เจาะแผนรัฐบาลลุยแก้หนี้ 1.3 ล้านล้าน หั่นเงินส่ง FIDF 0.23% ช่วย 2.3 ล้านบัญชี

เจาะแผนรัฐบาลลุยแก้หนี้ 1.3 ล้านล้าน หั่นเงินส่ง FIDF 0.23% ช่วย 2.3 ล้านบัญชี

"เผ่าภูมิ” เปิดรายละเอียดแผนแก้หนี้ NPLที่ผิดนัดชำระหนี้ไม่เกิน 1 ปี 2.3 ล้านราย วงเงินรวม 1.31 ล้านล้านบาท หั่นเงินนำส่ง FIDF 0.23% ช่วยจ่ายดอกเบี้ยในการพักชำระหนี้ 3 ปี ธปท.ห่วงพฤติกรรมจงใจผิดนัดชำระหนี้ “จุลพันธ์” หวังอานิสงส์แจกเงินหมื่นดันจีดีพีปีนี้ 2.8%

KEY

POINTS

  • "คลัง" เปิดรายละเอียดแผนแก้หนี้ NPLที่ผิดนัดชำระหนี้ไม่เกิน 1 ปี 2.3 ล้านราย วงเงินรวม 1.31 ล้านล้านบาท
  • หั่นเงินนำส่ง FIDF 0.23% ช่วยจ่ายดอกเบี้ยในการพักชำระหนี้ 3 ปี
  • ธปท.ห่วงพฤติกรรมจงใจผิดนัดชำระหนี้
  • “จุลพันธ์” หวังอานิสงส์แจกเงินหมื่นดัน GDP ปีนี้ 2.8% เผยแผนกระตุ้นเศรษฐกิจปีหน้าอัดงบฯ อีก 1.47 แสนล้าน ลงระบบเศรษฐกิจไตรมาส 2/68

ปัญหาหนี้ครัวเรือน และการผิดนัดชำระหนี้เป็นปัญหาใหญ่ของเศรษฐกิจไทย โดยหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทยสูงในระดับ 90% มานานหลายปี ซึ่งกระทบกับกำลังซื้อของประชาชน เป็นข้อจำกัดในการขยายตัวของเศรษฐกิจมายาวนานหลายปี

ทั้งนี้ รัฐบาลร่วมมือกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) แก้ปัญหาหนี้

รวมทั้งล่าสุดได้หารือถึงมาตรการ และได้รับการเห็นชอบในหลักการจากคณะกรรมการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมเมื่อวันที่ 19 พ.ย.2567 โดยรับทราบในหลักเกณฑ์ และเตรียมแถลงรายละเอียดหลังจากที่มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.)

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า รัฐบาลเห็นความสำคัญการแก้หนี้สินประชาชน และ SMEs ที่เป็นหนี้เสียไม่เกิน 1 ปี ในกลุ่มหนี้บ้าน หนี้รถ และหนี้เพื่อประกอบอาชีพ เพื่อให้กลุ่มนี้ดำรงชีวิตต่อไปได้ และมีกำลังชำระหนี้มากขึ้น 

ทั้งนี้จะเป็นผลดีกับเศรษฐกิจโดยรวม โดยพักจ่ายดอกเบี้ย 3 ปี ให้กลุ่มลูกหนี้ NPL มาไม่เกิน 1 ปี โดยจะมีการปิดวันนับยอดหนี้ 1 ปี (Cut of date) ไม่เกินวันที่ 31 ต.ค.2567

เจาะแผนรัฐบาลลุยแก้หนี้ 1.3 ล้านล้าน หั่นเงินส่ง FIDF 0.23% ช่วย 2.3 ล้านบัญชี

สำหรับเงื่อนไขใน 3 กลุ่มของลูกหนี้ที่จะเข้าโครงการนี้ ได้แก่ 1.ลูกหนี้ที่เป็นหนี้บ้านกับสถาบันการเงินไม่เกิน 3 ล้านบาท และเป็น NPL ไม่เกิน 1 ปี 2.ลูกหนี้ที่กู้ซื้อรถยนต์ไม่เกิน 800,000 บาทต่อคัน และเป็น NPL ไม่เกิน 1 ปี 3.ลูกหนี้กลุ่ม SMEs ที่กู้เงินเพื่อประกอบอาชีพวงเงินไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อราย ที่เป็น NPL ไม่เกิน 1 ปีเช่นกัน

เป้าหมายแก้หนี้รวม 1.31 ล้านล้าน 

สำหรับวงเงินรวมทั้งหมดที่จะเข้าโครงการนี้คิดเป็นมูลหนี้รวม 1.31 ล้านล้านบาท มีลูกหนี้ที่เข้าข่ายรวม 2.3 ล้านบัญชี โดยผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการจะต้องลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ โดยรายละเอียดทั้งหมดคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะแถลงรายละเอียดอีกครั้ง

สำหรับลูกหนี้ที่เข้าข่ายได้ประโยชน์ใน 3 กลุ่มที่เป็นหนี้ NPL ไม่เกิน 1 ปี ได้แก่

1.หนี้บ้าน 4.6 แสนบัญชี วงเงินรวม 4.83 แสนล้านบาท

2.หนี้รถ 1.4 ล้านบัญชี วงเงินรวม 3.75 แสนล้านบาท

และ 3.หนี้เอสเอ็มอีที่กู้เพื่อประกอบอาชีพ 4.3 แสนบัญชี วงเงินรวม 4.54 แสนล้านบาท

ซึ่งกลุ่มที่มีสิทธิเข้าโครงการต้องลงทะเบียนเข้าโครงการเมื่อมีการเปิดตัวโครงการอย่างเป็นทางการ

“กลุ่มนี้เป็นกลุ่มลูกหนี้ที่เราดูแล้วว่าถ้ามีการช่วยเหลือบางส่วนจะกลับเข้ามาจ่ายหนี้ได้ แต่ถ้าไม่ช่วยก็จะล้มลงได้ ส่วนการกำหนดวันที่ตัดบัญชีในวันที่ 31 ต.ค.2567 ที่ผ่านมา ก็เป็นเรื่องที่ป้องกันเรื่องที่เรียกว่าภาวะความเสี่ยงทางศีลธรรม Moral Hazard เพราะว่าตอนนี้คนที่เป็นหนี้ก็ไม่สามารถมาผิดนัดชำระหนี้เพื่อให้เข้าโครงการนี้ได้แล้ว" 

ส่วนมาตรการที่จะช่วยเหลือเพิ่มเติมกระทรวงการคลัง อยู่ระหว่างพิจารณา ซึ่งหากในกลุ่มนี้สามารถจ่ายหนี้ได้ตรงตามกำหนดระยะเวลาก็สามารถที่จะมีมาตรการเพิ่มเติม

ลดเก็บเงินส่ง FIDF เหลือ 0.23%

ส่วนแหล่งเงินที่ใช้ดำเนินการจะไม่ได้ใช้งบประมาณ แต่จะร่วมกับสถาบันการเงิน 2 แนวทาง คือ

1.รัฐบาลจะลดอัตราเงินนำส่งเงินสมทบกองทุนเพื่อการฟื้นฟู และพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) จากธนาคารพาณิชย์ ลงครึ่งหนึ่งเหลือ 0.23% ต่อปีจาก 0.46% ต่อปี เพื่อนำเงินมาช่วยชำระดอกเบี้ยแทนทำให้ผู้ที่ชำระหนี้จ่ายชำระเงินต้น 

2.สถาบันการเงินจะใส่เงินเข้ามาตรงนี้ส่วนหนึ่งด้วยแต่จะใส่เงินเข้ามาเท่าไรนั้นรายละเอียดในส่วนนี้ กนส.จะเป็นฝ่ายที่ให้ข้อมูล

ทั้งนี้ข้อกังวลหากลดจ่ายหนี้เข้ากองทุน FIDF จะทำให้การจ่ายหนี้ในส่วนนี้ช้าลงไปนั้น นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า รัฐบาลได้พิจารณาแล้ว และเห็นว่าตอนนี้เรื่องการแก้หนี้สินที่มีปัญหาในส่วนนี้มีความสำคัญมาก ส่วนการกำหนดการเก็บเงินเข้ากองทุน FIDF บริหารจัดการได้

ขณะที่ปัญหาการเข้าไม่ถึงสินเชื่อของ SMEs นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า ปัญหาการไม่ปล่อยกู้มาจากการที่สถาบันการเงินไม่เชื่อมั่นเพียงพอว่าผู้กู้จะชำระเงินกู้คืนได้ ซึ่งได้แก้ไขด้วยการเพิ่มหลักประกันในโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS ที่มีการเพิ่มวงเงินเป็นระยะ และในระยะต่อไปจะเปลี่ยนไปเป็นกลไกของสถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ (NaCGA) ที่จะเข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้

ธปท.ห่วงพฤติกรรมจงใจเบี้ยวหนี้

สำหรับกลไกสำคัญที่จะทำให้สถาบันการเงินช่วยเหลือลูกหนี้ภายใต้มาตรการแก้ปัญหาหนี้ประชาชน และหนี้ครัวเรือน ซึ่งครอบคลุมลูกหนี้ที่ค้างชำระ และเป็นหนี้เสียไม่เกิน 1 ปี ทั้งหนี้รถยนต์ สินเชื่อบ้านและเอสเอ็มอีดังกล่าว

ทั้งนี้ ธปท.มองว่า การลดเงินนำส่ง FIDF ลงครึ่งหนึ่ง จะมีผลที่ตามมาคือ ทำให้การปิดหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ จะถูกยืดออกไป การชำระคืนล่าช้าออกไปกว่ากำหนดเดิม โดยยกตัวอย่าง หากลดเงินนำส่ง FIDF 0.23% เป็นระยะ 1 ปี จะชำระเงินต้นจะลดช้าลงไปราวครึ่งปี และยิ่งทำให้ภาระดอกเบี้ยลดลงช้ากว่าที่คาดไว้ด้วย

นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธปท.กล่าวก่อนหน้านี้ว่า ปัจจุบัน ธปท.ชำระหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ รอบครึ่งปีในเดือนก.ย.ทุกปี โดยปีนี้หลังชำระดอกเบี้ยแล้ว ยอดหนี้ FIDF จะลดลงเหลือ 5.5 แสนล้านบาท จาก 5.8 แสนล้านบาท

รวมทั้งปัจจุบัน ธปท.ได้รับเงินนำส่งจากสถาบันการเงินเข้า FIDF ราวปีละ 7 หมื่นล้านบาท โดยในนี้ต้องจ่ายดอกเบี้ยปีละ 1.6 หมื่นล้านบาท และอีกส่วนแบ่งไว้สำหรับการชำระเงินต้น

โดยหากลดเงินส่ง FIDF ลงเหลือ 0.23% จะทำให้เรียกเก็บเงินต่อปีได้ลดลงเหลือเพียง 3.5 หมื่นล้านบาท และทำให้เกิดต้นทุนต่อเนื่องอีก 2 ส่วน คือ การชำระเงินต้นจะลดช้าลง โดยหากลดเงินนำส่ง 1 ปีซึ่งเงินต้นจะยืดไปอีกประมาณครึ่งปี และทำให้ต้องจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มอีก 5,000 ล้านบาทต่อปี จากปัจจุบันจ่ายดอกเบี้ยอยู่ที่ปีละ 1.6 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ การลดเงินนำส่ง FIDF ดังกล่าวแตกต่างกับช่วงตอนการระบาดโควิด-19 ที่ให้สถาบันการเงินมีการลดเงินนำส่งชั่วคราว เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ในช่วงโควิด แต่การลดเงินนำส่งเพื่อนำไปบริหารหนี้ภาคประชาชน อาจทำให้เกิดพฤติกรรมจงใจผิดนัดชำระหนี้ หรือ Moral Hazard ตามมาได้

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ธนาคารพาณิชย์ต้องมีภาระในการส่งเงินนำส่งอยู่ที่ปีละ 0.47% โดย ส่วนแรก ที่ 0.01% จะส่งให้กับสถาบันคุ้มครองเงินฝาก และอีก 0.46% ของยอดเงินจะนำไปใช้ชำระหนี้เงินต้น และดอกเบี้ยของ FIDF 

เทงบกระตุ้น 1.4 แสนล้านไตรมาส 2 ปีหน้า

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการแจกเงิน 10,000 บาท หลังจากรัฐบาลใส่เงินกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 1 วงเงิน 1.45 แสนล้านบาท ให้กลุ่มเปราะบางได้มีรายงานการประเมินผลสำเร็จกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดี และจะส่งผลถึงเศรษฐกิจไตรมาสที่ 4 ที่ทำให้เศรษฐกิจปี 2567 ขยายตัว 2.8% 

ส่วนเศรษฐกิจปี 2568 ยังเป็นทิศทางที่ดี ซึ่งรัฐบาลเดินหน้ามาตรการเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย แก้ปัญหาหนี้สิน และเพิ่มการลงทุน

รวมทั้งปี 2568 การกระตุ้นเศรษฐกิจนอกจากมีการแจกเงิน 10,000 บาท ในเฟสที่ 2 ให้ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ไม่เกิน 4 ล้านราย ซึ่งจะปรับโครงการให้จ่ายเงินได้ก่อนวันตรุษจีน โดยประกาศผลการลงทะเบียนหลังจากตรวจสอบคุณสมบัติแล้วเสร็จภายในเดือนธ.ค.2567 

ทั้งนี้ทุกคนที่ลงทะเบียนในระบบผ่านการคัดกรองคุณสมบัติแล้วจะได้เงินทุกคน โดยในเฟสที่ 3 จะอนุมัติจ่ายเงินในกลุ่มที่เหลือที่ลงทะเบียนไว้ รวมทั้งกลุ่มที่ไม่มีสมาร์ตโฟนที่จะเปิดให้ลงทะเบียนระยะต่อไป ซึ่งเงินจะลงสู่ระบบเศรษฐกิจเดือนเม.ย.- มิ.ย.2568 ซึ่งจะใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจที่เหลือวงเงินรวม 1.47 แสนล้านบาท

“เงินจำนวนนี้จะกระตุ้นเศรษฐกิจไตรมาส 2 ปีหน้า ไม่จำเป็นต้องเก็บไว้เพราะช่วงที่เหลือของปีหน้าในไตรมาส 3 จะมีงบประมาณใหม่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ส่วนไตรมาส 4 เป็นช่วงไฮซีซันจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวเข้ามา ถ้าเป็นไปตามนี้จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ตามที่คาดไว้ ส่วนจะเกิน 3% หรือไม่ ต้องพยายามเพราะแม้เศรษฐกิจขยายตัวได้ 3% ซึ่งยังไม่ได้พอใจต้องทำงานหนักเพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวได้มากขึ้นในระยะต่อไป” นายจุลพันธ์ กล่าว

นายจุลพันธ์ กล่าวว่า คณะกรรมการกระตุ้นเศรษฐกิจได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการกลั่นกรองโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน โดยเตรียมอีกหลายมาตรการ เช่น กลุ่มท่องเที่ยว ภาคเกษตร และอีกหลายกลุ่มที่มีปัญหา

 รวมทั้งมาตรการในการดูแลภาคอสังหาฯ เดินหน้ามอบทรัพย์อิงสิทธิ ให้กับผู้มีรายได้ ได้มีที่อยู่อาศัย เพื่อให้รายย่อยจำนวนมาก ใช้ที่ดินครอบครองอยู่ค้ำประกันเงินกู้ ทำให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน รวมทั้งการเร่งรัดการลงทุนที่มีคำขอส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เป็นจำนวนมากต้องผลักดันให้เกิดการลงทุนจริง

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์   ศิลาวงษ์