‘แพทองธาร’ เผชิญ ‘ทรัมป์ 2.0’ อย่าประมาทความเสี่ยงเศรษฐกิจ

‘แพทองธาร’ เผชิญ ‘ทรัมป์ 2.0’  อย่าประมาทความเสี่ยงเศรษฐกิจ

ผลเลือกตั้งสหรัฐฯที่ออกมาด้วยชัยชนะถล่มทลายของ“โดนัลด์ ทรัมป์”และพรรครีพลับลีกัน ที่สามารถครองเสียงข้างมากทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา แบบที่เรียกว่า“Republicans Sweep”สร้างความตื่นตัวให้กับทุกแวดวงทั่วโลก

ช่วง 1 – 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาในแวดวงธุรกิจ วิชาการ มีการหารือ เสวนาเรื่องผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากนโยบายของทรัมป์ที่กลับมาเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐฯอีกสมัยว่านโยบาย“ทรัมป์ 2.0”จะมีหน้าตา และแนวโน้มเป็นอย่างไร เพื่อให้สามารถที่จะเตรียมตัวรับมือให้ได้มากที่สุด

ที่น่าแปลกใจก็คือภาคส่วนที่เตรียมความพร้อมรับมือกับนโยบายทรัมป์ 2.0 น้อยที่สุดกลับเป็นฝากฝั่งของรัฐบาล การประชุม ครม.เราไม่เห็นข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับเรื่องนี้ ยังไม่เห็นกำหนดการนัดหมายการประชุมหน่วยงานเศรษฐกิจเพื่อมาหารือกันในเรื่องนี้จริงๆจังว่ามี “โอกาส” และ “ความท้าทาย” อะไรบ้างจากการเปลี่ยนแปลงการเมืองสหรัฐฯครั้งนี้

เศรษฐกิจไทยมีความเชื่อมโยงกับสหรัฐฯหลายด้าน ในทางการค้า สหรัฐฯเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับสองของไทยรองจากจีน ในปี 2566 มีมูลค่า 68,358 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 4.72% สหรัฐฯยังเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของไทยในปี 2566 ไทยส่งออกไปสหรัฐฯมูลค่า 48,865 ล้านเดอลลาร์ โดยมีอัตราการขยายตัว 2.8% คิดเป็น 17.2% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย ในปีก่อนไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ 29,371 ล้านดอลลาร์ เป็นอันดับที่ 12 ของประเทศที่เกินดุลการค้าสหรัฐฯ ซึ่งประเด็นการเดินดุลการค้านี้ไทยต้องเตรียมความพร้อมหากสหรัฐฯมีการออกมาตรการตอบโต้

ส่วนในเรื่องของการลงทุนที่ผ่านมาสหรัฐฯเข้าลงทุนทางตรง (FDI) ในไทยเป็นอันดับ 3 มีการลงทุนทั้งหมด 40 โครงการมูลค่ารวม 2.3 พันล้านดอลลาร์ ปีที่ผ่านมามีการยื่นจดทะเบียนธุรกิจใหม่รวมนักลงทุนรวม 101 ราย มูลค่า 126 ล้านดอลลาร์ เป็นอันดับที่ 3 รองจากญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ส่วนยอดรวมการลงทุนจากภาคธรุกิจของไทยในสหรัฐฯ มีมูลค่ารวมกันถึง 15.27 พันล้านดอลลาร์ และมีการจ้างงานทั้งหมดมากกว่า 65,000 คน

บิ๊กคอร์ปสหรัฐฯหลายรายมีแผนที่จะมาลงทุนไทย แต่ก็มีเสียงเตือนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)ว่าให้ระวังการชะลอการลงทุนในไทย หรืออาจจะมีการทบทวนแผนการลงทุนใหม่ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ทรัมป์ประกาศจะสนับสนุนนโยบายให้มีการ “Reshoring” ย้ายกลับไปตั้งฐานการผลิตในสหรัฐฯได้

อีกประเด็นที่มีการเตือนกันมากคือผลกระทบจากกำแพงภาษีที่สหรัฐฯจะตั้งกำแพงให้สูงขึ้นโดยเฉพาะสินค้าจากจีน เมื่อทรัมป์บอกว่าจะขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนอีก 60 – 100% จะยิ่งเร่งให้เกิดการส่งออกสินค้าจากจีนไปประเทศอื่นๆแทนตลาดในสหรัฐฯ ซึ่งไทยจะเป็นหนึ่งในประเทศที่จะได้รับผลกระทบในเรื่องนี้ ยิ่งมีสินค้าจากจีนทะลักเข้ามาในไทยมากขึ้นเท่าไหร่ ผู้ผลิตสินค้า เอสเอ็มอีในไทยก็ยิ่งเจอผลกระทบมากขึ้น

ทั้งหมดนี้ยังไม่นับผลกระทบจากเรื่องนโยบายต่างประเทศ ภูมิรัฐศาสตร์ที่จะสร้างความปั่นป่วนให้กับโลกอีกไม่น้อย

 นายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลต้องไม่ประมาทกับเรื่องนี้ ถึงเวลาต้องเรียกประชุมคณะกรรมการระดับชาติ ระดมสมองจากทุกภาคส่วน นำข้อมูลที่สำคัญมาติดตาม และสั่งการให้มีการรับมือนโยบายทรัมป์ 2.0

...เปลี่ยน“ความไม่แน่นอน”ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงนี้ให้กลายเป็น“โอกาส”ของประเทศ