอนที่ต้องมีการเวียนขอความเห็นจากหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง โดยเมื่อเร็วๆนี้ ครม.ได้มีการอนุมัติแต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี อีก 6 คณะ ตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เสนอ
โดยก่อนหน้านี้ ครม.ในรัฐบาลก่อนหน้าโดยเฉพาะที่มาจาก พรรคเพื่อไทย หรือพรรคไทยรักไทยเดิม มีการดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองในลักษณะนี้มาแล้วในหลายรัฐบาล ได้แก่ สมัยนายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นตามมติ ครม. 8 พ.ย.2548 ในรัฐบาลของนายสมัคร สุนทรเวช แต่งตั้งตามมติ ครม. 26 ก.พ.2551 สมัยนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ แต่งตั้งตามมติ ครม.9 ต.ค.2551 และสมัยที่นางสาวยิ่งลักษ์ ชินวัตร แต่งตั้งขึ้นตามมติ ครม.27 ก.ย.2554
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่าการตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีทั้ง 6 คณะ ถือเป็นแนวทางที่มีการนำเสนอจาก สลค. โดยจะนำเรื่องที่จะมีการเสนอเข้าครม.แต่มีแนวโน้มที่จะมีความเห็นที่แตกต่างกันในพรรคร่วมรัฐบาล หรืออาจต้องการมีการให้ความเห็นหรือสอบถามความเห็นที่หลากหลายจากทั้งพรรคร่วมรัฐบาล และหน่วยงานอื่นๆก่อนที่จะเสนอเข้า ครม.ก็จะมีการนำมาเข้าคณะกรรมการกลั่นกรองก่อนที่จะเสนอ ครม.
โดยคาดหวังว่าเมื่อผ่านคณะกรรมการกลั่นกรองแล้วเมื่อเข้าสู่การประชุม ครม.จะสามารถผ่านความเห็นชอบจาก ครม.ได้โดยเร็ว ส่วนเรื่องอื่นๆที่ไม่ได้ซับซ้อนหรือมีประเด็นทางกฎหมายที่ต้องถกเถียงกันมากก็จะสามารถส่งเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ได้เลยโดยไม่ต้องผ่านคณะกรรมการกลั่นกรอง
กลั่นกรองเรื่องใหญ่ก่อนเข้า ครม.
โดยตัวอย่างของเรื่องที่จะเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองฯเช่น โครงการแจกเงิน 10,000 บาท ในกระเป๋า เงินดิจิทัล เฟส 2 การแก้ไขสัญญารถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และร่างพ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจรที่จะต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.อีกครั้งหลังจากที่มีการรับฟังความคิดเห็นและปรับปรุงร่างกฎหมายแล้ว เป็นต้น
คณะกรรมการกลั่นกรองฯที่ ครม.แพทองธาร เห็นชอบให้ตั้งขึ้นทั้ง 6 ชุดได้แก่
คณะที่ 1 ด้านความมั่นคงกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม มี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธาน มีอำนาจในการการพิจารณากลั่นกรองเรื่องสำคัญในปัญหาที่เกี่ยวพันหรือมีผลกระทบต่อความมั่นคง การทหาร การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมและยาเสพติด การรักษาความสงบภายในประเทศ กฎหมายหรือกระบวนการยุติธรรม รวมถึงเรื่องที่เกี่ยวกับองค์กรตามรัฐธรรมนูญต่าง ๆ ก่อนที่จะนำเสนอ ครม. โดยคณะกรรมการชุดนี้มีสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นฝ่ายเลขานุการ
คณะที่ 2 ด้านการต่างประเทศ การคมนาคม การท่องเที่ยวและวัฒนธรรม มีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม เป็นประธาน มีอำนาจในการพิจารณากลั่นกรองเรื่องสำคัญในปัญหาที่เกี่ยวพันหรือมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การคมนาคม การท่องเที่ยว กีฬา ศิลปะ หรือวัฒนธรรม รวมถึงเรื่องที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์หรือกำลังคนภาครัฐ ก่อนที่จะนำเสนอคณะรัฐมนตรี โดยมีสำนักงานเลขาธิการ ครม.เป็นฝ่ายเลขานุการ
คณะที่ 3 ด้านสังคม แรงงานและการศึกษา มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย เป็นประธาน มีอำนาจพิจารณากลั่นกรองเรื่องสำคัญในปัญหาที่เกี่ยวพันหรือมีผลกระทบต่อการพัฒนาสังคม แรงงาน หรือการศึกษา ก่อนที่จะนำเสนอคณะรัฐมนตรี มีสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นฝ่ายเลขานุการ
คณะที่ 4 ด้านพลังงาน อุตสาหกรรม และการพัฒนา คุณภาพชีวิต มี นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาครองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน พิจารณากลั่นกรองเรื่องสำคัญในปัญหาที่เกี่ยวพันหรือมีผลกระทบต่อ ภาคพลังงาน ภาคอุตสาหกรรม การพัฒนาคุณภาพชีวิตก่อนที่จะนำเสนอคณะรัฐมนตรี มี สศช.เป็นฝ่ายเลขานุการ
คณะที่ 5 ด้านเศรษฐกิจและการเกษตรรองนายกรัฐมนตรี มีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เป็นประธาน มีหน้าที่พิจารณากลั่นกรองเรื่องสำคัญในปัญหาที่เกี่ยวพันหรือมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจหรือภาคการเกษตรในภาพรวม รวมถึงเรื่องการเงิน การคลัง ภาษีอากร สถาบันการเงิน นโยบายรัฐวิสาหกิจการงบประมาณ การลงทุน ตลอดจนสินค้าเกษตร การดูแลช่วยเหลือเกษตรกร การค้า หรือการนำเข้าหรือส่งออกสินค้า ก่อนที่จะนำเสนอคณะรัฐมนตรี มี สศช.เป็นฝ่ายเลขานุการ
และคณะที่ 6 ด้านดิจิทัล สาธารณสุขทรัพยากรธรรมชาติ การใช้ ประโยชน์ที่ดินและการบริหารจัดการน้ำ มีนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธาน มีอำนาจในการพิจารณากลั่นกรองเรื่องสำคัญในปัญหาที่เกี่ยวพันหรือมีผลกระทบต่อการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม การสาธารณสุข การอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการและใช้ประโยชน์ที่ดิน หรือการบริหารจัดการน้ำ รวมถึงเรื่องเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคหรือการประชาสัมพันธ์นโยบายของรัฐบาล ก่อนที่จะนำเสนอคณะรัฐมนตรีมี สศช.เป็นฝ่ายเลขานุการ
ทั้งนี้ต้องติดตามการบริหารงานราชการแผ่นดินของนางสาวแพทองธารนายกรัฐมนตรี และครม.ชุดปัจจุบันว่าหลังจากที่มีการตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเข้าสู่ ครม.ทั้ง 6 คณะแล้ว ครม.นี้จะสามารถผลักดันวาระใหญ่ เรื่องสำคัญๆให้ผ่าน ครม.เป็นผลงานของรัฐบาลชุดนี้ได้มากแค่ไหน