'ทรัมป์'มาวิน (อาจ)กระทบนโยบายสาธารณสุข จับตา 'American First'ส่งผลต่อไทย
“ทรัมป์”นั่งผู้นำสหรัฐอเมริกา “ประธาน NCITHS” เผยต้องจับตาการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ-การค้าระหว่างประเทศ กระทบต่อนโยบายด้านสุขภาพ จะเป็นในแง่เทคโนโลยีการแพทย์ เวชภัณฑ์ สิทธิบัตรยา “American First” อาจมีผลกระทบด้านสุขภาพไทย
ดร. สัมพันธ์ ศิลปนาฎ ประธานคณะกรรมการสนับสนุนการศึกษาและติดตามการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและนโยบายสุขภาพ (NCITHS) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่มีการมองกันว่า การเปลี่ยนผ่านพรรครัฐบาลแบบข้ามขั้วนี้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เข้มข้นของนโยบายหรือกฎเกณฑ์อะไรต่างๆ
ทำให้จำเป็นต้องเตรียมความพร้อมรองรับกับการเปลี่ยนผ่านที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องการค้าระหว่างประเทศซึ่งมีความเกี่ยวโยงกันไปทั่วโลก และมีผลกระทบต่อนโยบายด้านสุขภาพได้ ไม่ว่าจะเป็นในแง่เทคโนโลยีการแพทย์ เวชภัณฑ์ สิทธิบัตรยา และวัคซีน เป็นต้น
ทั้งนี้ คณะกรรมการ NCITHS เป็นกลไกในการติดตามการค้าระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ มองไปถึงการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ไม่ว่าความตกลงใดๆ ย่อมมีทั้งคนได้และคนเสีย แต่โจทย์คำถามสำคัญคือเวลาที่เราประเมินว่าจะได้เท่าไร เสียเท่าไร ในส่วนที่เสียมันเสียไปแน่นอน แต่ในส่วนที่ได้ ไม่เคยมีใครไปติดตามว่ามันได้ตรงตามนั้นจริงหรือไม่ ซึ่งนั่นอาจทำให้ขาดข้อมูลที่สมบูรณ์เพียงพอที่จะนำไปใช้ในการเจรจา จึงเป็นที่มาให้ภาคีสมัชชาสุขภาพฯ มองว่าต้องให้ทุกภาคส่วน รวมถึงภาคประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการศึกษา วิเคราะห์ วิจัย เพื่อนำไปประกอบการเจรจาทำข้อตกลง และเป็นที่มาของ NCITHS
ล่าสุดได้มีการจัดการประชุมวิชาการการค้าระหว่างประเทศและสุขภาพ ปี 2567 หรือ International Trade and Health Conference 2024 (ITH Conference 2024) ขึ้นระหว่างวันที่ 4-5 พฤศจิกายน 2567 ภายใต้ความร่วมมือจากหน่วยงานทั้ง สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) มูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPF) องค์การอนามัยโลก (WHO) องค์การการค้าโลก (WTO) องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) และภาคีเครือข่าย เพื่อเป็นเวทีหารือแลกเปลี่ยนมุมมองต่อเรื่องการค้าระหว่างประเทศกับสุขภาพ ในระดับนานาชาติ
เป็นการร่วมมองว่าสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศในปัจจุบันเป็นอย่างไร แล้วอนาคตจะดีหรือแย่ลงไปอย่างไร และมาแบ่งปันข้อมูลความคิด มาร่วมกันวิเคราะห์วิจัย หรือหานวัตกรรมเพื่อเข้าไปลดข้อจำกัด สร้างความยั่งยืน และสิ่งสำคัญคือความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การแบ่งข้างทางการเมือง ซึ่งกำลังส่งสัญญาณเตือนมา
“ผลลัพธ์ของการประชุมหารือเหล่านี้ จะถูกนำไปวิเคราะห์วิจัยในเชิงวิชาการ ซึ่งหากเรามีข้อมูล มีฐานวิชาการที่ดีแล้ว ก็จะทำให้ภาคีเครือข่ายที่มีบทบาทอยู่ในแต่ละภาคส่วนที่สำคัญ เช่น กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณสุข สามารถนำไปเป็นส่วนที่ช่วยทำให้การเจรจาต่อรองทางการค้านั้นมีความแหลมคมมากยิ่งขึ้น และเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในปัจจุบันที่เรากำลังเผชิญ ทั้งกับปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร การดิสรัปชั่นของธุรกิจ เทคโนโลยี”ดร. สัมพันธ์ กล่าว
ดร.สัมพันธ์ กล่าวด้วยว่า เรื่องของเศรษฐกิจและสุขภาพ ยังเป็นประเด็นหลักของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 17 ที่กำลังจะมีการจัดขึ้นในวันที่ 27-28 พ.ย. 2567 ซึ่งโจทย์สำคัญของการพัฒนานโยบายสาธารณะปีนี้คือ มุมมองที่ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจการค้าที่ต้องควบคู่กับการพัฒนาทางสุขภาพ เพราะเป็นสิ่งที่มีความเชื่อมโยงกันและเป็นปัจจัยที่จะต้องเดินหน้าควบคู่กันเพื่อให้เกิดความยั่งยืนได้
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าระบบเศรษฐกิจมีความสำคัญ ถ้าขาดไปเราก็มีปัญหา แต่สุขภาพบางครั้งอาจจับต้องได้ไม่ชัดเจนเหมือนระบบเศรษฐกิจ เช่น เหล้า บุหรี่ จริงอยู่ที่ประเทศอาจได้ตัวเลขทางเศรษฐกิจจากสินค้าเหล่านี้ แต่หากปรากฏว่าผลกระทบจากโรคที่เกิดขึ้นกลับสูงกว่าผลประโยชน์ที่ได้รับทางเศรษฐกิจเกือบ 20 เท่าแล้วก็คงไม่เหมาะ
" เราจะทำระยะสั้นเพื่อได้เห็นตัวเลขทางเศรษฐกิจดี แต่ทิ้งผลลบทางสุขภาพติดตัวคนไทยเอาไว้ ที่จะไปออกดอกออกผลในอนาคตข้างหน้า หรือเราจะมองว่าระยะสั้นอาจได้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจไม่เยอะเท่าที่ควร แต่ระยะยาวมันจะยั่งยืน นี่คือแนวคิดในเชิงยุทธศาสตร์ที่เราพยายามสื่อสารออกมาจากสมัชชาสุขภาพฯ ครั้งนี้” ดร. สัมพันธ์ กล่าว
ด้าน ดร.ชะเอม พัชนี ฝ่ายเลขานุการ คณะกรรมการ NCITHS และฝ่ายเลขานุการการจัดประชุม ITH 2024 กล่าวว่า แม้ประเทศไทยอาจไม่ได้เป็นประเทศที่มีความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA กับสหรัฐอเมริกา จึงอาจไม่ได้ส่งผลมากนักในเชิงของการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ หากแต่ในเชิงอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของการนำเข้า-ส่งออกสินค้า อาจเป็นเรื่องที่ต้องจับตาดูในภาพรวม ด้วยความที่ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาชูนโยบาย American First จึงอาจสะท้อนไปถึงผลกระทบด้านสุขภาพที่อาจเกิดกับประเทศไทยได้
ตัวอย่างเช่น บทเรียนจากช่วงโควิด-19 ที่เกิดภาวะ Vaccine Nationalism ในหลายประเทศที่เป็นเจ้าของหรือผู้ผลิตยา/วัคซีน เก็บสิ่งเหล่านี้ไว้ใช้ในประเทศตัวเองก่อน ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึง ซึ่งก็เป็นประเด็นที่หลายฝ่ายมีการหารือด้วยเช่นกัน
สำหรับการดำเนินงานของ NCITHS ซึ่งเดินทางมาถึงปีที่ 15 ทางคณะกรรมการฯ ได้ให้ความสำคัญและติดตามในประเด็นต่างๆ ที่สอดคล้องกับสถานการณ์ระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นภูมิรัฐศาสตร์ การเมืองระหว่างประเทศ ไปจนถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ได้มีการมุ่งเน้นไปถึงเรื่องอย่างการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (Ecotourism) ตลอดจนการจัดทำข้อตกลง Pandemic Agreement ฉบับใหม่ เพื่อเตรียมรับมือกับโรคระบาดใหญ่ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต