‘สภาพัฒน์’ เผยคนไทยถูกหลอกทำบุญออนไลน์พุ่ง ความเสียหายทะลุ 2 พันล้าน
“สภาพัฒน์” เปิดข้อมูลคนไทยถูกหลอกลวงทำบุญออนไลน์พุ่ง ผู้เสียหาย 2.65 ล้านคน ทะลุ 2.3 พันล้าน เผยกลุ่ม Gen Z และ Gen Y เป็นกลุ่มที่ถูกหลอกมากที่สุด แนะช่องทางตรวจสอบข้อมูล www.checkgon.go.th และช่องทางของรัฐหากไม่อยากถูกหลอก
สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการช่วยเหลือ คนไทยส่วนใหญ่มีจิตใจดี ชอบทำบุญ ในปัจจุบันมีการเชิญชวนทำบุญหรือบริจาคเงินช่วยเหลือผ่านช่องทางออนไลน์เป็นจำนวนมาก ซึ่งคนจำนวนมากได้เข้าไปร่วมทำบุญผ่านวิธีนี้เนื่องจากมีความสะดวก ไม่ต้องเดินทางไปสถานที่จริงก็สามารถโอนเงินไปร่วมทำบุญได้ อย่างไรก็ตามก็เป็นช่องทางของมิจฉาชีพในการหลอกลวงและฉ้อโกง นอกจากได้เงินไปแล้วยังมีการออกใบอนุโมทนาบัตรปลอมอีกด้วย ซึ่งที่ผ่านมามีคนที่ตกเป็นเหยื่อถูกหลอกลวงเป็นจำนวนมาก
ข้อมูลจากการแถลงข่าวภาวะสังคมไตรมาสที่ 3/2567 ของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่าหนึ่งในสถานการณ์ทางสังคมที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินที่ต้องให้ความสำคัญคือ “การหลอกลวงจากการทำบุญหรือช่วยเหลือทางออนไลน์” โดยจากผลการสำรวจสถานการณ์การถูกหลอกลวงผ่านช่องทางออนไลน์" ของศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ (SAB) ในปี 2566พบผู้เคยถูกหลอกลวงโดยอาศัยความสงสารหรือความสัมพันธ์จำนวน 2.65 ล้านคน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายจำนวนรวมสูงถึง 2.3 พันล้านบาท
ซึ่งในจำนวนนี้ส่วนหนึ่งตกเป็นผู้เสียหายถูกหลอกลวงจากการขอรับบริจาคช่วยเหลือหรือการระดมเงินทำการกุศล โดยหากพิจารณาจำแนกตามกลุ่ม Generation จะพบว่า กลุ่ม Gen Z และ Gen Y เป็นกลุ่มที่ถูกหลอกลวงในลักษณะดังกล่าวอยู่ที่ 13% และ 10% ตามลำดับ มากกว่ากลุ่ม Gen X และ Baby Boomer
โดยที่มี รูปแบบการหลอกลวง เช่น การหลอกโอนเงินไถ่ชีวิตโคกระบือ/การช่วยเหลือสัตว์ บาดเจ็บ การแอบอ้างร่วมบริจาคเงินซื้อถังออกซิเจน ใบอนุโมทนาบัตรออนไลน์อ้าง ลดหย่อนภาษี นอกจากนี้ในช่วงวิกฤตต่าง ๆ เช่น สถานการณ์น้ำท่วม ประชาชนจำนวนมากได้รับความเสียหายในหลายพื้นที่หน่วยงานจากภาคส่วนต่าง ๆ รวมถึงบุคคลที่มีชื่อเสียงมีการเปิดร่วมรับบริจาคเงินหรือสิ่งของจำเป็นเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยส่งผลให้กลายเป็นอีกหนึ่งช่องทางฉวยโอกาสของมิจฉาชีพ กระทำการหลอกลวงให้โอนเงินช่วยเหลือผ่านการสแกน OR Code หรือ บัญชีม้า และการหลอกลวงผู้ประสบภัยโดยมักแอบอ้างเป็นหน่วยงานรัฐหลอกลวงให้ผู้ประสบภัยกรอกข้อมูลลงทะเบียนบนเว็บไซต์/ลิงก์ปลอม หรือวิธีการอื่น ๆ เพื่อรับเงินช่วยเหลือเยียวยา
ทั้งนี้ สามารถตรวจสอบบัญชีธนาคาร เบอร์โทรศัพท์ หรือเว็บไซต์ที่น่าสงสัย ได้ทาง checkgon ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือติดตามมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ ของหน่วยงานภาครัฐจากเว็บไซต์หรือแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เป็นทางการเท่านั้น
สอดคล้องกับข้อมูลศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย (Anti-Fake News Center) ที่มีการเตือนเรื่อง ทำบุญออนไลน์ ระวังตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ โดยระบุว่าหากอยากจะทำบุญออนไลน์ต้องตรวจสอบให้ดี ระวังมิจฉาชีพใช้กลโกงหลอกหลวง โดยสิ่งที่ต้องระวังมีดังนี้
- เช่าวัตถุมงคล เครื่องราง ของขลังออนไลน์ อาจเจอของปลอม ไม่ตรงปกหรือหลอกให้โอนเงิน แต่ไม่ส่งของให้
- เวียนเทียนออนไลน์ มิจฉาชีพอาจหลอกให้กดลิงก์ติดตั้งแอปฯ รีโมทควบคุมโทรศัพท์ เพื่อดูดเงินจากบัญชี หรือหลอกให้กรอกข้อมูลส่วนตัวเพื่อนำไปทำเรื่องผิดกฎหมาย
- ทำบุญออนไลน์ มิจฉาชีพอาจหลอกให้โอนเงินทำบุญ ด้วยการให้หมายเลขบัญชีปลอม
- สะเดาะเคราะห์ แก้กรรม ดูดวงออนไลน์ อาจเป็นโจรแฝงตัวหลอกเอาข้อมูลส่วนตัว วันเดือนปีเกิด ที่อยู่ รูปถ่าย ภาพโป๊เปลือย ข้อมูลบัตรประชาชน เลขบัตรเครดิต ฯลฯ
- ใบอนุโมทนาบัตรออนไลน์ อ้างลดหย่อนภาษี อาจเป็นโจรสวมรอยหลอกให้กรอกข้อมูลส่วนตัว ก่อนคลิก ก่อนโอน ก่อนกรอกข้อมูลใด ๆ ต้องมีสติ ดูให้ดี มิฉะนั้นอาจตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ