'สภาพัฒน์' ชี้นโยบายทรัมป์เพิ่มความเสี่ยงเศรษฐกิจ คาดจีดีพีไทยปี 68 โต 2.8%

'สภาพัฒน์' ชี้นโยบายทรัมป์เพิ่มความเสี่ยงเศรษฐกิจ คาดจีดีพีไทยปี 68 โต 2.8%

'สภาพัฒน์' ชี้นโยบายทรัมป์เพิ่มความเสี่ยงเศรษฐกิจ กระทบภาคส่งออก คาดจีดีพีไทยปี 68 โต 2.8% แนะรัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจแบบพุ่งเป้า เพิ่มการลงทุน ส่วนภาคธุรกิจควรประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวถึงผลการเลือกตั้งสหรัฐที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน ชนะการเลือกตั้ง และจะขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ สมัยที่ 2 ว่าหากเปรียบเทียบกับช่วงที่โดนัลด์ ทรัมป์ ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อครั้งก่อนนโยบายที่ออกมาเริ่มกระทบกับเศรษฐกิจโลกตั้งแต่เริ่มประกาศนโยบายในปี 2561 และกระทบกับเศรษฐกิจไทยในช่วงปี 2562 – 2563 โดยกระทบกับเรื่องการค้า และการลงทุนจากนโยบายการกีดกันทางการค้าที่มีมากขึ้น

ทั้งนี้จากนโยบายของทรัมป์ที่ประกาศออกมาว่าจะมีการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนไม่น้อยกว่า 60% จะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจไทยมากขึ้นทั้งทางตรง และทางอ้อมซึ่งทำให้เศรษฐกิจมีความเสี่ยงมากขึ้น  ซึ่งปัจจัยจะมาจากความรุนแรงของมาตรการ และช่วงเวลาที่จะมีการบังคับใช้

ซึ่งในช่วงที่ทรัมป์ขึ้นมาดำรงตำแหน่งนี้ในช่วงต้นปีหน้าก็เป็นไปได้ว่า จะมีการเอามาตรการขึ้นมาบังคับใช้ได้เลยเพราะมีข้อมูลที่เตรียมพร้อมอยู่แล้ว ซึ่งจะเป็นปัจจัยให้เศรษฐกิจ และการค้าโลกชะลอตัว โดย สศช.คาดว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2568 จะขยายตัวได้ 3% ขณะที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 2.3 - 3.3% มีค่ากลางอยู่ที่ 2.8% โดยคาดว่าการส่งออกจะชะลอตัวลงจากปีนี้จาก 3.8% เหลือ 2.6%

ทั้งนี้จากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ที่จะส่งผลต่อการค้า และอัตราแลกเปลี่ยน สศช.แนะนำให้ผู้ส่งออก และภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องควรมีการทำประกันความเสี่ยงอัตราค่าเงินเพื่อป้องกันความเสี่ยงธุรกิจ

“จากความเสี่ยงธุรกิจที่เพิ่มขึ้นนั้นในปีหน้าเรื่องของการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจึงต้องดูช่วงเวลาที่เหมาะสม และทำแบบพุ่งเป้ามากขึ้น ขณะเดียวกันต้องดูในเรื่องของมาตรการลงทุน และเร่งรัดการลงทุนของภาครัฐที่จะช่วยพยุง และลดความเสี่ยง และแรงกดดันทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทยด้วย”

ทั้งนี้ สศช.ยังเสนอแนะแนวทางบริหารเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ และปี 2568 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจโลก และภาคการส่งออกดังนี้

1.การขับเคลื่อนภาคการส่งออกให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือผลกระทบจากการยกระดับมาตรการกีดกันทางการค้าที่อาจทวีความรุนแรงมากขึ้น
โดย

1) การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าที่มีศักยภาพ และเป็นที่ต้องการของตลาดโลกเพิ่มขึ้น อาทิ สินค้า ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ และสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงการรักษาแรงส่งในกลุ่มสินค้าส่งออกหลักที่ขยายตัวได้ดี และมีศักยภาพ อาทิ กลุ่มอาหาร และเกษตรแปรรูป สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคม ให้ยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยเร่งรัดการส่งออกไปยังตลาดที่ยังมีแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจในเกณฑ์ดี และการสร้างตลาดใหม่ที่มีกำลังซื้อสูง โดยเฉพาะตลาดตะวันออกกลาง เอเชียใต้ และอาเซียน รวมทั้งให้ความสำคัญกับการเร่งรัดแก้ไขปัญหาการค้าชายแดนเพื่อเชื่อมโยงกลุ่มประเทศ CLMV

\'สภาพัฒน์\' ชี้นโยบายทรัมป์เพิ่มความเสี่ยงเศรษฐกิจ คาดจีดีพีไทยปี 68 โต 2.8%

2)การติดตามและประเมินสถานการณ์การดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้าที่จะมีผลต่อการส่งออกของไทยอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าเพื่อเตรียมมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่จะได้รับผลกระทบทั้งทางตรง และทางอ้อมโดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ควบคู่ไปกับการเร่งรัดมาตรการส่งเสริมการส่งออกสินค้าที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากมาตรการกีดกันทางการค้าในระยะต่อไป

 3)การปฏิบัติตามกรอบกติกา การค้าโลก รวมทั้งข้อกำหนด และแนวทางการปฏิบัติในประเทศคู่ค้า ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีภายใต้ความตกลงทางการค้าเสรี (FTA) ที่มีอยู่ให้มากขึ้น รวมทั้งเร่งรัดการเจรจาความตกลงการค้าเสรีที่กำลังอยู่ในขั้นตอนของการเจรจา และเตรียมศึกษาเพื่อเจรจากับประเทศคู่ค้าสำคัญใหม่ๆ พร้อมทั้งการใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (Generalized System of Preferences: GSP) และการใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP)

 

4)การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกโดยมุ่งเน้นการปรับโครงสร้างการผลิตไปสู่การใช้นวัตกรรม และเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อสามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ และมีมูลค่าสูงให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดสำคัญ ๆ รวมทั้งได้มาตรฐานตรงตามความต้องการของตลาด และข้อกำหนดของประเทศผู้นำเข้าเพื่อสามารถหลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านราคา ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตวัตถุดิบ และสินค้าขั้นกลางในประเทศให้มีความพร้อมในการรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ และสามารถเชื่อมโยงสินค้าที่ผลิตได้ภายในประเทศกับห่วงโซ่การผลิตโลกได้มากขึ้น นอกจากนี้ ควรให้ผู้ประกอบการสินค้าที่มีสัญญาณการลดลงของความต้องการในตลาดโลก และมีอัตราการใช้กำลังการผลิตต่ำต่อเนื่องพิจารณาทบทวนและปรับเปลี่ยนแผนการผลิต และการส่งออกสินค้า

และ 5)การส่งเสริมให้ภาคธุรกิจบริหารจัดการความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ควบคู่ไปกับการอำนวยความสะดวก และลดต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์