เปิดเหตุผล! ราคาน้ำตาลตลาดโลกทรุด 'ภูมิรัฐศาสร์-โลกเดือด' กระทบชาวไร่อ้อย
เปิดเหตุผล! ราคาน้ำตาลตลาดโลกยังทรุด ผนวกกับปัญหาภูมิรัฐศาสร์ และวิกฤติโลกเดือด ส่งผลให้ทั่วโลกต่างเกิดภาวะน้ำท่วม น้ำแล้ง ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ได้กระทบต่อผลผลิตของชาวไร่อ้อย
KEY
POINTS
- สอน.กังวลราคาน้ำตาลตลาดโลกอาจกระทบราคาอ้อยฤดูการผลิตปี 67/68 จากครึ่งปีแรกปี 67 ราคาน้ำตาลตลาดโลกเฉลี่ย 20 เซนต์ต่อปอนด์ ลดลง 16.67% จากปี 66 ที่ราคา 24 เซนต์ต่อปอนด์
- ราคาน้ำตาลโลกประจำสัปดาห์ระหว่างวันที่ 21 – 25 ต.ค.ผันผวน เพราะคาดการณ์ว่าฝนจะตกชุกในภาคกลาง – ใต้ของบราซิล โดย Climatempo ระบุว่าจะมีฝนตกหนักมากขึ้นในภาคกลาง – ใต้ของบราซิล ตั้งแต่ปลายสัปดาห์
- ช่วงครึ่งแรกของปี 68 ตลาดน้ำตาลจะเผชิญกับความเสี่ยงจากการขาดแคลนน้ำตาลของบราซิล เพราะสต็อกต่ำลง และเริ่มต้นฤดูกาลผลิตปี 68/69 ล่าช้าจากอากาศแห้งแล้งที่ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของอ้อย
- หากราคาน้ำตาลตลาดโลกยังคงอยู่ในระดับที่ 21 เซนต์ต่อปอนด์ จะส่งผลให้ราคาอ้อยเฉลี่ยอยู่ที่ 1,200 บาทต่อตันอ้อย ลดลง 15.49% เมื่อเทียบกับฤดูการผลิตปีที่ผ่านมาที่มีราคาอ้อยสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1,420 บาทต่อตันอ้อย
ราคาน้ำตาลโลกยังไม่ฟื้นเฉลี่ย 21-22 เซนต์ต่อปอนด์ หวั่นฉุดราคาอ้อยฤดูปี 67/68 ของไทยจากปีก่อนกว่า 1,400 บาทต่อตัน เหลือ 1,200 บาทต่อตัน “เอกนัฏ” งัด 2 มาตรการ เพิ่มรายได้เกษตรกรชาวไร่อ้อยและผู้ผลิตน้ำตาลไทย ล่าสุด “สอน.” ประกาศลดกำหนดราคาน้ำตาลทรายปี 67/68 ลง 2 บาทต่อกิโลกรัม แบ่งเป็น น้ำตาลทรายขาวกิโลกรัมละ 21 บาท ส่วนน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ กิโลกรัมละ 22 บาท จากเดิม 23 บาท และ 24 บาทตามลำดับ
รายงานข่าวระบุว่า สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ยังคงมีความกังวลถึงสถานการณ์ราคาน้ำตาลตลาดโลกที่อาจกระทบกับราคาอ้อยในประเทศฤดูการผลิตปี 2567/2568 จากสถานการณ์ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 ราคาน้ำตาลตลาดโลกเฉลี่ยที่ระดับ 20 เซนต์ต่อปอนด์ ลดลง 16.67% จากปี 2566 ที่ราคาอยู่ในระดับ 24 เซนต์ต่อปอนด์
ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา มีสต็อกน้ำตาลในตลาดโลกเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะบราซิล ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของโลก มีผลผลิตน้ำตาลที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังได้เพิ่มสัดส่วนการผลิตน้ำตาล ประกอบกับในฤดูการผลิตปี 2566/2567 ประเทศไทยมีผลผลิตน้ำตาล 8.81 ล้านตัน ถือว่าเพิ่มขึ้น 12.80% จากที่คาดการณ์ไว้ว่าจะมี 7.81 ล้านตัน
อย่างไรก็ตาม สำหรับสถานการณ์ตลาดน้ำตาลโลกประจำสัปดาห์ระหว่างวันที่ 21 – 25 ต.ค. 2567 ราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์ค ซึ่งเป็นสัปดาห์ที่ 43 ของปี 2567 เคลื่อนไหวผันผวน และปิดตลาดครั้งสุดท้ายด้วยราคาที่ลดลง และเพิ่มขึ้นพอประมาณ เนื่องจากการคาดการณ์ว่าฝนจะตกชุกในภาคกลาง – ใต้ของบราซิล โดย Climatempo ระบุว่าจะมีฝนตกหนักมากขึ้นในภาคกลาง – ใต้ของบราซิล ตั้งแต่ปลายสัปดาห์ที่แล้ว
ต่อมาในช่วงกลางสัปดาห์ราคาน้ำตาลปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังจากที่ บริษัท Wilmar กล่าวว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2568 ตลาดน้ำตาลจะเผชิญกับความเสี่ยงอย่างมากจากการขาดแคลนน้ำตาลของบราซิล เนื่องจากสต็อกน้ำตาลของบราซิลต่ำลง และเริ่มต้นฤดูกาลผลิตปี 2568/2569 ที่ล่าช้า จากสภาพอากาศแห้งแล้งที่ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของอ้อย
ในขณะที่ช่วงท้ายของสัปดาห์ ราคาน้ำตาลปรับตัวลดลง เนื่องจากการผลิตน้ำตาลในภาคกลาง-ใต้ของบราซิลเพิ่มสูงขึ้น โดย Unica รายงานว่าผลผลิตน้ำตาลในภาคกลาง-ใต้ของบราซิลในช่วงครึ่งแรกของเดือนต.ค. 2567 เพิ่มขึ้น 8% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว อยู่ที่ 2.443 ล้านตัน ทำให้ราคาปรับตัวลดลงอีกครั้ง
ทั้งนี้ ราคาน้ำตาลตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเดือนมี.ค. 2568 เคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 21.55 – 22.58 เซนต์ต่อปอนด์ และปิดตลาดครั้งสุดท้ายที่ 22.14 เซนต์ต่อปอนด์ ลดลงจากสัปดาห์ก่อน -0.04 เซนต์ต่อปอนด์ หรือ -0.18 % ในขณะที่ราคาน้ำตาลตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเดือนพ.ค. 2568 เคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 19.94 – 20.82 เซนต์ต่อปอนด์ และปิดตลาดครั้งสุดท้ายที่ 20.45 เซนต์ต่อปอนด์ เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 0.01 เซนต์ต่อปอนด์ หรือ 0.05%
แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ราคาน้ำตาลตลาดโลกครึ่งปีหลังจะอยู่ในระดับเฉลี่ย 21 เซนต์ต่อปอนด์ โดยมีปัจจัยมาจากผลผลิตอ้อยในภาคกลาง-ใต้ของบราซิลในปี 2567/2568 จะอยู่ระหว่าง 585-600 ล้านตัน แต่ปริมาณดังกล่าวยังคงมีความไม่แน่นอนจากสถานการณ์ไฟไหม้ โดยผลผลิตอ้อยอาจลดลงเหลือ 560 ล้านตันในปี 2568/2569 และหากอินเดียได้เปลี่ยนนโยบายอนุญาตให้ส่งออกน้ำตาลได้ตามปกติ จะส่งผลให้สต็อกน้ำตาลในตลาดโลกสะสมเพิ่มขึ้น
ส่วนผลผลิตอ้อยของประเทศไทยนั้น ฤดูการผลิตปี 2567/2568 จากผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ทำให้เกิดความแห้งแล้งกระจายตัวไปทั่วภูมิภาค ราคาต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นรอบด้าน ทำให้ฤดูการผลิตปีที่ผ่านมามีปริมาณอ้อยเข้าหีบ 82.17 ล้านตัน ลดลงจากฤดูการผลิตปี 2565/2566 ซึ่งอยู่ระดับ 93.88 ล้านตัน ขณะที่แนวโน้มในฤดูการผลิตปี 2567/2568 เบื้องต้นผู้ที่เกี่ยวข้องในระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายได้คาดการณ์ผลผลิตอ้อยระดับ 95 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 11.96% เนื่องจากปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้น และในปีที่ผ่านมาอ้อยมีราคาที่สูงถึง 1,420 บาทต่อตันอ้อย จึงเป็นการสร้างแรงจูงใจสำคัญให้เกษตรกรหันมาปลูกอ้อยเพิ่มขึ้น
“จากข้อมูลที่ได้รับของ สอน. เบื้องต้นได้นำตัวเลขมาคิดคำนวณราคาอ้อยในประเทศสำหรับฤดูการผลิตปี 2567/2568 หากราคาน้ำตาลตลาดโลกยังคงอยู่ในระดับที่ 21 เซนต์ต่อปอนด์ จะส่งผลให้ราคาอ้อยเฉลี่ยอยู่ที่ 1,200 บาทต่อตันอ้อย ลดลง 15.49% เมื่อเทียบกับฤดูการผลิตปีที่ผ่านมาที่มีราคาอ้อยสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1,420 บาทต่อตันอ้อย”
อย่างไรก็ตาม องค์ประกอบในการคำนวณราคาอ้อยในประเทศยังคงมีปัจจัยอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง ในฤดูการผลิตปี 2567/2568 ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรม จะเร่งหาแนวทางเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการผลิตเพื่อให้ชาวไร่อ้อยมีผลผลิตที่ดี และโรงงานได้น้ำตาลทรายที่มีคุณภาพ ซึ่งจะช่วยผลักดันราคาอ้อยในประเทศให้สูงขึ้นในอนาคต สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่จะให้ชาวไร่อ้อยจะได้มีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะสามารถเพิ่มกำลังซื้อและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้อีกทางในฤดูการผลิตที่จะถึงนี้
ทั้งนี้ เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2567 เผยแพร่ ประกาศสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เรื่อง ราคาน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักร เพื่อใช้ประกอบในการคำนวณราคาอ้อยและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย ประจำฤดูการผลิตปี 2567/2568 แบ่งเป็น น้ำตาลทรายขาว ราคากิโลกรัมละ 21 บาท ส่วนน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ ราคากิโลกรัมละ 22 บาท ซึ่งปรับลดลงจากเดิมที่ราคาน้ำตาลทรายขาวจาก 23 บาท และราคาน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ 24 บาท ตามประกาศฯ เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2566 ประจำฤดูการผลิตปี 2566/2567
นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ว่า ตามที่นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบนโยบาย การปฏิรูปอุตสาหกรรม ในการสร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการบริหารจัดการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ซึ่งเกษตรกรชาวไร่อ้อยต้องผลิตและนำส่งอ้อยสดคุณภาพดีให้กับโรงงานน้ำตาล และโรงงานน้ำตาลจะต้องปรับปรุงประสิทธิภาพให้ได้ปริมาณน้ำตาลตามมาตรฐานที่กำหนด เพื่อให้เกิดรายได้และสร้างมูลค่าให้กับระบบมากที่สุด
ทั้งนี้ เพื่อสอดรับนโยบายดังกล่าว สอน.ได้เสนอมาตรการช่วยเหลือชาวไร่อ้อยเก็บเกี่ยวอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM2.5 โดยที่ประชุม กอน. มีมติเห็นชอบตามที่ สอน. เสนอ โดยมีมาตรการสำคัญ 2 มาตรการ ได้แก่
1. มาตรการสร้างแรงจูงใจแก่ชาวไร่อ้อยเก็บเกี่ยวอ้อยสด 100% ซึ่งเป็นมาตรการต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา
2. มาตรการเพิ่มรายได้จากใบและยอดอ้อย การให้เงินสนับสนุนการรับซื้อใบและยอดอ้อย เพื่อเป็นวัตถุดิบด้านพลังงานป้อนโรงงานผลิตไฟฟ้าชีวมวล เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยเห็นคุณค่าและประโยชน์ของใบและยอดอ้อย ซึ่งจะช่วยลดการเผาอ้อยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดสาเหตุของการเกิดฝุ่น PM2.5 ลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสุขภาพอนามัยของประชาชน และเป็นการสร้างบรรยากาศที่ดีในการขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ รวมทั้งยกระดับผลผลิตของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายสู่อุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่
นายณัฐพล กล่าวว่า มาตรการสร้างแรงจูงใจแก่ชาวไร่อ้อยเก็บเกี่ยวอ้อยสด 100% เป็นมาตรการต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา โดยจะมีการจ่ายเงินสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อย ในอัตรา 69 บาทต่อตัน ส่วนมาตรการเพิ่มรายได้จากใบและยอดอ้อยเป็นมาตรการใหม่ โดยจะเพิ่มราคารับซื้อใบและยอดอ้อยอีกตันละ 300 บาท จากราคาตลาดปัจจุบันที่มีการรับซื้ออยู่ที่ตันละ 900 บาท ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้เพิ่มให้กับผู้เก็บเกี่ยวอ้อยสดที่มีการขายใบและยอดอ้อยได้อีก 51 บาทต่อตันอ้อย
ทั้งนี้ นโยบายดังกล่าวจะเป็นการสร้างแรงจูงใจในการทำให้ใบและยอดอ้อยมีมูลค่าเพิ่มและถูกนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างถูกวิธี ขณะเดียวกันจะเป็นการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทยยกระดับการดูแล รักษาคุณภาพด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นการลดฝุ่น PM2.5 และร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมในการก้าวสู่การเป็น Zero Wastes
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลการรวบรวมปริมาณใบและยอดอ้อยต่อขนาดพื้นที่ 1 ไร่ ผลผลิตอ้อยเฉลี่ย 10 ตัน จะสามารถรวบรวมใบและยอดอ้อยเพื่อขายได้ 1.7 ตัน (ชาวไร่อ้อยที่เป็นผู้รับขาย และผู้ประกอบการโรงงานผลิตไฟฟ้าชีวมวลที่เป็นผู้รับซื้อ) โดยการเพิ่มราคาขายแก่ชาวไร่อ้อยในอัตราตันละ 200 บาท และเพิ่มให้แก่ผู้รับซื้อในอัตราตันละ 100 บาท โดยชาวไร่อ้อยจะยังคงมีรายได้เพิ่มในส่วนนี้อีก 34 บาทต่อตันอ้อย