'สุริยะ' รับชะลอสร้าง 'อุโมงค์ทางด่วนเกษตร' เหตุไม่คุ้มค่า

'สุริยะ' รับชะลอสร้าง 'อุโมงค์ทางด่วนเกษตร' เหตุไม่คุ้มค่า

“สุริยะ” ยันการทางพิเศษฯ ชะลอแผนลงทุน “อุโมงค์ทางด่วนเกษตร” 4.9 หมื่นล้านบาท หลังผลการศึกษาชี้ไม่คุ้มค่าทางการเงิน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงโครงการพัฒนาระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือส่วนทดแทนตอน N1 (ช่วงทางพิเศษศรีรัช-ถนนงามวงศ์วาน-ถนนประเสริฐมนูกิจ) โดยระบุว่า ทราบข้อมูลจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ว่าจะมีการชะลอลงทุนโครงการนี้ออกไปก่อน เนื่องจากผลการศึกษาพบว่าไม่คุ้มค่าในการพัฒนาเป็นอุโมงค์ทางด่วน เพราะต้องใช้วงเงินการลงทุนจำนวนมาก

“การทางพิเศษฯ เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ดังนั้นหากจะมีการลงทุนต้องมีความคุ้มค่า มีผลตอบแทนทางการเงิน ไม่ใช่เพียงการคุ้มค่าทางเศรษฐกิจเท่านั้น ซึ่งเมื่อดูผลการศึกษาที่ก่อนหน้านี้การทางพิเศษฯ จะก่อสร้างโครงการนี้เป็นอุโมงค์ทางด่วน ก็พบว่าการก่อสร้าง และการบำรุงรักษาไม่คุ้มค่า คาดว่าโครงการนี้คงต้องชะลอออกไปก่อน” นายสุริยะ กล่าว

ทั้งนี้ จากผลการศึกษาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ส่วนทดแทน ตอน N1 ก่อนหน้านี้มีการศึกษาความเหมาะสม และคาดว่าแนวเส้นทางจะมีระยะทางรวม 10.55 กิโลเมตร (กม.) มูลค่า 49,220 ล้านบาท พร้อมทั้งประเมินความคุ้มค่าทางการลงทุน โดยพบว่าการลงทุนในโครงการนี้ไม่มีกำไร เลขผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) ติดลบ และส่วนผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) สูงถึง 19.20%

สำหรับโครงการทางด่วนสายนี้ กทพ.ศึกษาความเหมาะสมในการพัฒนาเป็นอุโมงค์ใต้ดิน ระยะทาง 8.06 กิโลเมตร และเป็นทางยกระดับ 2.49 กิโลเมตร โดยมีจุดเริ่มต้นบริเวณทางพิเศษศรีรัช ตัดกับถนนงามวงศ์วาน แนวสายทางจะไปตามแนวถนนงามวงศ์วาน ผ่านแยกพงษ์เพชร แยกบางเขน แยกเกษตร เข้าถนนประเสริฐมนูกิจ จนเชื่อมต่อกับโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 และเชื่อมต่อ E-W Corridor

ซึ่งตามแผนเดิมจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการในปี 2568 เริ่มก่อสร้างปี 2569 ใช้เวลาก่อสร้างราว 5 ปีแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการในปี 2574 โดยคาดการณ์ปริมาณจราจรเปิดบริการอยู่ที่ 7 หมื่นคันต่อวัน ขณะที่สายทางมีความจุประมาณ 1.4 แสนคันต่อวัน

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์

\'สุริยะ\' รับชะลอสร้าง \'อุโมงค์ทางด่วนเกษตร\' เหตุไม่คุ้มค่า