ข้อคิดสําหรับภาครัฐในการทํานโยบายสาธารณะ | บัณฑิต นิจถาวร
ประเทศเราขณะนี้มีปัญหาและความท้าทายมาก ซึ่งรัฐบาลก็ตระหนักและกําลังทํานโยบายและโครงการมากมายซึ่งก็คือ นโยบายสาธารณะ เพื่อหวังพลิกฟื้นเศรษฐกิจ
แต่จากที่เราไม่ใช่ประเทศร่ำรวยและมีทรัพยากรจํากัด คําถามคือทําอย่างไรให้การทํานโยบายสาธารณะของรัฐบาลประสบความสำเร็จ สามารถแก้ไขปัญหาที่ประเทศมีได้ และชี้นําการใช้ทรัพยากรของภาคเอกชนได้อย่างตรงจุด เพื่อการเติบโตของเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน นี่คือความท้าทาย
วันนี้จึงขอเสนอข้อคิดเกี่ยวกับการทํานโยบายสาธารณะในบริบทที่โลกกําลังเปลี่ยนแปลง เพื่อให้งานของรัฐบาลประสบความสำเร็จ นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้
นโยบายสาธารณะคือการแก้ปัญหา เพื่อให้ความเป็นอยู่ของคนในประเทศดีขึ้นและเศรษฐกิจเติบโต เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบโดยตรงของรัฐบาลและระบบราชการ ซึ่งก็คือภาครัฐ
ผ่านการใช้อํานาจตามกฎหมายออกนโยบายและวางกฎระเบียบต่างๆ เช่น เก็บภาษี ใช้จ่าย ลงทุน ให้สิทธิ ให้สัมปทาน ออกใบอนุญาต ซึ่งทั้งหมดกระทบการจัดสรรทรัพยากรเศรษฐกิจของประเทศและความเป็นอยู่ของประชาชน
ถ้าภาครัฐตัดสินใจได้ดี ทํานโยบายสาธารณะได้ดี แก้ปัญหาได้ตรงจุด ประเทศและประชาชนก็ได้ประโยชน์ ตรงกันข้าม ถ้าทําได้ไม่ดี แก้ปัญหาไม่ตรงจุด รั่วไหล ขาดประสิทธิภาพ ประเทศก็จะเสียหาย สูญเสียทรัพยากร และเสียโอกาส
นี่คือความแตกต่างระหว่างประเทศที่ไปได้ดี เจริญเติบโต กับประเทศที่ไม่เติบโต ล้มลุกคลุกคลาน และมีปัญหามาก
ปกติการทํานโยบายสาธารณะจะมีขั้นตอนชัดเจนซึ่งภาครัฐประเทศเราก็ถือปฏิบัติ หนึ่ง กําหนดปัญหาที่ต้องแก้ สอง นําเสนอทางเลือกทางนโยบายที่จะนําไปสู่การแก้ปัญหา และสาม นํานโยบายที่เลือกไปปฏิบัติเพื่อให้เกิดการแก้ปัญหา
ปัจจุบันโลกเปลี่ยนแปลงเร็ว ความท้าทายจึงมีมากในทุกขั้นตอน คือ ทําอย่างไรจะกําหนดปัญหาที่ต้องแก้ได้อย่างถูกต้อง นําเสนอและเลือกนโยบายที่ตรงกับการแก้ปัญหา และนํานโยบายที่เลือกไปปฏิบัติได้อย่างสําเร็จ
นี่คือความท้าทายที่รัฐบาลและข้าราชการประจํามี วันนี้ผมมีข้อคิดที่อยากเสนอภาครัฐในทั้งสามขั้นตอน
ขั้นตอนแรก การกําหนดปัญหาที่ต้องแก้ ซึ่งสําคัญสุด คือนักการเมืองเมื่อเข้ามาเป็นรัฐบาลก็ต้องแก้ปัญหาที่ประเทศมี ปฏิเสธไม่ได้ แต่ถ้าเลือกปัญหาที่จะแก้ไม่ถูกต้อง หรือเข้าใจปัญหาไม่ชัดเจน ก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาได้
อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เคยกล่าวว่า ถ้ามีเวลาหนึ่งชั่วโมงในการแก้ปัญหา เขาจะใช้ 55 นาทีคิดเรื่องปัญหาและอีก 5 นาทีคิดวิธีแก้ นี่คือความสำคัญของการกําหนดปัญหา
ประเทศเรามีปัญหามากเพราะปรับตัวช้ากับการเปลี่ยนแปลงในโลก ไม่ว่าจะเรื่อง เทคโนโลยี การศึกษา นวัตกรรม ผลิตภาพการผลิต รวมถึงสังคมสูงวัย เป็นผลจากนโยบายสาธารณะในอดีต การปรับตัวที่ช้าทําให้ประเทศมีช่องว่างที่จะตามทันการเปลี่ยนแปลงและเพิ่มความสามารถในการหารายได้
ผลคือเศรษฐกิจขยายตัวตํ่า ความเหลื่อมลํ้ารุนแรงขึ้น ธรรมาภิบาลของประเทศแย่ลง และประชาชนขาดโอกาสที่จะเติบโตทําให้ต้องพึ่งรัฐบาลมาก เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องแก้ด้วยการปฏิรูปเศรษฐกิจ และนี่คือสิ่งที่ประชาชนและภาคธุรกิจคาดหวังในแง่นโยบายสาธารณะ
ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าสิ่งที่ภาครัฐทําในแง่นโยบายสาธารณะกับปัญหาที่ต้องแก้ไขไม่ตรงกัน ปัญหาจึงมีอยู่ เป็นช่องว่างที่ทําให้ความไว้วางใจที่ประชาชนมีต่อภาครัฐและระบบประชาธิปไตยเสื่อมถอยลง
คือนักการเมืองและระบบราชการใช้ทรัพยากรของประเทศมาก สร้างหนี้สาธารณะมหาศาล แต่ประเทศไม่ดีขึ้น
ด้วยเหตุนี้ การกําหนดปัญหาจึงสำคัญ ต้องเข้าใจปัญหาของประเทศที่ต้องแก้ ไม่ใช่อยากทําอะไรก็ทําเพราะมีอำนาจ เพราะจะทําให้ประเทศยิ่งเสียหายและเสียโอกาส
สอง ขั้นตอนเลือกนโยบายเมื่อกําหนดปัญหาแล้ว ว่าจะมีวิธีหรือนโยบายแก้ปัญหาอย่างไร ซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงของระบบราชการที่ต้องคิดและเสนอ ในเรื่องนี้แต่ไหนแต่ไรหน่วยราชการจะทําเองตั้งแต่ต้นจนจบ
เหมือนนํ้าตกที่ไหลจากบนสู่ล่าง คือคิดเอง ทำเอง เสนอเอง และเมื่ออนุมัติแล้ว ก็นําไปปฏิบัติเอง ผลจะออกมาอย่างไรประชาชนก็รับไปหรือไปแก้เอาข้างหน้า รูปแบบนี้มีมาตั้งแต่ดั้งเดิมเพราะในอดีตเป็นที่ยอมรับกันว่าความรู้ในระบบราชการมีมาก
แต่ปัจจุบันโลกเปลี่ยนไป ความรู้ไม่ได้จํากัดอยู่กับภาคราชการ ตรงกันข้าม ความรู้ในภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม รวมถึงข้อมูลต่างๆ มีมากมาย
ในต่างประเทศมีการนําเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น Big Data, Blockchain, AI, Collective Intelligence มาประยุกต์ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลและออกแบบนโยบายสาธารณะ
ทําให้ผู้ทํานโยบายมีทางเลือกทางนโยบายที่แม่นยํา มีเหตุมีผล มีหลักฐานเชิงประจักษ์สนับสนุน สามารถตัดสินใจได้ดีและส่งผลสำเร็จต่อการแก้ปัญหา
นี่คือประเด็นที่การทํานโยบายสาธารณะในบ้านเราต้องปรับ ต้องเปิดกว้างโดยระดมข้อมูลและความรู้จากที่อื่นๆ มาใช้ประโยชน์และใช้เทคโนโลยีมาช่วยวิเคราะห์ทางเลือกทางนโยบายเพื่อให้ได้วิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุด ไม่ใช่ทางเลือกแบบไม่รู้จริง ซึ่งจะทําให้ทุกปัญหามีทางออก และแก้ไขได้
สาม คือขั้นตอนการนำนโยบายไปปฏิบัติให้สัมฤทธิ์ผล ซึ่งเป็นจุดอ่อนของระบบราชการในบ้านเรา สาเหตุสําคัญมาจากการต่อต้านของผู้ที่เกี่ยวข้องที่ไม่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงเพราะได้ประโยชน์จากปัญหาที่มีอยู่
ในเรื่องนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ ได้วิเคราะห์ในรายงาน WEO ฉบับล่าสุดอย่างน่าสนใจว่า การสื่อสาร การนําผู้เกี่ยวข้องมาร่วมในกระบวนการออกแบบนโยบายตั้งแต่ต้น และการบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับคนบางกลุ่ม สําคัญต่อความสำเร็จของการนํานโยบายไปปฏิบัติ
แต่ทั้งหมดจะขึ้นอยู่กับความไว้วางใจที่ประชาชนมีต่อภาครัฐในการทํานโยบาย ว่าจริงใจ ไม่หลอกลวง สอดไส้หรือมีวาระซ่อนเร้น ซึ่งถ้าไม่ไว้ใจก็ไม่สนับสนุน การแก้ปัญหาก็จะล้มเหลว
ความไว้วางใจจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อประชาชนมั่นใจว่ารัฐบาลทําหน้าที่เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม และทําหน้าที่อย่างมีธรรมาภิบาล คือโปร่งใส มีความรับผิดรับชอบ และตรวจสอบได้
นี่คือสิ่งที่อยากฝากไว้ หวังว่าข้อคิดเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อการแก้ปัญหาของรัฐบาล
คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต
ดร.บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล