‘สตาร์ทอัพจีน’ สิ้นยุคทอง? ออฟฟิศหลายแห่งถูกทิ้งร้าง เปลี่ยนเป็นที่สอนโยคะแทน

‘สตาร์ทอัพจีน’ สิ้นยุคทอง? ออฟฟิศหลายแห่งถูกทิ้งร้าง เปลี่ยนเป็นที่สอนโยคะแทน

ความฝันของผู้ประกอบการจีนกำลังเปลี่ยนโฉม ‘เซินเจิ้น’ เมืองนวัตกรรมที่เคยคึกคัก กลับเงียบเหงาลงอย่างน่าใจหาย อาคารสตาร์ทอัพหลายแห่งถูกทิ้งว่างเปล่า จากนโยบายรัฐที่เข้มงวดขึ้นและความตึงเครียดการค้าโลกได้กระทบต่อการเติบโตของธุรกิจ

KEY

POINTS

  • “3W Coffee” หรือเปรียบได้กับ “ศูนย์นวัตกรรมเซินเจิ้น” ที่เคยเป็นศูนย์รวมของนักลงทุนและผู้ประกอบการ รวมถึงหลี่ เค่อเฉียง เคยเยี่ยมชมในปี 2558 แต่ในปีนี้ได้ “ปิดตัวลงแล้ว”
  • ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ การลงทุนของธุรกิจเงินร่วมลงทุน และการลงทุนในบริษัทนอกตลาดในจีนหดตัวลงอย่างรวดเร็วถึง 38.7% เหลือเพียง 196,700 ล้านหยวน
  • บริษัทจีนจำนวนหนึ่งย้ายไปตลาดต่างประเทศแทน เหตุผลเพราะกังวลการถูกปรับโดยเจ้าหน้าที่รัฐอย่างไม่เป็นธรรมจากกฎระเบียบอันเข้มงวด อีกทั้งการระดมทุนในประเทศก็เป็นไปได้ยาก

เมื่อเอ่ยถึง “จีน” หลายคนมักนึกถึงภาพนวัตกรรมสุดล้ำ เหล่าผู้ประกอบการสตาร์ทอัพมากมายที่แข่งขันกันอย่างคึกคัก แต่ในปัจจุบัน ภาพเหล่านี้กลับไม่ใช่เป็นเช่นนั้นแล้ว “เซินเจิ้น” เมืองที่เคยถูกขนานนามว่าเป็น “ซิลิคอนวัลเลย์แห่งแดนมังกร” กลับเผยให้เห็นถึงความเงียบสงบที่น่าประหลาดใจ สำนักงานของสตาร์ทอัพมากมายที่เคยคึกคักกลับว่างเปล่า และแปรเปลี่ยนเป็นที่ฝึกสอนโยคะและพิลาทิสแทน 

ในเขตจงกวนชุน ความรุ่งเรืองในอดีตของ “3W Coffee” หรือเปรียบได้กับ “ศูนย์นวัตกรรมเซินเจิ้น” ที่เคยเป็นศูนย์รวมของนักลงทุนและผู้ประกอบการ กลับกลายเป็นอดีตไปแล้ว ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวได้ส่งผลต่อร้านกาแฟแห่งนี้ ซึ่งเคยได้รับความสนใจจากสื่อมวลชน และหลี่ เค่อเฉียง อดีตนายกรัฐมนตรีจีนเคยเยี่ยมชมในปี 2558 แต่ในปีนี้ได้ “ปิดตัวลงแล้ว”

อาคารแห่งนี้ได้ถูกปล่อยว่าง และคืนให้กับผู้บริหารหลังจากสัญญาเช่าหมดอายุ ตามจดหมายที่ลงวันที่ 12 มีนาคมซึ่งติดอยู่ที่หน้าต่างของอาคารว่างเปล่า ร้านกาแฟใกล้เคียงที่มีแนวคิดคล้ายกันยังคงเปิดอยู่ แต่มีลูกค้าเพียงไม่กี่คนในช่วงบ่ายของเดือนพฤษภาคม

“ธุรกิจเป็นเรื่องที่ไม่แน่นอน” พนักงานหลังเคาน์เตอร์กล่าว

‘สตาร์ทอัพจีน’ สิ้นยุคทอง? ออฟฟิศหลายแห่งถูกทิ้งร้าง เปลี่ยนเป็นที่สอนโยคะแทน

- ตอนที่หลี่ เค่อเฉียง เคยเยี่ยมชม 3W Coffee ในปี 2558 (เครดิต: Ding Lin/Xinhua) -

เงินลงทุนในสตาร์ทอัพจีนหดตัวลง

เว็บไซต์นิกเกอิ เอเชียรายงานว่า ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ การลงทุนของธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Venture Capital) และการลงทุนในหุ้นนอกตลาด (Private Equity) ในจีนหดตัวลงอย่างรวดเร็วถึง 38.7% เหลือเพียง 196,700 ล้านหยวน อีกทั้งเงินที่ระดมทุนโดยผู้จัดการกองทุนก็ลดลง 22.6% เหลือ 622,900 ล้านหยวน ตามรายงานของบริษัทวิจัย Zero2IPO

เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว ในสหรัฐ การลงทุนด้านเงินร่วมลงทุนและหุ้นนอกตลาดลดลง 3% เหลือ 418,500 ล้านดอลลาร์ในช่วงเวลาเดียวกัน แต่ผู้จัดการกองทุนสามารถระดมทุนได้เพิ่มขึ้น 3.3%

การลดลงของการลงทุนในสตาร์ทอัพดังกล่าวได้จุดความกังวลว่า จีนอาจกำลังตามหลังสหรัฐในด้านเทคโนโลยีระดับสูง โดยแม้สตาร์ทอัพด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) ของจีนระดมทุนได้จำนวนมากที่สุดในปีนี้ โดยเฉพาะ Moonshot AI และ Zhipu AI ที่ระดมทุนได้ 1 พันล้านดอลลาร์และ 400 ล้านดอลลาร์ตามลำดับ ตามข้อมูลจาก Zero2IPO 

อย่างไรก็ตาม ขนาดของการระดมทุนเหล่านี้ยังเล็กเมื่อเทียบกับคู่แข่งจากสหรัฐอย่าง OpenAI เจ้าของ ChatGPT ซึ่งประกาศเมื่อวันที่ 2 ตุลาคมว่าได้เงินระดมทุนกว่า 6,600 ล้านดอลลาร์จากนักลงทุนรายใหญ่อย่าง Microsoft และ SoftBank Group ของญี่ปุ่น

เมื่อนวัตกรรมต้องอยู่ใต้เงาอำนาจรัฐ

ในช่วงที่ผ่านมา ทั้งสองมหาอำนาจต่างต่อสู้ด้านเทคโนโลยีรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ สหรัฐพยายามปิดกั้นจีนด้านนวัตกรรม และออกระเบียบที่ไม่เอื้อให้ทุนสหรัฐไปลงทุนในจีน รวมถึงล็อบบี้เหล่าชาติพันธมิตรไม่ให้ส่งออกชิ้นส่วนเทคโนโลยีไปยังแดนมังกร ด้วยบรรยากาศตึงเครียดเช่นนี้ จึงทำให้เงินทุนตะวันตกจากเดิมที่เคยหลั่งไหลสู่จีน ก็ลดลงเรื่อย ๆ อีกทั้งยังทำให้บริษัทจีนเข้าไประดมทุนในตลาดหุ้นสหรัฐยากขึ้นด้วย โดยจะถูกตรวจสอบมากมาย

ยังไม่นับรวมที่ก่อนหน้านั้น จีนจัดระเบียบเศรษฐกิจครั้งใหญ่ โดยต้องการให้ธุรกิจต่าง ๆ อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลเป็นหลัก ตั้งแต่ภาคการเงิน เทคโนโลยี กวดวิชา อสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ ดังที่พบเห็นตามข่าว แม้ว่าการจัดระเบียบเหล่านี้จะผ่อนคลายลงแล้ว แต่ก็สร้างความหวั่นใจให้กับเหล่านักธุรกิจ และได้ทำให้บางส่วนตัดสินใจไปตั้งธุรกิจที่ต่างประเทศแทน ซึ่งมีอิสระมากกว่า 

อีกประการสำคัญ คือ เมื่อนักลงทุนต่างชาติถอนทุนออกจากจีน รัฐบาลท้องถิ่นของจีนก็เข้ามาเป็นผู้สนับสนุนรายสำคัญแทน ทว่า เป้าหมายหลักของรัฐบาลคือ การสร้างงานและเพิ่มรายได้ภาษี มากกว่าการแสวงหาผลตอบแทนสูงในระยะยาว จึงทำให้บริษัทที่เน้นการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ เช่น ผู้ผลิตหุ่นยนต์ โดรน และเกี่ยวข้องกับเซมิคอนดักเตอร์ ได้รับการสนับสนุนมากขึ้น

แต่ในทางกลับกัน ธุรกิจสตาร์ทอัพที่เน้นการเติบโตอย่างรวดเร็ว มักมีสินทรัพย์น้อย และอาจต้องเผาเงินอีกหลายปีกว่าจะสำเร็จ กลับได้รับความสนใจน้อยลง 

ผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพชาวจีนรายหนึ่ง ซึ่งได้รับเงินทุนหลายล้านดอลลาร์เปิดเผยกับเว็บไซต์นิกเกอิ เอเชียว่า บริษัทของเขาตัดสินใจย้ายไปมุ่งเน้นตลาดต่างประเทศแทน เหตุผลเพราะกังวลการถูกปรับโดยเจ้าหน้าที่รัฐอย่างไม่เป็นธรรมจากกฎระเบียบอันเข้มงวด อีกทั้งการระดมทุนในประเทศก็เป็นไปได้ยาก ผู้ก่อตั้งบางรายจึงพยายามย้ายไปพำนักในประเทศอื่น เช่น สิงคโปร์ เพื่อดึงดูดนักลงทุนจากสหรัฐ

เจอเริน โกรเนเวเกน-เลา (Jeroen Groenewegen-Lau) หัวหน้าโครงการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่สถาบัน Mercator เพื่อการศึกษาจีน ได้ชี้ให้เห็นว่า “จีนกำลังก้าวเข้าสู่ยุคที่รัฐบาลมีบทบาทควบคุมและกำหนดนโยบายมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ขณะเดียวกัน ความกระตือรือร้นในการพัฒนาจากภาคธุรกิจและประชาชนทั่วไปยังคงมีอยู่ แต่การจะนำพลังเหล่านี้มาผนึกกำลังกันภายใต้กรอบนโยบายรัฐบาลนั้นเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่ง เนื่องจากแผนงานของรัฐบาลและเป้าหมายของภาคเอกชนอาจไม่สอดคล้องกันอย่างสมบูรณ์”

ในปัจจุบัน เวนเจอร์ แคปปิตอลของรัฐกำลังมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการลงทุนมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “Shenzhen Capital Group” ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาลนครเซินเจิ้น ได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำการลงทุนในไตรมาสที่สามของปีที่ผ่านมา ด้วยจำนวนการลงทุนถึง 16 โครงการ ตามข้อมูลจาก CB Insights บริษัทชั้นนำด้านการวิเคราะห์ข้อมูล โดยบริษัทที่ได้รับการสนับสนุนจาก Shenzhen Capital Group ได้แก่ AscenPower สตาร์ทอัพด้านเซมิคอนดักเตอร์ที่มุ่งเน้นไปที่อุตสาหกรรมยานยนต์ และ Molecule Mind บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพที่นำปัญญาประดิษฐ์มาประยุกต์ใช้ในการออกแบบโปรตีน

จะเห็นได้ว่า จากการที่รัฐบาลจีนดำเนินการควบคุมบริษัทต่าง ๆ ในหลายอุตสาหกรรมอย่างเข้มงวดขึ้น กำหนดทิศทางการพัฒนาสตาร์ทอัพ โดยเน้นอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ของรัฐมากกว่าโอกาสที่ขับเคลื่อนโดยตลาดอย่างแท้จริง รวมถึงความตึงเครียดกับสหรัฐที่ทำให้เหล่าสตาร์ทอัพเข้าถึงเงินทุนลำบาก จึงทำให้ยุคของเสรีภาพและความสะดวกสบายสำหรับผู้ประกอบการในจีนกำลังสิ้นสุดลง และสตาร์ทอัพในปัจจุบันกำลังเผชิญกับสภาพแวดล้อมที่ท้าทายและถูกควบคุมมากขึ้น

“ยุคที่ใคร ๆ ก็สามารถเป็นผู้ประกอบการได้นั้นสิ้นสุดลงแล้ว” ที่ปรึกษาในภาคสตาร์ทอัพของจีนรายหนึ่งกล่าว


อ้างอิง: nikkeiกรุงเทพธุรกิจ, 3W