บทเรียน ‘สหฟาร์ม’ Over Invest ถึงเวลา GEN 2 'โชติเทวัญ' เคลื่อนธุรกิจ
บริษัท สหฟาร์ม จำกัด ธุรกิจของตระกูลโชติเทวัญ จัดตั้งขึ้นมาเมื่อปี 2512 โดยเริ่มเลี้ยงไก่สัปดาห์ละ 500 ตัว จากเงินลงทุน 5,000 บาท เนื่องจากครอบครัวยากจน และมีทุนน้อย ซึ่งได้ประยุกต์เครื่องมือ เครื่องจักรจากภูมิปัญญาของตนเอง ผสมผสานกับประสบการณ์ด้านสาธารณสุข
ดร.ปัญญา โชติเทวัญ ผู้ก่อตั้งสหฟาร์ม กำหนดแนวทางการทำธุรกิจการเลี้ยงไก่ของตระกูลโชติเทวัญ เพื่อผลิตอาหารโปรตีน สะอาด และปลอดภัยแก่ผู้บริโภค โดยได้ขยายธุรกิจต่อเนื่องเป็นธุรกิจไก่ครบวงจร ประกอบด้วย
กิจการฟาร์มไก่ปู่-ย่าพันธุ์ , ฟาร์มไก่พ่อ-แม่พันธุ์ , ฟาร์มไก่เนื้อ ,ไซโลเก็บเมล็ดธัญพืช, โรงงานผลิตอาหารสัตว์ , โรงงานผลิตยาสัตว์ , โรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์เนื้อไก่ เป็นผู้ผลิตไก่ปลอดสารพิษรายแรกของประเทศไทย ที่มีระบบ BIO-SECURITY ในคอมพาร์ทเม้นท์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และมีรายได้จากการส่งออกระดับหมื่นล้านบาทต่อปี
สหฟาร์มกลายมาเป็นผู้ผลิตไก่รายใหญ่อันดับ 1 ของไทย ด้วยกำลังการผลิตมากกว่า 350,000-500,000 เมตริตัน ต่อปี มีการจ้างงานประมาณ 20,000 คน
ในช่วงที่อาณาจักรสหฟาร์มกำลังขยายตัวต้องเจอผลกระทบครั้งสำคัญ เมื่อมีการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกปี 2547 ซึ่งส่งผลกระทบรุนแรงไม่เฉพาะธุรกิจสหฟาร์มแต่กระทบถึงผู้เลี้ยงไก่ทุกราย
จุดหักเหสำคัญของสหฟาร์มเกิดขึ้นเมื่อธุรกิจมีปัญหาสภาพคล่องอย่างรุนแรงจนไม่สามารถชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ได้ และท้ายที่สุดเมื่อปี 2557 สหฟาร์มต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ โดยศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเมื่อวันที่ 23 ก.ค.2557 มีบริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิส จำกัด เป็นผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ และเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ
เจ้าหนี้ของสหฟาร์มครอบคลุมทั้งสถาบันการเงินและซัพพลายเออร์ เป็นหนี้ของบริษัท สหฟาร์ม จำกัด และบริษัท โกลเด้นไลน์ บิสซิเนส จำกัด โดยมีธนาคารกรุงไทยเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่ให้สินเชื่อหลักกับสหฟาร์ม และเห็นว่าปัญหาของสหฟาร์มมีทั้งปัญหาโครงสร้างการเงิน และปัญหารบริหารจัดการ
รวมทั้งนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาให้ความเห็นก่อนที่สหฟาร์มจะเข้าแผนฟื้นฟูกิจการในเดือนก.ค.2557 ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องเฉพาะบริษัทที่ไม่เกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจ
"สหฟาร์มมีการลงทุนที่มากเกินไป (โอเวอร์ อินเวสท์) เช่น สร้างโรงงานใหม่ ขยายกำลังการผลิต จึงไปกระทบระบบ กระทบผู้เล่นคนอื่น เป็นเหตุเฉพาะบริษัทไม่ได้เกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจ" นายประสาน กล่าว กับกรุงเทพธุรกิจเมื่อวันที่ 11 ก.ค.2557
สำหรับหนี้ของสหฟาร์มรวม 20,788 ล้านบาท แบ่งเป็น
1.หนี้ของบริษัทสหฟาร์ม จำกัด 10,353 ล้านบาท
2.หนี้ของบริษัท โกลเด้น ไลน์ บิสซิเนส จำกัด 10,435 ล้านบาท
ทั้งนี้ธนาคารกรุงไทย มีบทบาทสำคัญในการออกเสียงในการปฏิบัติตามแผนฟื้นฟูกิจการ รวมถึงการกำหนดเงื่อนไขทางการเงินให้กับสหฟาร์ม เช่น การควบคุมรายรับ และรายจ่าย ส่วนการชำระหนี้
สหฟาร์มอยู่ในแผนฟื้นฟูกิจการเต็มเวลาที่กฎหมายกำหนด โดยแผนฟื้นฟูกิจการมีอายุ 5 ปี และต่ออายุได้ 2 ครั้ง ครั้งละ 1 ปี รวมแล้วสหฟาร์มอยู่ในแผนฟื้นฟูกิจการ 7 ปี โดยบริษัทอีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิส จำกัด ชี้แจงมาตลอดว่ามีการจ่ายหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการแม้จะอยู่ในช่วงโควิด-19
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเมื่อวันที่ 18 ส.ค.2565 ยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของ บริษัท สหฟาร์ม จํากัด ซึ่งทำให้อํานาจหน้าที่ในการจัดการกิจการ และทรัพย์สินของสหฟาร์มกลับเป็นของผู้บริหาร และผู้ถือหุ้นของสหฟาร์ม
“จารุวรรณ โชติเทวัญ” บุตรสาวถูกวางบทบาทในการขับเคลื่อนสหฟาร์มหลายด้าน เช่น ตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่สหฟาร์มยังอยู่ในแผนฟื้นฟูกิจการ โดยพยายามสร้างโปรดักต์ใหม่ เช่น ผลิตภัณฑ์ไก่ และไข่ ภายใต้แบรนด์ “พอลดีย์” วางตำแหน่งทางการตลาดพรีเมียม
นอกจากนี้ได้วางแผนให้สหฟาร์มกลับมาเป็นผู้ผลิตสินค้าไก่เบอร์ 1 อีกครั้ง โดยทันทีที่ออกจากแผนฟื้นฟูกิจการได้ประกาศเป้าหมายตามแผนธุรกิจ 5 ปี (2565-2570) จะต้องทำให้ธุรกิจขยายตัวปีละ 10% เป็นอย่างน้อย เพื่อให้กลับมาเป็นเบอร์ 1 โดยตามแผนจะลงทุนปรับปรุงโรงงาน โรงเรือน ฟาร์ม เป็นส่วนใหญ่ และเมื่อผ่านพ้นปี 2570 ไปแล้วจะพิจารณาวงเงินการลงทุนขนาดใหญ่อีกครั้ง
ในด้านการบริหารธุรกิจได้หาทางลดต้นทุนการผลิตหรือลดการสูญเสีย รวมถึงการซื้อไฟฟ้าพลังงานสะอาดมาใช้เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางธุรกิจโลกที่ให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยคาร์บอนของโรงงานแต่ละแห่งที่มีกำลังการผลิตรวม 1 ล้านตัวต่อวัน
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมเกษตรของกลุ่มสหฟาร์มเป็นอุตสาหกรรมการผลิตไก่ครบวงจร ตั้งแต่เริ่มต้น กระบวนการฟักไข่ การให้แสงสว่าง การทำให้ไก่อบอุ่น ขบวนการผลิตอาหารสัตว์ และเครื่องจักร
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์