ซุกซ่อน...ผลประโยชน์ทับซ้อน? จับตา! 'กฎหมายน้ำเมา(ฉบับใหม่)'
หวั่นเกิด “ผลประโยชน์ทับซ้อน” และเปลี่ยนบรรทัดฐานสังคมไทย! หากผ่าน“กฎหมายน้ำเมา(ฉบับใหม่)” สังคมจะมองการ“ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์”เป็นเรื่องปกติ ทั้งที่ไม่ใช่สินค้นทั่วไปและทำลายสุขภาพ
KEY
POINTS
- กฎหมายน้ำเมา(ฉบับใหม่) หรือพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญ จะนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในเดือน ธ.ค.2567
- กฎหมายน้ำเมา(ฉบับใหม่) นักวิชาการหวั่นมาตรการเบี้ยวจากเดิมอย่างน้อย 4 เรื่อง เปิดทางผู้ผลิตโฆษณาได้ ขยายเวลา-สถานที่จำหน่าย ที่สำคัญอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนผ่านคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ
- กฎหมายน้ำเมา(ฉบับใหม่) 13 ข้อหลักพิจารณา ต้องไม่เอื้อนายทุนใหญ่ รวมถึง ภาคธุรกิจต้องส่งข้อมูลการทำการตลาด การโฆษณาให้หน่วยงานภาครัฐรับทราบ และควรปรับขึ้นภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกปี ตามอัตราเงินเฟ้อ
ขณะนี้อยู่ระหว่างกึ่งกลางว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ขึ้นในสังคมไทย ผ่านกฎหมายน้ำเมา(ฉบับใหม่) หรือ (ร่าง)พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับใหม่) หรือไม่ เนื่องจาก “มาตรการสำคัญ”ที่มีการหารือกันในคณะกรรมาธิการวิสามัญพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ล่าสุดนั้น มีประเด็นหลักที่จะดำเนินการแตกต่างไปจากเดิม และคาดว่าจะส่งเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรได้ทันในสมัยประชุมนี้ที่จะเปิดประชุมสภาฯ ในวันที่ 12 ธ.ค.2567
ในการประชุมวิชาการสุราระดับชาติ ครั้งที่ 13 ระหว่างวันที่ 14-15 พ.ย.2567 "พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฉบับใหม่ ก้าวข้ามจุดบกพร่อง มุ่งสู่เป้าหมายที่ยั่งยืน
นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. กล่าวว่า กมธ. วิสามัญฯ มีการพิจารณาแก้ไขสาระสำคัญแล้ว คือ 1.การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น จากเดิมที่อำนาจการออกกฎหมายอยู่ที่คณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยกระจายอำนาจผ่านคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระดับจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน โดยกำหนดคุณสมบัติไม่ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือผู้เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เข้าร่วมเป็นกรรมการฯ เพื่อป้องกันการออกฎหมายเอื้อประโยชน์ทางธุรกิจ
2.เพิ่มความยืดหยุ่นการทำงานของคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระดับจังหวัด เพื่อออกนโยบายที่เหมาะสมกับปัจจัยด้านเศรษฐกิจและผลกระทบของแต่ละพื้นที่ ขณะนี้ร่างพ.ร.บ.ฯ แล้วเสร็จไปกว่า 80% มั่นใจว่าร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นประโยชน์ต่อประชาชน
กฎหมายน้ำเมา(ฉบับใหม่) เปลี่ยนบรรทัดฐานสังคม
ทั้งนี้ ในเวทีวิเคราะห์เชิงวิพากษ์กฎหมายฉบับนี้ รศ.ดร.นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรมสู่ความเป็นเลิศ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มองว่า ภาพรวม (ร่าง)พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฉบับนี้ เมื่อเทียบกับฉบับเดิม จะมีส่วนที่แตกต่างหรือเรียกว่าผ่อนปรนมาตรการมากขึ้น อย่างเช่น สถานที่มีโอกาสเปิดให้จำหน่ายหรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้มากขึ้น เช่น สถานที่ราชการอาจขออนุญาตเป็นครั้งได้จากเดิมที่ห้ามเลย
ส่วนเรื่องเวลาจำหน่าย มีแนวโน้มในการขยายเวลาที่อนุญาตให้จำหน่ายได้มากขึ้น ซึ่งช่วงเวลาที่เสี่ยงที่สุดในตอนนี้คือช่วงบ่าย อาจกำหนดให้มีการจำหน่ายได้ในบางพื้นที่หรือทั่วไป ในเรื่องการตลาด สามารถทำได้มากขึ้นในเรื่องการให้ข้อมูลสินค้า
ส่วนตัวที่กังวลที่สุดเกี่ยวกับร่างฉบับนี้ คือ “โครงสร้างคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ” ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยมีการเพิ่มตัวแทนจากภาคเอกชนเข้ามาเป็นคณะกรรมการฯด้วย จึงมีโอกาสออกข้อกำหนดที่ควบคุมน้อยลงมาก
อีกทั้ง จะเป็นต้นแบบให้กฎหมายสุขภาพอื่นๆ เปิดโอกาสให้ตัวแทนภาคเอกชนเข้ามานั่งเป็นคณะกรรมการได้ทั้งหมด เพราะมีตัวอย่างจากพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฉบับนี้ และจะทำให้ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ข้ามชาติ นำโมเดลนี้ของประเทศไทยไปอ้างอิงการขับเคลื่อนในประเทศอื่นๆ
“หากพ.ร.บ.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์(ฉบับใหม่)ผ่านออกมามีผลบังคับใช้ตามร่างนี้ ก็ต้องเตรียมรับมือสถานการณ์ใหม่ในสังคมว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นเรื่องปกติมากขึ้น แม้ว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ใช่สินค้าปกติและการดื่มกระทบต่อสุขภาพ จะถือเป็นการเปลี่ยนบรรทัดฐานสังคมใหม่ในเรื่องนี้”รศ.ดร.นพ.อุดมศักดิ์กล่าว
เงื่อนไขอนุญาตโฆษณา ล้วนมีช่องโหว่ให้รอด
ขณะที่ผศ.ดร.บุญอยู่ ขอพระประเสริฐ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเกริก วิพากษ์(ร่าง)พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์(ฉบับใหม่)นี้ว่า เหตุผลของการแก้ไข้พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฉบับเดิม โดยบอกว่ามีความคลุมเครือทำให้ต้องตีความ
โดยเฉพาะในมาตรา 32 ที่เกี่ยวข้องกับการโฆษณา แต่จากสาระของ(ร่าง)ฉบับใหม่ไม่ได้มีความชัดเจนขึ้น อย่างเช่น มาตราที่ห้ามไม่ให้มีการโฆษณา เว้นแต่ผู้ผลิต ผู้จำหน่ายสามารถทำได้ตามหลักเกณฑ์ที่รมว.สาธารณสุขกำหนดตามคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เท่ากับเป็นการ “ตีเช็คเปล่า”
หลักเกณฑ์นี้จะออกเป็นอย่างไรก็ยังไม่รู้ ยิ่งเมื่อมีการเพิ่มองค์ประกอบของคณะกรรมการฯให้มีผู้แทนจากภาคธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาร่วมด้วย จึงต้องจับตากว่าจะเกิดเรื่องของ “ผลประโยชน์ทับซ้อน(Conflict of Interests) หรือไม่
รวมถึง ที่กำหนดเงื่อนไขในการโฆษณาได้ต้องคำนำถึงการให้ข้อมูล ข่าวสาร ไม่อวดอ้างสรรพคุณ และ”ชักจูงใจให้ดื่ม” ซึ่งการที่กำหนดเรื่อง “จูงใจ”ไว้พ.ร.บ.นั้น จะทำให้เกิดการตีความเพียงแค่ “จูงใจโดยตรง” คือ เห็นปุ๊ปแล้วอยากดื่มทันที
ทว่า การโฆษณษในยุคใหม่นั้น มักเป็นการ “จูงใจโดยอ้อม”คือให้เห็น ให้รู้จัก คุ้นเคยภาพลักษณ์ก่อน เป็นการสร้างการรับรู้ ความสนใจ แล้วจึงเกิดการชื่นชมและดื่มต่อไป ที่กังวลเพราะเมื่อมีการตีความแคบแค่”จูงใจโดยตรง”เท่านั้น เมื่อมีการดำเนินคดีก็จะ “รอด”ทั้งหมด เพราะการโฆษณานั้นไม่ได้มีผลโดยตรงทันทีเพียงช่วงที่เห็นโฆษณษปุ๊ปแล้วอยากดื่ม
การกำหนดว่าต้องไม่มุ่งเป้าโฆษณาผู้ที่อายุ 20 ปี ,ไม่ใช้ช่องทางแพร่หลาย สื่อสาธารณะ หรือกรณีอินฟลูเอนเซอร์ต้องไม่มุ่งหมายชักจูงใจเว้นวงจำกัด “ปัญหาอยู่ตรงที่” จะแบ่งแยกอย่างไร หากมีการระบุว่าทำให้ผู้ใหญ่ดู มีการปิดกั้นแล้ว แต่สมัยนี้เรื่องในออนไลน์ต่างๆเด็กเข้าถึงได้ง่ายมากแม้มีการปิดกั้น หรือกรณีเป็นกลุ่มไลน์ หรือเพจเฟซบุ๊ก ที่มีสมาชิกหลักหมื่น หลักแสน เข้าข่ายเป็นวงจำกัด และไม่ใช่สื่อสาธารณะด้วยหรือไม่
กฎหมายน้ำเมา(ฉบับใหม่) ต้องไม่เอื้อนายทุนใหญ่
ด้านธีระ วัชรปราณี คณะกรรมาธิการวิสามัญพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า เสนอ 13 ข้อหลักในการพิจารณา(ร่าง)พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับใหม่) ประกอบด้วย
1.เสนอให้การโฆษณา เป็นลักษณะ ระบบขออนุญาตก่อนโฆษณา เพื่อลดปัญหาการตีความโดยพนักงานเจ้าหน้าที่อะไรสีเทาดำขาว
2. หลักการมีส่วนร่วม : เสนอสมัชชาการควบคุมแอลกอฮอล์ / ให้ตั้งผู้ช่วยพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วม
3. หลักให้ผู้ผลิต ผู้ขายรับผิดชอบต่อสังคม มีการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ นอกขอบเขตกฎหมายทางการเงิน ,การขายอย่างรับผิดชอบ มีแก้ไข ขายเด็ก/ขายคนเมา เพิ่มโทษ จาก 2หมื่นเป็น 1 แสนบาท และการเพิ่มกรณีผู้ขายจงใจประมาทฝ่าฝืนข้อห้าม เหตุเกี่ยวเนื่องโดยตรง ทำให้เสียหายชีวิตทรัพย์สิน ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
4. หลักไม่เอื้อทุนใหญ่ กรณีได้ประโยชน์จากโฆษณาแฝงตราเสมือน กรณีมีการกันไว้เป็นพยาน
5. กรณีการให้อำนาจกับคณะกรรมจังหวัด เพื่อยกเว้นหรือเพิ่มมาตรการตามกฎหมายบางประการ เพื่อการเอื้อให้กับการส่งเสริมเศรษฐกิจของรัฐบาล สินค้า Soft power
6.ร้านเหล้ารอบสถานศึกษา ร้านเก่าไม่เพิ่ม ร้านเดิมต้องถูกกฎหมาย ถ้าผิดจะมีการยกเลิกใบอนุญาต ห้ามเปิดถาวร ขยายขอบเขตไม่ใช่เฉพาะรอบสถานศึกษา มีชั้นตอนและส่งเรื่องให้ระงับ เพิกถอน
7.กรณีโทษปกครอง "การเตือนสั่งให้ระงับ หรือแก้ไข" เสนอให้เตือนเฉพาะโทษที่เกี่ยวกับประชาชน เช่น กรณีดื่มในสถานที่ห้าม ควรขยายการเตือนในความผิดฐานอื่นๆ ด้วย ยกเว้นเฉพาะ การขายให้เด็กและคนเมา ที่ไม่ให้เตือน
8.กรณีคณะกรรมการแห่งชาติ และประสิทธิภาพของคณะกรรมการจังหวัด เพิ่มประชุมอย่างน้อย 2 ครั้ง
9. กรณีการเข้าถึงได้โดยง่าย : กรณีเครื่องจำหน่ายอัตโนมัติที่สามารถยืนยันตัวตนได้
10.ส่วนเรื่อง วัน เวลา ยังอยู่ในตัวบท แต่ยังเป็นคำถาม?
11.กรณีเงินเรียบเทือบปรับ เพื่อนำมาเป็น สินบน รางวัล และค่าใช้จ่าย
12.การห้ามจำหน่ายผู้หญิงตั้งครรภ์ เพื่อเพิ่มความตระหนักทางสังคม ส่วนใหญ่gห็นด้วย แต่มีปัญหาทางปฏิบัติ
13. กรณี "เอาผิดพนักงานเจ้าหน้าที่เพิ่มขึ้น" กรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ทำผิดเสียเอง
ธุรกิจต้องส่งข้อมูลการโฆษณาให้ภาครัฐ
ดร.ภญ.อรทัย วลีวงศ์ กลุ่มงานวิจัยนโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ(IHPP) สำนักวิชาการสาธารณสุข กล่าวว่า (ร่าง)พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฉบับนี้ กำหนดเรื่องการให้โฆษณาได้ ซึ่งจะมีแต่อุตสาหกรรมใหญ่เท่านั้นที่จะทำการโฆษณาได้ เพราะต้องใช้เม็ดเงินไม่น้อย และภายใต้กฎหมายฉบับเดิมที่ห้ามเรื่องการโฆษณา ก็มีความพยายามที่จะหาช่องโหว่เพื่อโฆษณาตลอดมา
และในอนาคตหากมีการนำAIมาใช้ในการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะเป็นการกระทำผิดหรือไม่และจะเอาผิดกับใคร ดังนั้น ควรกำหนดให้ภาคธุรกิจส่งข้อมูลการโฆษณาต่างๆให้หน่วยงานภาครัฐ เพื่อเป็นความรับผิดชอบทางธุรกิจ
ปรับขึ้นภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกปี ตามอัตราเงินเฟ้อ
ดร.สุชีรา บรรลือสินธุ์ ผู้แทนจากองค์การอนามัยโลก(WHO) ประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันการตลาดออนไลน์ และโซเชียลมีเดียเป็นภัยคุกคามรูปแบบใหม่ทั่วโลก ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือโรคNCDs เพราะเป็นช่องทางกระตุ้นให้บริโภคสิ่งที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพมากเกินจำเป็น
ในส่วนของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หนึ่งในมาตรการที่WHO แนะนำเพื่อควบคุมการบริโภค คือ “การขึ้นราคาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านมาตรการทางภาษี” ซึ่งเป็นต้นทุนที่ดีของประเทศไทยที่มีเรื่องนี้ เพียงแต่ควรมีการพิจารณาปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้มีการปรับขึ้นภาษีกลุ่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดตามอัตราเงินเฟ้อปีละ 1 ครั้ง
“10-20 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเป็นผู้นำเรื่องความกล้าหาญที่มีนโยบายครอบคลุมในเรื่องการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงคาดหวังว่าในการออกพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์(ฉบับใหม่) ผู้กำหนดนโยบายประเทศจะมองผลประโยชน์ด้านสุขภาพและสวัสดิการสังคมอยู่เหนือภาคอุตสาหกรรม”ดร.สุชีรากล่าว